วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ปมเดียวที่ควรแก้ คือ “ตัวกู ของกู” เพราะมันเป็นเหตุของความทุกข์ทุกอย่าง

ปมเดียวที่ควรแก้ คือ “ตัวกู ของกู” เพราะมันเป็นเหตุของความทุกข์ทุกอย่าง

“เราจะพิจารณากันว่า “ตัวเรา-ของเรา” นี้ มันทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร?

..เริ่มตั้งแต่ชั้นที่จะทำลาย “ตัวเรา” ชนิดอันชั่วร้าย ให้เหลืออยู่แต่ตัวเราชนิดที่ดีๆ แล้วค่อยๆ บรรเทายึดถือในตัวเราชั้นดีให้น้อยลงๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย คือไม่มีความรู้สึกของ "ตัวเรา-ของเรา" ชนิดใดๆ เหลืออยู่ในใจเลย เรื่องมันก็จบกันเพียงเท่านี้ และเป็นการจบเรื่องหมดทั้งพระไตรปิฎก หรือทั้งหมดในพระพุทธศาสนา แล้วผู้นั้นก็จะประสบสันติสุขอันถาวร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเช่นไร?

..เพราะสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา ของเรา" นี้มันเป็นเหตุของความทุกข์ทุกอย่าง สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" และ "ของเรา" นี้ ก็มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า "อหังการ" และ "มมังการ" ถ้าเป็นคำทางจิตวิทยา จะเรียกว่า "อัตตา" และ "อัตตนียา" ก็ได้ ทั้งหมดนี้ ก็หมายถึง จิตที่กำลังกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวจัด กำลังดิ้นรนทุกอย่างเพื่อจะทำตามใจตน โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม หรือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีใดๆ

..“อุปาทาน” คือ การยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น ยึดมั่นในเบญจขันธ์ คือ ร่างกายและจิตใจ รวมกันว่าเป็น "ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น "ของตน" หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็ยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น "ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด สี่อย่างนี้ว่าเป็น "ของเรา"  

..พุทธภาษิตมีอยู่ว่า "เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์(ขันธ์ ๕)ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นั่นแหละ เป็นตัวทุกข์" 

ฉะนั้น คนที่มีอุปาทานยึดมั่นว่า "ตัวเรา" ว่า "ของเรา" จึงมีเบญจขันธ์ที่เป็นทุกข์ คือแสดงอาการที่ทนได้ยากแก่บุคคลนั้น และแสดงอาการที่น่าเกลียด น่าเอือมระอา แก่บุคคลที่ได้พบเห็นทั่วไป.   ส่วนเบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้น หาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่า บริสุทธิ์ หรือ หลุดพ้น จึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า "ตัวเรา" ว่า "ของเรา" นี้โดยตรง ดังมีพระพุทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้น เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน" ถ้ายังมีอุปาทานก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นั่นแหละ เป็นบ่วงทุกข์ ที่คล้องหรือร้อยรัดผูกพันเราทั้งหลายอยู่ ถ้าเราตัดบ่วงนี้ให้ขาดไม่ได้ อยู่เพียงใด เราก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป

..ความหลุดพ้น (วิมุตติ) เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมาย ของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ดังพระพุทธภาษิตตรัสเป็นใจความว่า "พรหมจรรย์นี้ มิได้มี ลาภสักการะ สรรเสริญ เป็นอานิสงส์ มิได้มีกามสุขในสวรรค์เป็นอานิสงส์ มิได้มีการเข้าถึงความเป็นอันเดียวกับพรหมในพรหมโลกเป็นอานิสงส์ แต่ว่ามีวิมุตติเป็นอานิสงส์ ดังนี้" 

..วิมุตติ ในที่นี้ก็หมายถึง ความหลุดพ้นจากอำนาจของลาภสักการะ สรรเสริญของกามสุขในสวรรค์ ของความอยากเป็นพรหม แต่ความรู้สึกว่ามี "ตัวตน-ของตน" นั่นแหละ เป็นตัวการที่หวังลาภสักการะ สรรเสริญ ทั้งกามสุขในสวรรค์ หรือ ความเป็นพรหม เพราะมันเป็นความรู้สึก ที่อยากได้ อยากเป็น อยากเอา ถ้ามีการได้การเป็น ด้วยอุปาทานนี้ เพียงใดแล้ว ความทุกข์ย่อมเกิดอยู่เสมอไป ต่อเมื่อเอาอุปาทานนี้ออกไปเสียแล้ว การได้การเป็นทั้งหลาย จึงจะไม่เป็นทุกข์ ”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง "ตัวกู ของกู" , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: