วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ตัวกู ของกู” ที่ตั้งที่เกิดของความทุกข์

“ตัวกู ของกู” ที่ตั้งที่เกิดของความทุกข์

..“ตัวกู”แท้ๆ มันเป็นส่วนจิตใจ ส่วนความคิดความนึก ฉะนั้น อย่ามีความรู้สึกคิดนึกยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู แล้วมันก็หมดกันเท่านั้น ร่างกายก็ไม่มีความหมายอะไร มันก็เป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ไปเอง เป็นเบญจขันธ์ที่ไม่มีกิเลส ไม่มีอุปาทานไปเอง ..ขออย่าให้มีความรู้สึกว่า “ตัวกู” ก็เรียกว่า“ตาย”; ตายอย่างภาษาธรรม แล้วก็..ไม่มีอะไรที่เป็น“ตัวกู” หรือเป็น“ของกู”แล้ว ความทุกข์จะเกิดที่ไหนได้? ความทุกข์มันจะต้องเกิดที่ “ตัวกู ของกู” เสมอ.” -พุทธทาสภิกขุ

อัตตา - อัตตนียา  ,  อหังการ - มมังการ  ,  ตัวกู - ของกู

..“ เราจะพิจารณากันว่า "ตัวเรา-ของเรา" นี้ มันทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร เริ่มตั้งแต่ชั้นที่จะทำลายตัวเราชนิดอันชั่วร้าย ให้เหลืออยู่แต่ตัวเราชนิดที่ดีๆ แล้วค่อยๆบรรเทายึดถือในตัวเราชั้นดีให้น้อยลงๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย คือไม่มีความรู้สึกของ "ตัวเรา-ของเรา" ชนิดใดๆ เหลืออยู่ในใจเลย ..เรื่องมันก็จบกันเพียงเท่านี้ และเป็นการจบเรื่องหมดทั้งพระไตรปิฎก หรือทั้งหมดในพระพุทธศาสนา แล้วผู้นั้นก็จะประสบสันติสุขอันถาวร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเช่นไร 

..เพราะสิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นี้ มันเป็นเหตุของความทุกข์ทุกอย่าง สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา" และ "ของเรา" นี้ ก็มีชื่อโดยภาษาบาลีว่า "อหังการ" และ "มมังการ" ถ้าเป็นคำทางจิตวิทยา จะเรียกว่า "อัตตา" และ "อัตตนียา" ก็ได้ ทั้งหมดนี้ ก็หมายถึง จิตที่กำลังกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวจัด กำลังดิ้นรนทุกอย่างเพื่อจะทำตามใจตน โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม หรือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีใดๆ

.."อุปาทาน" คือการยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น ยึดมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจ รวมกันว่าเป็น "ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น "ของตน" หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็ยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น "ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด สี่อย่างนี้ว่าเป็น "ของเรา"  พุทธภาษิตมีอยู่ว่า... " เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ " 

..ฉะนั้น คนที่มีอุปาทานยึดมั่นว่า "ตัวเรา" ว่า "ของเรา" จึงมีเบญจขันธ์ที่เป็นทุกข์ คือแสดงอาการที่ทนได้ยากแก่บุคคลนั้น และแสดงอาการที่น่าเกลียด น่าเอือมระอา แก่บุคคลที่ได้พบเห็นทั่วไป ..ส่วนเบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้น หาเป็นทุกข์ไม่ 

..ฉะนั้น คำว่า บริสุทธิ์ หรือ หลุดพ้น จึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า "ตัวเรา" ว่า "ของเรา" นี้โดยตรง ดังมีพระพุทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้น เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน" ถ้ายังมีอุปาทานก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นั่นแหละเป็นบ่วงทุกข์ ที่คล้องหรือร้อยรัดผูกพันเราทั้งหลายอยู่ ถ้าเราตัดบ่วงนี้ให้ขาดไม่ได้ อยู่เพียงใด เราก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป”  -พุทธทาสภิกขุ

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: