วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"อนุปฺปาโท เขมํ - ธรรมอันไม่มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมอันเกษม"

"อนุปฺปาโท เขมํ" แปลว่า "ธรรมอันไม่มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมอันเกษม"

จิตใจน้อมไปในธรรมอันเกษมได้ก็เพราะเกิดความเบื่อหน่าย เอือมระอา ไม่ยินดีอย่างยิ่งในสังขารร่างกายอันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรเปลี่ยนในท่ามกลาง และความแตกสลายไปในที่สุด แล้ววนเวียนอยู่ในภพภูมิทั้งหลาย

เหมือนกับพญาหงส์ไม่ยินดีในบ่อน้ำครำอันโสโครก แต่กลับยินดียิ่งในสระบัวอันใสสะอาด, เหมือนกับพญาราชสีห์ไม่ยินดีในกรงทอง แต่กลับยินดียิ่งในป่าหิมพานต์, และเหมือนกับพญาช้างฉัททันต์ไม่ยินดีอยู่ในเมืองหลวง แต่กลับยินดียิ่งในป่าชัฎฉะนั้น.

เพราะฉะนั้น แม้ว่าเรายังมีกิเลสคือราคะโทสะและโมหะเป็นต้นอยู่ในจิตสันดานก็ตาม แต่การพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นของน่าเกลียด เป็นของน่ากลัว เป็นของทำใจให้ลุ่มหลงติดอยู่ภพภูมิต่างๆ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์อย่างยิ่งตราบนานแสนนาน

การพิจารณาให้เห็นโทษจนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้จิตอยากหลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร แล้วจึงหมั่นบำเพ็ญเพียรเพื่อสร้างคุณงามความดีสั่งสมเป็นบุญบารมีไว้ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้.

สาระธรรมจากวิสุทธิมรรคภาค ๓ (นิพพิทานุปัสนาญาณ)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

28/5/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: