วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง

“ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักการ ถ้าว่าตาม“ปัจฉิมวาจา” หรือ วาจาสุดท้าย ก็ตรัสบอกว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งคือสังขารทั้งหลาย มีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์ก็ตาม หรือสังคมอารยธรรมอะไรต่างๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วก็มีการแตกสลายกันไปตามเหตุปัจจัย สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือ“ต้องไม่ประมาท” ดังนั้น ก็ตรัสฝากไว้ว่า ให้ไม่ประมาท

เมื่อเราไม่ประมาทเราก็จะใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง ว่าในขณะที่สิ่งทั้งหลายเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไป

หนึ่ง ตัวเราเองไม่นิ่งนอนใจ เรากระตือรือร้นในการที่จะพัฒนาชีวิตของตน ให้วันเวลาผ่านไปอย่างดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด

สอง คือสังคมประเทศชาติ ตลอดจนอารยธรรมของโลก ก็ต้องศึกษาวิเคราะห์เหตุปัจจัยเพื่อให้ไม่ประมาท ว่าอะไรจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม แล้วก็แก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยเหล่านั้น อะไรที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงาม ก็ชวนกันรีบสร้างสรรค์ขึ้น

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติในการเป็นอยู่โดยไม่ประมาท

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอนิจจัง คือเรื่องไม่เที่ยง มักจะตรัสควบกับความไม่ประมาท นั่นคือมนุษย์จะได้ประโยชน์จากความไม่เที่ยง และจากเรื่องของการแตกสลายเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มันไม่คงทนอยู่ตลอดไป แต่ที่สำคัญก็คือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า การที่สิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะอยู่ได้ดีที่สุดก็ต้องไม่ประมาท ไม่ประมาทอย่างไร?

หนึ่ง ในการศึกษาเรียนรู้ ให้เข้าใจเหตุปัจจัย

สอง นำความรู้นั้นมาปฏิบัติแก้ไขเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ อย่างน้อยก็ดำรงรักษาเหตุปัจจัยในฝ่ายดีไว้

อย่างสังคมไทยเราปัจจุบันนี้ ควรจะพิจารณาตรวจสอบดูว่าชีวิตและสังคมของเราตั้งอยู่ในความประมาทไหม? และมีสภาพของความเสื่อมมากมายหรือเปล่า? พวกเรากำลังทำเหตุปัจจัยของความเสื่อมกันอยู่มากมายหรือเปล่า?

ในแง่ของความเจริญ เราเจริญจริงหรือเปล่า? และเราทำเหตุปัจจัยของความเจริญกันบ้างหรือเปล่า? หรือว่าเราได้เพียงแค่รับเอาภาพของความเจริญมา แต่เราไม่ได้ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราอาศัยเหตุปัจจัยของความเจริญจากที่อื่นและรับเอาแต่เพียงผลจากเขาใช่หรือไม่?

ถ้าเราไม่ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราจะเจริญงอกงามได้ยาก สิ่งที่เอามานั้นเป็นเหมือนของยืมหรือเป็นของที่ถูกหลอกถูกล่อให้เอามาใช้หลอกตัวเองเท่านั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์ตรวจสอบตัวเองกันบ้าง

ตามหลักพุทธศาสนา สังคมพุทธต้องเป็นสังคมแห่งปัญญา เมื่อจะมีศรัทธาก็ต้องมีปัญญาควบคู่และควบคุม ว่า  :- หนึ่ง ที่ว่าเรามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นเรามีศรัทธาถูกต้องหรือเปล่า? ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่แท้หรือไม่?  สอง ศรัทธาที่จะถูกต้องก็คือต้องมีปัญญา เรามีปัญญาประกอบหรือไม่? สาม เรามีการพัฒนาในเรื่องศรัทธาและปัญญานี้หรือไม่?

เราได้มีการวิเคราะห์สภาวะสถานการณ์และใช้ปัญญากันจริงจังหรือเปล่า? แม้แต่จะสร้างวิถีชีวิตแห่งปัญญาให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญา เช่น มีความใฝ่รู้ ชอบศึกษา เราทำกันบ้างไหม การใฝ่รู้ชอบศึกษาทำให้เกิดความเจริญปัญญาในตนเอง แต่นอกจากนั้นยังทำให้เรารู้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิตและเหตุการณ์ของโลก ซึ่งจะทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้เท่าทันว่าโลกที่เจริญอย่างปัจจุบันนี้ เจริญจริงหรือเปล่า? เจริญในแง่ไหน? มีความเสื่อมพ่วงอยู่หรือซ่อนอยู่อย่างไร? มีเหตุปัจจัยมาอย่างไร? เราควรจะเลือกรับส่วนไหน? และจะนำมาปรับใช้ จะแก้ไข จะพัฒนาต่อไปอย่างไร?

มนุษย์ที่มีปัญญา เป็นชาวพุทธ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาและแก้ไข ไม่ใช่ตื่นไปกับภาพของสิ่งที่จะมาบำรุงบำเรอฉาบฉวยผิวเผินไปเรื่อยๆอย่างไม่มีหลัก คติพระพุทธศาสนาที่จะนำมาใช้ปฏิบัติได้มีมากมาย อยู่ที่เราจะใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาหรือไม่?

การเวียนมาถึงของ “วันวิสาขบูชา” ก็คือเป็นการเตือนใจเรา และเป็นโอกาสสำหรับเราจะได้มาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วศึกษาให้เข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อทำอย่างนี้อารยธรรมมนุษย์ก็จะพัฒนาได้ต่อไป ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นเพียงผู้เสวยผลที่มีมาในอดีต ไม่รู้จักสร้างสรรค์อะไรเลย โดยแม้แต่จะรับก็อาจจะเลือกไม่เป็นเพราะไม่ใช้ปัญญา บางทีก็ไปเอาส่วนเสื่อมโทรมในที่ต่างๆ มารวมไว้กับตัวเอง

ฉะนั้นเมื่อถึง “วันวิสาขบูชา” อย่างน้อยก็ควรถือเอาประโยชน์จากการที่พระพุทธเจ้าได้สอนเราให้มีความไม่ประมาท ในการที่จะใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัย แล้วก็ใช้เรี่ยวแรงความเพียรในการกระทำของตนเอง ทำการแก้ไขและสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็จะมีความเจริญได้อย่างแท้จริง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “มองวิสาขบูชา หยั่งถึงอารยธรรมโลก”

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: