วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๒๘ โสวจสฺสตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๒๘ เป็นผู้ว่าง่าย - โสวะจัสสะตา

๏ ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน  ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน  ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด  เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา ๛

ท่านว่าผู้ว่าง่ายนั้นมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้คือ   ๑. ไม่พูดกลบเกลื่อนเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน คือการรับฟังด้วยดี ไม่ใช่แก้ตัวแล้วปิดประตูความคิดไม่รับฟัง   . ไม่นิ่งเฉยเมื่อได้รับการเตือน คือการนำคำตักเตือนนั้นมาพิจารณาและแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ    . ไม่จับผิดผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือการที่ผู้สอนอาจจะมีความผิดพลาด เนื่องจากความประมาท เราควรให้อภัยต่อผู้สอน เพราะการจับผิดทำให้ผู้สอนต้องอับอายขายหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม   ๔. เคารพต่อคำสอนและผู้สอน คือการรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ทำให้คำสอน และเคารพในสิ่งที่ผู้สอนได้นำมาแนะนำ    ๕. มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือไม่แสดงความยะโส ถือตัวว่าอยู่เหนือผู้อื่นเพราะสิ่งที่ตัวเองเป็นตัวเองมี    ๖. มีความยินดีต่อคำสอนนั้น คือยอมรับในคำสอนนั้นๆ ด้วยความยินดีเช่นการไม่แสดงความเบื่อหน่ายเพราะเคยฟังมาแล้ว เป็นต้น   ๗. ไม่ดื้อรั้น คือการไม่อวดดี คิดว่าของตัวเองนั้นผิดแต่ก็ยังดันทุรังทำต่อไปเพราะกลัวเสียชื่อ เสียฟอร์ม   ๘. ไม่ข้ดแย้ง เพราะว่าการว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนนั้นก็คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราทำอยู่แล้ว เราควรต้องเปิดใจให้กว้างไม่ขัดแย้งต่อคำสอน คำวิจารณ์นั้นๆ   ๙. ยินดีให้ตักเตือนได้ทุกเวลา คือการยินดีให้มีการแสดงความคิดเห็น ตักเตือนได้โดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องเวลา   ๑๐. มีความอดทนต่อการเป็นผู้ถูกสั่งสอน คือการไม่เอาความขัดแย้งในความเห็นเป็นอารมณ์ แต่ให้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้สอนนั้น

การทำให้เป็นคนว่าง่ายนั้นทำได้ดังนี้   ๑. ลดมานะของตัว คือการไม่ถือดี ไม่ถือตัว ความไม่สำคัญตัวเองว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อาทิเช่นถือตัวว่าการศึกษาดีกว่าเป็นต้น   ๒. ละอุปาทาน คือการไม่ยึดถือในสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือถือมั่นในอำนาจกิเลสต่างๆ   ๓. มีสัมมาทิฏฐิ คือมีปัญญาที่เห็นชอบ การเห็นถูกเห็นควรตามหลักอริยสัจ ๔ เชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาปเป็นต้น 

ที่มา : http://www.dhammathai.org

โสวจสฺสตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นอุดมมงคล

โสวะจัสสะตา  นามะ  สะหะธัมมิกัง  วุจจะมาโน  วิกเขปัง  วา   ตุณหีภาวัง  วา  คุณะโทสะจินตะยัง  วาติ.  บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๒๘ ตามพระบาลีอรรถกถาว่า  โสวะจัสสะตา  แปลว่า ภิกษุก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ย่อมประพฤติตนเป็นคนสอนง่ายว่าง่าย ไม่มีมานะทิฏฐิอุปาทานแน่นหนาในสันดาน มีจิตเบิกบานอ่อนน้อมรับโอวาทคำสั่งสอนของนักปราชญ์โดยเคารพ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐโดยวิเศษ เหตุที่จะให้เกิดปัีญญาพิจารณาเห็นคุณและโทษ ประโยนช์และมิใช่ประโยชน์ในเบื้องต้น

ความสอนง่ายว่าง่ายจะได้ซึ่งที่พึ่งอาศัย เป็นที่รักใคร่ของมหาชนและนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ความสอนง่ายว่าง่ายเป็นที่สรรเสริฐของมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย ความสอนง่ายว่าง่ายมีคุณอันใหญ่หลวงที่จะให้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน ข้ามโอฆะแอ่งแก่งกันดาร คือ ภพและชาติ ความเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดทั้ง ๔ และคติทั้ง ๕

ความสอนง่ายว่าง่าย เป็นเหตุจะให้ละเสียซึ่งอวิชชาตัญหา และมานะ ทิฎฐิ อุปาทาน จะเห็นธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาดาจารย์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความสอนง่ายว่าง่าย ย่อมมีีเจตนาอันอ่อนไม่กระด้างด้วยมานะทิฏฐิ ย่อมมีขันติไม่โกรธ ไม่พยาบาท มี กาย วาจา อันใสสะอาดปราศจากทุจริต คิดแต่ทางบุญกุศล จะยกตนให้พ้นทุกข์ แสวงหาความสุขเป็นเบื้องหน้า

อนึ่ง คนสอนง่ายว่าง่ายไม่กระด้าง ย่อมอ่อนน้อมทั้งกาย ใจ ปวารณาตามไว้ให้ท่านผู้อื่น ว่ากล่าวสั่งสอนด้วยความผิดดังศิษย์และอาจารย์ ไม่ดื้อด้านรับโอวาทด้วยความเคารพ เหมือนดังราธภิกษุกับพระสารีบุตรเถระ เรื่องพระยามารผจญกับพระอุปคุตต์ และเรื่องนันทยักษ์ ฯ ล ฯ เป็นต้น... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: