วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๓๘ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - จิตอันเกษม เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๓๘ มีจิตเกษม - เขมัง 

๏ จิตเกษม เปรมปรีดิ์ ดีตลอด เป็นจิตปลอด จากโอฆ ในโลกสาม เครื่องผูกมัด สลัดหมด แสนงดงาม เข้าถึงความ สุขสันต์ นิรันดร ๛

กษม หมายถึงมีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข 

มีจิดเกษมก็คือว่ามีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส ที่ท่านว่าไว้ว่าเป็นเครื่องผูกอยู่ ๔ ประการคือ   ๑. การละกามโยคะ คือการละความยินดีในวัตถุ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเรียกว่ากามคุณซึ่งประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส    ๒. การละภวโยคะ คือการละความยินดีในภพ โดยให้เห็นว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป    ๓. การละทิฏฐิโยคะ คือการละความยินดีในความเห็นผิดเป็นชอบโดยให้ดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้ว    ๔. การละอวิชชาโยคะ คือการละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย ความไม่รู้ทั้งหลาย โดยให้มุ่งปฏิบัติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง 

ที่มา : http://www.dhammathai.org

เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - จิตอันเกษม เป็นอุดมมงคล

เขมัง นามะ จะตูหิ โยเคหิ เขมัง จิตตัง กะตะเมหิ จะตูหิ โยเคหิ กามะโยโค ภะโยโค ภะวะโยโค ทิฏฐิโยโค อวิชชาโยโค อะโหสีติ.  บัดนี้ จักวิสัชนาในมงคลที่ ๓๘ ตามพระบาลีอรรถกถาว่า เขมัง นามะ จะตูหิ โยเคหิ เขมัง จิตตัง อธิบายความว่า บุคคลทั้งหลายได้กระทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส ไกลจากโยคะเครื่องประกอบในจิตทั้ง ๕ ได้แก่สิ่งอะไร แก้ว่า ได้แก่ กามโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ให้ยินดีอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ เครื่องสัมผัส ๑ ทั้ง ๕ นี้ จัดเป็นโยคะที่ ๑ ที่ ๒ ภวะโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในรูปภพและอรูปภพ ๑ ที่ ๓ ทิฏฐิโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในทิฏฐิความเห็นผิดในธรรมวินัยพุทธศาสนา ๑ ที่ ๔ อวิชชาโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ให้ตกอยู่ในอวิชชา โมหะ ความหลงไหลในสังขาร ๑ เป็น ๔

โยคะ ๔ นี้ เป็นเครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ให้ยินดีรักใคร่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ให้เกิดแก่ เจ็บตาย ร้องไห้เศร้าโศกโสกาอาลัยไม่มีที่สิ้นสุดทั้งทั้งมนุษย์ และเทวดามารพรหมและอบายภูมิทั้ง ๔ ที่มีมานี้โดยสังเขปกถา

บัดนี้จักว่าให้พิจดารตามบาลีอรรถกถาว่า กาเมสุ วาโยเชตีติ กามะโยโค แปลว่า ธรรมชาติอันใดประกอบสัตว์ไว้ในกามทั้งหลาย ธรรมชาตินั้นเรียกว่า กามโยคะ อธิบายว่า กามโยคะ นั้นได้แก่ตัญหา อันมีลักษณะให้ปรารถนาซึ่งกามคุณ คือ กิเลสกามและวัตถุกาม กิเลสกามนั้น คือ ปรารถนาที่จะบังเกิดเป็นมนุษย์และเทพยดานางฟ้าให้มีรูปทรงโสภางดงาม เพื่อจะให้เกิดความยินดีรักใคร่ในรูปและเสียง กลิ่น รส ทั้งสัมผัสถูกต้องมาปรากฏ ให้เกิดกามฉันท ราคะหากย่ำยี เป็นที่ยินดี เสหน่หา จึงเรียกว่ากิเลส มีทั้วไปทุกรูปทุกนามแห่งปุถุชน แม้ถึงการก่อสร้างการกุศลก็ตั้งความปรารถนา ขอเป็นมนุษย์และเทพยดานางฟ้าตามอัชฌาสัย ดังนิทานเมื่อกาลก่อนเรื่องมาลาธารีนางเทพธิดา เรื่องของพระติสสะที่หวงแหนจีวรเมื่อทำลายขันธิ์แล้วได้เกิดเป็นตัวเล็น และเรื่องพระยาปายาสิ ฯลฯ เป็นต้น

บัดนี้ได้ว่ามาถึงมงคลที่ ๓๘ ประการ ที่สมเด็จพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเทศนาแก่เทพยดาที่ลงมาทูลถามเป็นเนื้อความ ข้อปฎิบัติแก่หมู่สัตว์ทั้งมนุษย์และเทพยดา เป็นมรรคาทางสวรรค์และทางพระนิพพาน ซึ่งจะข้ามโอฆะแอ่งกันดารให้พ้นทุกข์ เป็นบรมสุข คือ ไม่เกิด แก่ เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ด้วยผลานิสงส์ที่ได้รับข้อปฎิบัติในมงคล ๓๘ ประการ ให้ตั้งมั่นอยู่ในขันธสันดานของอาตมาทุกทิวาราตรี ด้วยเดชะผลมงคลนี้ย่อมให้เกิดความเจริญสุขสวัสดีนิราศภัยทั้งชาตินี้และชาติหน้า.  เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายที่เกิดมาประสบพบพระพุทธศาสนา คือ ข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการ พึงมีอุสาหะรักษาศีลเจริญภาวนาให้บริบูรณ์ในสันดานของตนเถิด จะเป็นบ่อเกิดบุญสัมปทาไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าสิ้นกาลนาน

ด้วยข้อมงคล ๓๘ ประการ เป็นพุทธภาษิตให้สัตว์ผู้มาปฎิบัติทางกายวาจาจิต ให้ได้ความสุจริตทั้งโลกนี้และโลกหน้า ทั่วทั้งมนุษย์และเทพยดานางฟ้า มาร พรหม เป็นมงคลอันอุดมสูงสุดในพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ข้อปฎิบัติ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ บุรุษ สตรี ควรจะมีความยินดีรักษาข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการ ให้เป็นนิสัยปัจจัยแก่ทางมนุษย์ ทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน ถึงยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารก็จะได้เสวยราชสมบัติในมนุษย์และเทพยดา ประเสริฐกว่าที่ไปบังเกิดในอบายภูมิ ถึงจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ยังวิเศษเหตุที่ได้ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนา และบูชาพระรัตนตรัยให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสและความสังเวชเนื้อเขตบุญกุศล ซึ่งจะยกตนให้พ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ ผลานิสงส์ที่ได้ปฎิบัติข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้ เป็นบุญนิธิขุมทองคือ

กองบุญที่จะอุดหนุนให้ความสุขทั้ง ๓ ประการ คือ สุขที่จะให้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์มีร่างกายบริสุทธิ์และทรัพย์กับบริวาร มีอายุยืนยาว นานตามอายุไขย ๑ ให้ได้สุขในสวรรค์สุราลัยในฉกามาทั้ง ๖ ชั้นฟ้าเทวสถาน พร้อมด้วยทิพยวิมานและนางฟ้าเป็นยศบริวาร ฟ้อนรำบำเรออยู่ให้เป็นสุข ๑ ให้ได้สุขในพระนิพพานดับสังขาร ที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดภพทั้ง ๓ ก่อกองรูป นามขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ ให้เกิดทุกขเวทนา ย่ำยีสิ้นกาลนาน เมื่อใดได้ถึงพระนิพพานจึงจะมีความสำรวญนิราศภัย ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายทำลายสังขาร ไม่ต้องให้เศร้าโศกโสกา ปริเทวนาการร้องร่ำไห้อยู่ในโลก พระนิพพานเป็นที่สิ้นทุกข์โศกโรคา เป็นบรมสุขาหาความทุขข์ไม่มี ข้ามจตุโอฆะ โลกโลกีย์ ความเวียนว่าย พระนิพพาน เป็นอัจจันตนิโรธดับหมดไปไม่เชื่อที่จะเหลืออยู่โดยบัญญัติ จึงมีอรรถกถาว่า นิพพานัง ปะระนัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งอย่างเลิศ ไม่มีบ่อเกิดกองทุกข์เป็นบรมสุขนิราศภัยในสงสาร

เราท่านทั้งหลายอยากจะไปนิพพานจงปฎิบัติในมงคล ๓๘ ประการให้บริบูรณ์ในสันดาน ดังประทานแสดงมาฉะนี้ ฯ วิสัชนามาในมงคล ๓๘ ประการ ตามบาลี อรรถกถาโวหาร โดยเนื้อความย่อ ๆ และพิศดาร ก็สมมติว่าจบลงเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแกท่านผู้สร้าง ผู้อ่าน ผู้ฟังทั้งหลาย ขอให้ท่านผู้สร้างและผู้ฟังทั้งหลาย มีปัญญาทรงพระไตรปิฎกยอยกพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระศาสดาให้ถาวรสิ้นกาลนาน ตราบเข้าสู้พระนิพพานในอนาคตกาลโน้น เทอญ ฯ ... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3, มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 , มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 , มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 , มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 , มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36, มงคลที่ 37, มงคลที่ 38


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: