วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อุเบกขา “วางเฉย” มี ๒ แบบ เฉยไม่เอาเรื่องหรือคือปฏิบัติธรรม

อุเบกขา “วางเฉย” มี ๒ แบบ  เฉยไม่เอาเรื่องหรือคือปฏิบัติธรรม

..“ คราวนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทําความเข้าใจกันก่อน ก็คือ ในวงการนักปฏิบัติไม่น้อยเลย ได้มีความโน้มเอียงที่จะรู้สึกกันว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติหรือปฏิบัติสําเร็จแล้ว จะเป็นคนเฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ความรู้สึกนี้กลายเป็นทัศนคติที่ชักจะเป็นไปมาก เป็นเรื่องที่น่าจะต้องรีบยกขึ้นมาพิจารณา และถ้าผิดพลาดก็จะต้องแก้ไข   ..เดี๋ยวนี้ชาวพุทธจํานวนมากมีความรู้สึกทํานองว่า เมื่อมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น ถ้าใครเฉยๆ ก็เป็นคนหมดกิเลส ความรู้สึกคลุมเครืออย่างนี้เป็นอันตรายมาก จะต้องมาทําความเข้าใจกันแม้แต่คําว่า “เฉย” ก่อน  ..คําว่า เฉย นี้ เรามักจะเอาไปโยงกับคําว่า “อุเบกขา” อุเบกขา แปลว่า วางเฉย ทางพระท่านว่าวางเฉยมี ๒ แบบ

เฉยแบบที่ ๑ คือ วางเฉยแบบที่เป็น อกุศล เป็นบาป ควรกําจัด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่า “อัญญาณุเบกขา” มาจากคําว่า อัญญาณ, ญาณ แปลว่า ความรู้, อัญญาณ ก็คือ ความไม่รู้ แล้วไปบวกกับ อุเบกขา ที่แปลว่า ความวางเฉย ก็แปลว่า วางเฉยโดยไม่รู้ เรียกตามภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ เฉยโง่ เฉยเขลา เฉยไม่รู้เรื่อง คนจํานวนมากเฉยเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว เมื่อไม่รู้ก็เลยเฉย

..ทีนี้ เฉยแบบที่ ๒ เป็น กุศลธรรม เป็นสภาพจิตที่ดีงาม คือเฉยด้วยความรู้ โดยวางใจเป็นกลางในสิ่งต่าง ๆ เพราะรู้จังหวะหรือความพอดีที่จะปฏิบัติต่อบุคคล สิ่งของ เรื่องราว หรือสถานการณ์นั้นๆ เรียกว่าเป็นอุเบกขาตรงๆ ไม่ต้องมีคําอะไรอื่นนําหน้า เป็นอุเบกขาแท้ๆ เป็นอุเบกขาที่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องของการวางท่าทีที่ถูกต้อง

..ในสถานการณ์ที่เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมา มีปัญหาอย่างใด อย่างหนึ่ง เราจะเห็นคน ๓ ประเภท

คนพวกที่ ๑ เฉยเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ มีเรื่องราวเดือดร้อนเป็นปัญหาก็ไม่รู้ พวกนี้ก็เฉย ..ต่อไปพวกที่ ๒ คือ คนที่เอะอะโวยวาย ตื่นตูม พอมีเรื่องราวปัญหาอะไรขึ้นมาก็ตื่นเต้น โว้กว้าก ตีโพยตีพายต่างๆ พวกนี้ก็เลยเถิดไปอีกแบบหนึ่ง เป็นพวกที่รู้ครึ่งๆ กลางๆ ..สุดท้ายพวกที่ ๓ คือ พวกที่รู้จริง คือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ด้วยว่าจะทําอะไร เมื่อไร พวกนี้รู้จังหวะ รู้ขั้นตอน รู้ว่าจะทํา อย่างไร รู้วิธีแก้ไข พวกนี้อยู่ตรงกลางที่จุดพอดี ก็เฉยเหมือนกัน

..มี ๓ พวก ท่านว่าพวกไหนปฏิบัติถูกต้อง พวกที่ ๑ แน่นอนละ ไม่ถูกต้อง เรียกว่า อัญญานุเบกขา คือ เฉยไม่รู้เรื่อง เพราะไม่รู้ก็เลยเฉย พวกที่ ๒ นั้น เอะอะโวยวาย เพราะรู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง ก็เลยตื่นเต้นหรือตื่นตูม พวกนี้ก็แก้ปัญหาไม่ค่อยสําเร็จ บางทีปะเหมาะแก้ถูกก็ดีไป แต่มักจะทําให้เรื่องสับสนหรือบานปลาย ออกไป

..พวกที่ ๓ นั่นแหละ จึงจะเป็นพวกที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะมีความรู้แล้วจึงวางใจเฉยนิ่งได้และเฉยไว้ก่อน แต่รู้ จังหวะว่าจะทําอะไร เมื่อไร พวกนี้ไม่ใช่เฉยไปเลยนะ เฉยเตรียมพร้อม เฉยพร้อมที่จะทําทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้ถูกจังหวะ เฉยดูรู้ทีคอยท่าพร้อมอยู่ อันนี้คือการวางเฉยที่ต้องการในทางธรรม...”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : บรรยายแก่นิสิตปริญญาโท ในภาควิชาสารัตถศึกษา แห่งบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ภายหลังพิมพ์เป็นหนังสือตั้งชื่อเรื่องใหม่ว่า “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง” โหลดไฟล์ PDF ได้ที่นี่ 

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: