วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู

ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู

"สจฺจํ   กิเรวมาหํสุ,  นรา   เอกจฺจิยา   อิธ;     กฏฺฐํ   นิปฺลวิตํ   เสยฺโย,  น   ตฺเวเวกจฺจิโย   นโรติ ฯ      ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า การเก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นมายังดีกว่า ช่วยคนอกตัญญูบางคนขึ้นจากนำ้"

สัจจังกิรชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารทรงปรารภความตะเกียกตะกายเพื่อปลงพระชนม์ของพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนามีคำเริ่มต้นว่า สจฺจํ กิเรวมาหํสุ ดังนี้.

ความย่อว่า เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันในธรรมสภา สนทนากันถึงโทษมิใช่คุณของพระเทวทัตว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระเทวทัตมิได้รู้คุณของพระศาสดายังจะพยายามเพื่อจะปลงพระชนม์เสียอีก. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตพยายามเพื่อจะฆ่าเรา แม้ในครั้งก่อน ก็พยายามแล้วเหมือนกัน“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-  ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่าทุฏฐกุมารมีสันดานกักขฬะ หยาบคาย เปรียบได้กับอสรพิษที่ถูกประหารยังไม่ได้ด่า ไม่ได้ตีใครแล้ว จะไม่ยอมตรัสกับใคร ท้าวเธอไม่เป็นที่ชอบใจ เป็นที่น่าสยดสยองของคนภายในและคนภายนอกเหมือนผงกระเด็นเข้านัยน์ตาและเหมือนปีศาจร้ายที่มาคอยเคี้ยวกิน. 

วันหนึ่งท้าวเธอปรารถนาจะเล่นน้ำในแม่น้ำได้เสด็จดำเนินไปสู่ฝั่งน้ำกับบริวารเป็นอันมาก ขณะนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นทิศทั้งหลายมืดมิด.   ท้าวเธอรับสั่งกะผู้รับใช้อย่างทาษว่า „เฮ้ย ! มาเถิดจงมาพาข้าพาไปกลางแม่น้ำ ให้ข้าอาบน้ำ“ แล้วพามา. พวกคนรับใช้ก็พาท้าวเธอไปกลางแม่น้ำ ปรึกษากันว่า „พระราชาจักทรงทำอะไรพวกเราได้ พวกเราจงปล่อยให้คนใจร้ายตายเสียในแม่น้ำนี้แหละ“ ดังนี้แล้ว กล่าวว่า „คนกาลกรรณี จงไปที่ชอบเถิด“ แล้วช่วยกันกดลงไปในน้ำแล้วพากันว่ายกลับขึ้นไปยืนอยู่บนฝั่ง, เมื่อมีผู้ถามว่า "พระราชกุมารไปไหน ?“ ก็พากันตอบว่า „พวกเราไม่เห็นพระกุมาร ท้าวเธอคงเห็นเมฆตั้งเค้า จึงดำลงในน้ำ ชะรอยจักล่วงหน้าไปแล้ว“ พวกอำมาตย์ก็พากันไปยังพระราชสำนักพระราชาตรัสถามว่า „โอรสของเราไปไหน ?“ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทราบเกล้า, เมื่อเมฆตั้งเค้าขึ้น พวกข้าพระพุทธเจ้าก็สำคัญว่า „พระราชกุมารคงเสด็จล่วงหน้ามาแล้วจึงพากันกลับมาพระเจ้าข้า“.

พระราชารับสั่งให้เปิดประตู เสด็จไปถึงฝั่งน้ำ ตรัสว่า „พวกเจ้าจงค้นดู“ แล้วรับสั่งให้ค้นหาในที่นั้น ๆ ไม่มีใครเห็นพระกุมาร.  ฝ่ายพระกุมารนั้นเล่า ในเวลาที่เมฆมืดครึ้ม ฝนตกกระหน่ำลอยไปในแม่น้ำ เห็นท่อนไม้ท่อนหนึ่ง จึงเกาะท่อนไม้ อันมรณภัยคุกคามแล้ว ร้องคร่ำครวญลอยไป.  ก็ในกาลนั้น เศรษฐีชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง ฝังทรัพย์ ๔๐ โกฏิไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ เพราะความเป็นห่วงทรัพย์ ตายไปจึงไปเกิดเป็นงูอยู่เหนือขุมทรัพย์.  ยังมีอีกผู้หนึ่งฝังสมบัติไว้ตรงนั้นเหมือนกัน ๓๐ โกฏิ เพราะความเป็นห่วงทรัพย์ ตายไปบังเกิดเป็นหนูอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน. น้ำเซาะเข้าไปถึงที่อยู่ของงูและหนูทั้งสองนั้น. สัตว์ทั้งสองก็ออกมาตามทางที่น้ำเซาะเข้าไปนั้นแหละว่ายตัดกระแสน้ำไป ถึงท่อนไม้ที่พระราชกุมารเกาะอยู่นั้น ต่างตัวต่างขึ้นสู่ปลายท่อนไม้คนละข้างนอนอยู่เหนือท่อนไม้นั้นแล.  ก็ที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้นเอง มีต้นงิ้วอยู่ต้นหนึ่ง ลูกนกแขกเต้าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นงิ้วนั้น ถึงต้นงิ้วนั้น ก็ถูกน้ำเซาะรากโค่นลงเหนือแม่น้ำ เมื่อฝนกำลังตก ลูกนกแขกเต้าไม่สามารถบินไปได้ ก็ลอยไปเกาะแอบอยู่ด้านหนึ่งของท่อนไม้นั้น. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงเป็นอันว่า รวมกันเป็น ๔ คน ล่องลอยไป. 

ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์ บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ในแคว้นกาสี เจริญวัยแล้ว บวชเป็นฤาษี สร้างศาลาอาศัยอยู่ที่คุ้งน้ำตอนหนึ่ง. ท่านกำลังจงกรมอยู่ในเวลาเที่ยงคืนได้ยิน เสียงร่ำไห้ดังสนั่นของพระราชกุมาร ก็ดำริว่า „ในเมื่อดาบสผู้สมบูรณ์ด้วยเมตตากรุณายังอยู่ จะปล่อยให้บุรุษนี้ตายไม่ควรเลย, เราจักช่วยเขาให้ขึ้นจากน้ำ ให้เขารอดชีวิต“ แล้วก็ปลอบพระราชกุมารว่า „อย่ากลัวเลย ๆ“ ว่ายตัดกระแสน้ำไปเกาะท่อนไม้ที่ปลายข้างหนึ่งฉุดมาท่านมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง พักเดียวก็ถึงฝั่ง อุ้มพระกุมารขึ้นไว้บนฝั่ง ครั้นเห็นสัตว์ทั้งหลายมีงูเป็นต้น ก็ช่วยนำขึ้นไปสู่อาศรมบท ก่อไฟแล้วคิดว่า สัตว์เหล่านี้อ่อนแอกว่า ก็ให้งูเป็นต้นผิงไฟก่อน ให้พระราชกุมารผิงไฟทีหลัง กระทำให้หายหนาว ถึงเมื่อจะให้อาหารก็ให้แก่งูเป็นต้นก่อนแล้วนำผลไม้ไปให้พระราชกุมารทีหลัง. 

พระราชกุมารทรงพระดำริว่า „ดาบสโกงผู้นี้ มิได้นับถือเราผู้เป็นพระราชกุมาร กลับยกย่องพวกสัตว์ดิรัจฉาน“ จึงผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์.  แต่ต่อจากนั้นล่วงไปได้สองสามวันครั้นพระกุมารและสัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมด มีเรี่ยวแรงเป็นปกติแล้ว กระแสน้ำในแม่น้ำก็แห้งแล้วงูไหว้พระดาบสแล้วกล่าวว่า „ข้าแต่พระคุณท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าได้กระทำอุปการะอย่างใหญ่หลวงแก่ข้าพเจ้า ก็แลข้าพเจ้ามิใช่ผู้ขัดสน ฝังเงินไว้ ๔๐โกฏิ ในที่ชื่อโน้น เมื่อพระคุณเจ้าจะใช้สอยทรัพย์ข้าพเจ้าสามารถถวายทรัพย์แม้ทั้งหมดนั้นแด่พระคุณเจ้าได้ พระคุณเจ้าจงไปที่นั้นแล้วเรียกข้าพเจ้าว่า ทีฆะ เถิด“ แล้วก็ลาไป. 

ฝ่ายหนูก็ปวารณาพระดาบสไว้อย่างนั้นเหมือนกันกล่าวว่า „เมื่อพระคุณเจ้าต้องการจะใช้สอย จงไปยืนอยู่ในที่ชื่อโน้น เรียกข้าพเจ้าว่า อุนทุระ เถิด“ ดังนี้แล้ว ก็ลาไป.  ส่วนนกแขกเต้า ไหว้พระดาบสแล้วกล่าวว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าเจริญข้าพเจ้าไม่มีทรัพย์แต่เมื่อพระคุณเจ้าจะต้องการข้าวสาลีแดงละก็โปรดไปที่อยู่ของข้าพเจ้า ในที่ชื่อโน้น เรียกข้าพเจ้าว่า สุวะ, ข้าพเจ้าสามารถจะบอกแก่ฝูงญาติ ให้ช่วยขนข้าวสาสีสีแดงมาถวายได้หลายเล่มเกวียน“ แล้วลาไป. 

ฝ่ายพระราชกุมาร เพราะฝังใจในธรรมของผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นสันดาน คิดได้ว่า „การที่เราจะไม่พูดอะไร ๆ บ้าง ไปเสียเฉย ๆ ไม่เหมาะเลย เราจักฆ่าดาบสเสียเวลาที่ท่านมาหาเรา“ จงกล่าวว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว นิมนต์มาเถิดกระผมจักบำรุงพระคุณเจ้าด้วยปัจจัย ๔“ แล้วก็ลาไป. พระกุมารนั้นเสด็จไปได้ไม่นาน ก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติ. พระโพธิสัตว์ดำริว่า เราจักทดสอบคนเหล่านั้นดังนี้แล้ว จึงไปสู่สำนักงูก่อน ยืนอยู่ไม่ห่าง เรียกว่า ทีฆะ. เพียงคำเดียวเท่านั้นงูก็เลื้อยออกมาไหว้พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ที่ตรงนี้มีทรัพย์อยู่ ๔๐ โกฏิ นิมนต์พระคุณเจ้าขุดค้นขนเอาไปให้หมดเถิด“. 

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „เอาไว้อย่างนี้แหละเมื่อมีกิจเกิดขึ้นจึงจะรู้กัน“ บอกให้งูกลับไปแล้วเลยไปสำนักของหนู เอ่ยเสียงเรียก. แม้หนูก็ปฏิบัติดังนั้นเหมือนกัน. พระโพธิสัตว์ก็บอกให้หนูกลับไป. เลยไปสำนักนกแขกเต้า เรียกว่า สุวะ เพียงคำเดียวเท่านั้นเหมือนกัน นกแขกเต้าก็โผลงจากยอดไม้ ไหว้พระโพธิสัตว์แล้วถามว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญกระผมจักต้องไปหาพวกญาติของกระผมให้ช่วยขนข้าวสาลีที่เกิดเอง จากหิมวันตประเทศ มาถวายพระคุณเจ้าหรือขอรับ ?“ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „เมื่อต้องการค่อยรู้กัน“ บอกให้นกแขกเต้ากลับไป, แล้วคิดว่า „คราวนี้เราจักทดสอบพระราชา“ จึงไปพักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นก็สำรวมมรรยาทเรียบร้อย เข้าไปสู่พระนคร ด้วยภิกขาจารวัตร. 

ในขณะนั้น พระราชาผู้ทำลายมิตรพระองค์นั้น ประทับเหนือคอพระคชาธารอันตกแต่งแล้วกระทำปทักษิณพระนคร ด้วยข้าราชบริพารขบวนใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์แต่ไกลทีเดียวทรงพระดำริว่า „ดาบสผู้นี้ คือดาบสโกงคนนั้น คงประสงค์จะอยู่ในสำนักของเรา จึงได้มา ต้องให้ราชบุรุษตัดศีรษะเสียทันที มิทันให้แก่ประกาศคุณที่ทำไว้แก่เรา ในท่ามกลางฝูงคน“ ได้แล้วทรงมองดูราชบุรุษ ในเมื่อราชบุรุษกราบทูลถามว่า „ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องทำอะไร พระเจ้าข้า ?“ จึงรับสั่งว่า „ดาบสโกงนั้น ชะรอยจะมามุ่งขออะไรเราสักอย่าง พวกเจ้าต้องไม่ให้ดาบสกาลกรรณีผู้นั้น เห็นเรา, จงจับมันไปมัดมือไพร่หลัง เฆี่ยนทุก ๔ แยก นำออกจากพระนคร ตัดหัวมันเสียที่ตะแลงแกงแล้วเอาตัวเสียบหลาวไว้“, ราชบุรุษเหล่านั้นรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว พากันไปมัดพระโพธิสัตว์ ผู้ปราศจากความผิด เฆี่ยนไปทุก ๔ แยกแล้วเตรียมจะนำไปสู่ตะแลงแกง.

พระโพธิสัตว์มิได้คร่ำครวญเลยว่า „พ่อแม่ทั้งหลาย“ ในสถานที่ถูกเฆี่ยนทุกแห่งปราศจากความสะทกสะท้าน กล่าวคาถานี้ว่า :-  „เป็นความจริง ดังที่ได้ยินมาว่า คนบางจำพวกในโลกนี้ เคยกล่าวว่า ไม้ลอยน้ำยัง ประเสริฐกว่า แต่คนบางคนไม่ประเสริฐเลย“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  สจฺจํ  กิเรวมาหํสุ  ความว่า ได้ยินว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ไม่ผิดเลย.  บทว่า  นรา  เอกจฺจิยา  อิธ  ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต บางพวกในโลกนี้.   บทว่า  กฏฺฐํ  นิปฺผวิตํ  เสยฺโย  ความว่า ได้ยินว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้นที่กล่าวว่า ไม้แห้งที่เป็นไม้เบา ๆลอยอยู่ในแม่น้ำ เอาขึ้นวางไว้บนบกนั้นประเสริฐกว่า คือมันยังดีนั้นกล่าวไว้เป็นความจริง. เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ไม้นั้น ยังเป็นอุปการะแก่ความต้องการ ในอันจะต้มจะหุงข้าวยาคูและข้าวสวยก็ได้ เป็นอุปการะแก่ความต้องการในอันจะผิงไฟของหมู่ชนผู้เดือดร้อนด้วยความหนาวก็ได้ เป็นอุปการะแก่ความต้องการในอันกำจัดอันตรายอื่น ๆก็ได้ บทว่า น เตฺวเวกจฺจิโย นโร ความว่า ส่วนบุคคลบางคนคือ คนทำลายมิตร คนอกตัญญู คนใจบาป ถูกกระแสน้ำพัด ลอยไป ช่วยฉุดมือให้ขึ้นจากแม่น้ำได้ ไม่ประเสริฐเลย เป็นความจริงทีเดียว เราช่วยคนใจบาปนี้ให้รอดชีวิตได้ กลับเป็นอันนำทุกข์มาให้ตน.

พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้ในที่ที่ถูกเฆี่ยนทุกแห่งด้วยประการฉะนี้.   ฝูงชนต่างได้ยินคำเป็นคาถานั้นท่านพวกที่เป็นบัณฑิตในหมู่นั้น พากันกล่าวว่า „ข้าแต่ท่านนักพรตผู้เจริญท่านกระทำคุณอะไรไว้แก่พระราชาของพวกเราหรือ ?“ พระโพธิสัตว์จึงเล่าเรื่องนั้นแล้วกล่าวว่า „เราเองเป็นผู้ช่วยพระราชานี้ให้ขึ้นจากห้วงน้ำใหญ่ กลับเป็นการทำทุกข์ให้แก่ตนอย่างนี้, เรามาหวลรำลึกได้ว่า เราไม่ได้กระทำตามคำของบัณฑิต แต่ครั้งก่อนสิหนอ จึงกล่าวอย่างนี้“.   ชาวพระนคร มีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้น ฟังคำนั้นแล้ว พากันกล่าวว่า „เพราะอาศัยพระราชาผู้ทำลายมิตร มิได้รู้แม้มาตรว่า คุณของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยพระคุณ ผู้ให้ชีวิตแก่ตนอย่างนี้, พระองค์นี้ พวกเราจะมีความเจริญได้แต่ที่ไหน? จับมันเถิด“ ดังนี้แล้ว ต่างโกรธแค้น ลุกฮือขึ้นโดยรอบ ฆ่าพระราชานั้นเสีย ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่บนคอช้างนั่นเองด้วยเครื่องประหาร มีลูกศร หอกซัด ก้อนหิน ละไม้ค้อนเป็นต้นแล้วจับเท้ากระชากลงมาโยนทิ้งไปเหนือสันคูแล้วอภิเษกพระโพธิสัตว์ให้ดำรงราชย์สืบแทน. 

ส่วนพระโพธิสัตว์ ดำรงราชย์โดยธรรม วันหนึ่งทรงปรารภจะทดลองสัตว์มีงูเป็นต้น จึงเสด็จไปที่อยู่ของงู ตรัสเรียกว่า „ทีฆะ" งูเลื้อยมาซบไหว้กล่าวว่า „ข้าแต่ท่านผู้มีพระคุณ เชิญมาขนทรัพย์ของท่านไปเสียเถิด“.   พระราชามีพระดำรัสให้อำมาตย์มารับมอบทรัพย์ ๔๐ โกฏิแล้วเสด็จไปสำนักของหนู ตรัสเรียกว่า „อุนทูร“ หนูก็มาซบไหว้แล้วมอบถวายสมบัติ ๓๐ โกฏิ พระราชามีดำรัสให้อำมาตย์รับมอบทรัพย์แม้นั้นไว้. เสด็จไปที่อยู่ของนกแขกเต้า รับสั่งเรียกว่า „สุวะ" แม้นกแขกเต้าก็บินมาซบไหว้ พระบาทยุคลกราบทูลว่า ข้าแต่ท่านเจ้าพระคุณข้าพเจ้าจะไปนำข้าวสาลีมาให้.  พระราชารับสั่งว่า „เมื่อจะต้องการข้าวสาลี จึงค่อยนำมา มาเถิด เรามาพากันไปเถิด“ แล้วทรงพาสัตว์ทั้ง ๓ กับทรัพย์ ๗๐ โกฏิ ไปพระนคร รับสั่งให้ทำทะนานทอง พระราชาทานเป็นที่อยู่ของงู ถ้ำแก้วผลึกเป็นที่อยู่ของหนู กรงทองเป็นที่อยู่ของนกแขกเต้า พระราชทานข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งใส่จานทองให้งูและนกแขกเต้ากิน พระราชทานข้าวสารสาลีให้หนูกินทุกวันทรงกระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น.   คนทั้ง ๔ แม้นั้นต่างสมัครสมานกัน ร่าเริงบันเทิงอยู่ชั่วชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ต่างก็ไปตามยถากรรม.  

พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตพยายามจะฆ่าเราเสีย แม้ในครั้งก่อนก็พยายามมาแล้วเหมือนกัน“ ดังนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า „พระราชาผู้ร้ายกาจในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัตในครั้งนี้, งูได้มาเป็นพระสารีบุตร, หนูได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ, นกแขกเต้าได้มาเป็นอานนท์, ธรรมราชาผู้เถลิงราชย์ในภายหลังได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล“.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: