วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มหาสุปินชาตกํ - ว่าด้วยมหาสุบิน

มหาสุปินชาตกํ - ว่าด้วยมหาสุบิน

" อุสภา  รุกฺขา  คาวิโย  ควา  จ,   อสฺโส  กํโส  สิงฺคาลี  จ  กุมฺโภ;   

โปกฺขรณี  จ  อปากจนฺทนํ,  ลาพูนิ  สีทนฺติ สิลา  ปฺลวนฺติ ฯ

มณฺฑูกิโย  กณฺหสปฺเป  คิลนฺติ,  กากํ  สุปณฺณา  ปริวารยนฺติ;

ตสา  วกา  เอฬกานํ  ภยาหิ,  วิปริยาโส  วตฺตติ  นยิธ  มตฺถีติ ฯ

หม่อมฉันได้ฝันเห็นโคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ ๑ แม่โค ๑ โคสามัญ ๑ ม้า ๑  ถาดทองคำ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑ สระโบกขรณี ๑ ข้าวสารที่หุงไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑ น้ำเต้าจมน้ำ ๑ หินลอยน้ำ ๑ นางเขียดกลืนกินงูเห่า ๑ หงส์ทองแวดล้อมกา ๑ เสือกลัวแพะ ๑ ดังนี้ ปริยายอันผิดจะเป็นไปในยุคนี้ ยังไม่สำเร็จ "

มหาสุบินชาดกอรรถกถา

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภมหาสุบิน ๑๖ ข้อ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  ลาวูนิ สีทนฺติ  ดังนี้. 

ดังได้สดับมา วันหนึ่งพระเจ้าโกศลมหาราช เสด็จเข้าสู่นิทรารมย์ ในราตรีกาล ในปัจฉิมยาม ทอดพระเนตรเห็น พระสุบินนิมิตรอันใหญ่หลวง ๑๖ ประการทรงตระหนกพระทัยตื่นพระบรรทมทรงพระดำริว่า „เพราะเราเห็นสุบินนิมิตร เหล่านี้จักมีอะไรแก่เราบ้างหนอ" เป็นผู้อันความสะดุ้งต่อมรณภัยคุกคามแล้วทรงประทับเหนือพระแท่นที่ไสยาสน์นั่นแล จนล่วงราตรีกาล.   ครั้นรุ่งเช้า พวกพราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้ากราบทูลถามว่า „ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือพระเจ้าข้า ?" รับสั่งตอบว่า „ท่านอาจารย์ทั้งหลาย เราจักมีความสุขได้อย่างไร? เมื่อคืนนี้เวลาใกล้รุ่ง เราเห็นสุบินนิมิตร ๑๖ ข้อตั้งแต่เห็นสุบินนิมิตรเหล่านั้นแล้ว เราถึงความหวาดกลัวเป็นกำลัง“ เมื่อพวกปุโรหิตกราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า โปรดตรัสเล่าเถิดพระเจ้าข้า, พวกข้าพระองค์สดับแล้ว จักทำนายถวายได้" จึงตรัสเล่าพระสุบินที่ทรงเห็นแล้วให้พวกพราหมณ์ฟังแล้วตรัสว่า „เพราะเหตุเห็นสุบินเหล่านี้จักมีอะไรแก่เราบ้าง ?" พวกพราหมณ์พากันสลัดมือ. 

เมื่อรับสั่งถามว่า „เพราะเหตุไรพวกท่านจึงพากันสลัดมือเล่า ?“ พวกพราหมณ์จึงพากันกราบทูลว่า „ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระสุบินทั้งหลายร้ายกาจนัก“   รับสั่งถามว่า „พระสุบินเหล่านั้นจักมีผลเป็นประการใด ?" พวกพราหมณ์จึงพากันกราบทูลว่า "จักมีอันตรายใน ๓ อย่างเหล่านี้คือ อันตรายแก่ราชสมบัติ ๑ อันตราย คือโรคจะเบียดเบียน ๑ อันตรายแก่พระชนม์ ๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง“.  รับสั่งถามว่า „พอจะเเก้ไขได้ หรือแก้ไขไม่ได้?“ พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลว่า „ขอเดชะ พระสุบิน เหล่านี้หมดทางแก้ไขเป็นแน่แท้ เพราะร้ายแรงยิ่งนัก แต่พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย จักกระทำให้พอแก้ไขได้ เมื่อพวกหม่อมฉันไม่สามารถเพื่อจะแก้ไขพระสุบินเหล่านี้ได้แล้วขึ้นชื่อว่าความเป็นผู้สำเร็จการศึกษา จักอำนวยประโยชน์อะไร ?“   รับสั่งถามว่า „ท่านอาจารย์ทั้งหลาย จักกระทำอย่างไรเล่า? ถึงจักให้คืนคลายได้“ พวกพราหมณ์พากันกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์ต้องบูชายัญด้วยวัตถุอย่างละ ๔ ทุกอย่างพระเจ้าข้า“ 

พระราชาทรงสะดุ้งพระทัย ตรัสว่า „ท่านอาจารย์ทั้งหลายถ้าเช่นนั้น เราขอมอบชีวิตไว้ในมือของพวกท่านเถิด พวกท่านรีบกระทำความสวัสดีแก่เราเร็ว ๆ เถิด“ พวกพราหมณ์พากันร่าเริงยินดีว่า „พวกเราต้องได้ทรัพย์มาก จักต้องได้ของเคี้ยวกินมามาก ๆ“ แล้วพากันกราบทูลปลอบพระราชาว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า อย่าได้ทรงวิตกเลยพระเจ้าข้า“ แล้วพากันออกจากราชนิเวศน์จักทำหลุมบูชายัญที่นอกพระนคร จับฝูงสัตว์ ๔ เท้ามากเหล่ามัดเข้าไว้ที่หลักยัญ รวบรวมฝูงนกเข้าไว้เสร็จแล้ว เที่ยวกันขวักไขว่ไปมากล่าวว่า "เราควรจะได้สิ่งนี้ ๆ.“   ครั้งนั้นแล พระนางมัลลิกาเทวีทรงทราบเหตุนั้น ก็เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลถามว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกพราหมณ์พากันเที่ยวขวักไขว่ไปมา มีเรื่องอะไรหรือเพคะ ?“ พระราชาตรัสว่า „แน่ะนางผู้เจริญ เธอมัวแต่สุขสบาย จึงไม่รู้ว่า อสรพิษมันสัญจรอยู่ใกล้ ๆหูของพวกเรา.“ พระนางทูลถามว่า „ข้าแต่ มหาราช เรื่องนั้นคืออะไรเพคะ ?“ พระราชารับสั่งว่า „เราฝันร้ายถึงปานนี้ พวกพราหมณ์พากันทำนายว่า อันตรายใน ๓ อย่างไม่อย่างใดอย่างหนึ่งก็จักปรากฏ เพื่อบำบัดอันตรายเหล่านั้นต้องบูชายัญ จึงต้องสัญจรไปมาอยู่บ่อย ๆ“  พระนางมัลลิกากราบทูลถามว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็ผู้ที่เป็นยอดพราหมณ์ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ทูลกระหม่อมได้ทูลถามถึงการแก้ไขพระสุบินแล้วหรือเพคะ ?“ ทรงรับสั่งถามว่า „นางผู้เจริญ พระผู้เป็นยอดพราหมณ์ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกนั้น เป็นใครกันเล่า ?“ 

พระนางกราบทูลว่า „ทูลกระหม่อมไม่ทรงรู้จักมหาพราหมณ์โคดมผู้ตถาคต หมดกิเลสบริสุทธิ์แล้ว เป็นสัพพัญญู เป็นบุคคลผู้เลิศในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ดอกหรือเพคะ, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น คงทรงทราบเหตุในพระสุบินแน่นอน ขอเชิญทูลกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินไปกราบทูลถามเถิด เพคะ.“ พระราชาทรงรับสั่งว่า "ดีละ เทวี“ แล้วเสด็จไปยังพระวิหารถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วประทับนั่งอยู่ พระศาสดาทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะ ตรัสถามว่า „มหาบพิตร เหตุไรเล่า บพิตรจึงเสด็จมา ดุจมีราชกิจด่วน.“

พระราชากราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อใกล้รุ่ง หม่อมฉันเห็นมหาสุบิน ๑๖ ข้อสะดุ้งกลัว บอกเล่าแก่พวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ทำนายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระสุบินร้ายแรงนัก เพื่อระงับสุบินเหล่านั้นต้องบูชายัญ ด้วยยัญญวัตถุ อย่างละ ๔ ครบทุกอย่างแล้วพากัน เตรียมบูชายัญ ฝูงสัตว์เป็นอันมากถูกมรณภัยคุกคาม, ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นบุคคลผู้เลิศในโลก ทั้งเทวโลกเญยยธรรมที่เข้าไปกำหนดอดีต อนาคต ปัจจุบัน ที่ยังไม่มาถึงซึ่งครรลองในญาณมุขของพระองค์นั้นมิได้มีเลย, ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดทำนายผลแห่งสุบินของหม่อมฉันเหล่านั้นเถิด พระเจ้าข้า.“

พระศาสดาตรัสว่า „ขอถวายพระพร เป็นเช่นนั้นทีเดียวมหาบพิตร ในโลกทั้งเทวโลกเว้นตถาคตเสียแล้ว ผู้อื่นที่จะได้ชื่อว่าสามารถรู้เหตุ หรือผลของพระสุบินเหล่านี้ไม่มีเลย, ตถาคตจักทำนายให้มหาบพิตร, ก็แต่ว่า มหาบพิตรจงตรัสบอกพระสุบินตามทำนองที่ทรงเห็นนั้นเถิด.“ พระราชาทรงรับพระพุทธดำรัสว่า „ดีละ พระพุทธเจ้าข้าเริ่มกราบทูลพระสุบิน ตามทำนองที่ทรงเห็นอย่างถี่ถ้วน โดยทรงวางหัวข้อไว้ดังนี้ว่า :-  „โคอุสุภราชทั้งหลาย ต้นไม้ทั้งหลาย ๑ แม่โคทั้งหลาย ๑ โคทั้งหลาย ๑ ม้า ๑ ถาดทอง ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑ สระโบกขรณี ๑ ข้าวไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑ น้ำเต้าจม ๑ ศิลาลอย ๑ เขียดขยอกงู ๑ หงส์ทองล้อมกา ๑ เสือกลัวแพะ ๑ „ 

แล้วตรัสว่า 

(๑) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นสุบินข้อ ๑ อย่างนี้ก่อนว่า โคผู้สีเหมือนดอกอัญชัน ๔ ตัว ต่างคิดว่า จักชนกัน พากันวิ่งมาสู่ท้องพระลานหลวง จากทิศทั้ง ๔ เมื่อมหาชนประชุมกันคิดว่า พวกเราจักดูโคชนกัน ต่างแสดงท่าทางจะชนกัน บรรลือเสียงคำรามลั่นแล้วไม่ชนกัน ต่างถอยออกไปหม่อมฉันเห็นสุบิน, นี้เป็นปฐม อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“  „มหาบพิตร ผลของสุบินข้อนี้ จักไม่มีในชั่วรัชกาลของมหาบพิตร ในชั่วศาสนาของตถาคต แต่ในอนาคต เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม ในรัชกาลของพระราชาผู้กำพร้า ผู้มีได้ครองราชย์โดยธรรมและในกาลของหมู่มนุษย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อกุศลธรรมลดน้อยถอยลง อกุศลธรรมหนาแน่นขึ้น ในกาลที่โลกเสื่อม ฝนจักแล้งและตีนเมฆจักขาด ข้าวกล้าจักแห้ง ทุพภิกขภัยจักเกิด เมฆทั้งหลายตั้งขึ้นจากทิศทั้ง ๔ เหมือนจะย้อยเม็ด พอพวกผู้หญิงรีบเก็บข้าวเปลือกเป็นต้น ที่เอาออกผึ่งแดดไว้เข้าภายในร่ม เพราะกลัวจะเปียก เมื่อพวกผู้ชายต่างถือจอบถือตะกร้าพากันออกไป เพื่อจะก่อคันกั้นน้ำ ก็ตั้งเค้าจะตก ครางกระหึ่ม ฟ้าแลบแล้วก็ไม่ตกเลย ลอยหายไป เหมือนโคตั้งท่าจะชนกันแล้วไม่ชนกันฉะนั้นนี้เป็นผลของสุบินนั้น แต่ไม่มีอันตรายไร ๆแก่มหาบพิตร เพราะเรื่องนั้นเป็นปัจจัย มหาบพิตรเห็นสุบินนี้ ปรารภอนาคต ฝ่ายพวกพราหมณ์อาศัยการเลี้ยงชีวิตของตนจึงทำนายดังนี้.  พระบรมศาสดาครั้นตรัสบอกผลแห่งสุบินด้วยประการฉะนี้ แล้ว ตรัสว่า จงตรัสเล่าสุบินข้อที่ ๒ เถิด มหาบพิตร.“ 

(๒) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นสุบินข้อที่ ๒ อย่างนี้ว่า ต้นไม้เล็ก ๆและกอไผ่ แทรกแผ่นดินพอถึงคืบหนึ่งบ้าง ดอกหนึ่งบ้าง เพียงแค่นี้ก็ผลิดอกออกผลไปตาม ๆ กัน, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันได้เห็น อะไรเป็นผลของสุบินนี้พระเจ้าข้า ?“  "มหาบพิตร ผลแม้ของสุบินข้อนี้ ก็จักมีในกาลที่โลกเสื่อมเวลามนุษย์มีอายุน้อย ด้วยว่า สัตว์ทั้งหลายในอนาคตจักมีราคะกล้า กุมารีมีวัยยังไม่สมบูรณ์ จักสมสู่กะบุรุษอื่น เป็นหญิงมีระดู มีครรภ์ พากันจำเริญด้วยบุตรและธิดา ความที่กุมารีเหล่านั้นมีระดูเปรียบเหมือนต้นไม้เล็ก ๆ มีดอกกุมารีเหล่านั้นจำเริญด้วยบุตรและธิดา ก็เหมือนต้นไม้เล็ก ๆ มีผล ภัยแม้มีนิมิตรนี้เป็นเหตุ ไม่มีแก่มหาบพิตรดอกจงตรัสเล่าข้อที่ ๓ ต่อไปเถิด มหาบพิตร. 

(๓) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นแม่โคใหญ่ ๆพากันดื่มนมของฝูงลูกโค ที่เพิ่งเกิดในวันนั้น, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๓ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินนั้น พระเจ้าข้า ?“ „มหาบพิตร แม้ผลของสุบินนี้ ก็จักมีในอนาคตเหมือนกันจักมีผลในเวลาที่มนุษย์ทั้งหลาย พากันละทิ้งเชษฐาปจายิกกรรมคือความเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เพราะในอนาคต ฝูงสัตว์จักมิได้ตั้งไว้ซึ่งความยำเกรงในมารดาบิดา หรือในแม่ยายพ่อตา ต่างแสวงหาทรัพย์สินด้วยตนเองทั้งนั้น เมื่อปรารถนา จะให้ของกินของใช้แก่คนแก่ ๆก็ให้ ไม่ปรารถนาจะให้ก็ไม่ให้คนแก่ ๆพากันหมดที่พึ่ง หาเลี้ยงตนเองก็ไม่ได้ ต้องง้อพวกเด็ก ๆเลี้ยงชีพ เป็นเหมือนแม่โคใหญ่ ๆพากันดื่มนมลูกโคที่เกิดในวันนั้น แม้ภัยมีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ไม่มีแก่มหาบพิตร ตรัสเล่าสุบินข้อที่ ๔ ต่อไปเถิดมหาบพิตร.“

(๔) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นฝูงชนไม่เทียมโคใหญ่ ๆ ที่เคยพาแอกไป ซึ่งสมบูรณ์ด้วยร่างกายและเรี่ยวแรงเข้าในระเบียบแห่งแอก กลับไปเทียมโครุ่น ๆ ที่กำลังฝึกเข้าในแอก โครุ่น ๆ เหล่านั้นไม่อาจพาแอกไปได้ ก็พากันสลัดแอกยืนเฉยเสีย เกวียนทั้งหลายก็ไปไม่ได้, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๔ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้พระเจ้าข้า ?“  „มหาบพิตร ผลของสุบินแม้ข้อนี้ ก็จักมีในรัชสมัยของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่า ในภายหน้า พระราชาผู้มีบุญน้อย มิได้ดำรงในธรรม จักไม่พระราชทานยศแก่มหาอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ฉลาดในประเพณีสามารถที่จะยังสรรพกิจให้ลุล่วงไปได้ จักไม่ทรงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นบัณฑิต ฉลาดในโวหารไว้ในที่วินิจฉัยคดีในโรงศาลแต่พระราชทานยศแก่คนหนุ่ม ๆ ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้วนั้นแต่งตั้งบุคคลเช่นนั้นไวในตำแหน่งผู้วินิจฉัยอรรถคดี คนหนุ่มพวกนั้น ไม่รู้ทั่วถึงราชกิจและการอันควรไม่ควร ไม่อาจดำรงยศนั้นไว้ได้ ทั้งไม่อาจจัดทำราชกิจให้ลุล่วงไปได้ เมื่อไม่อาจ ก็จักพากันทอดทิ้งธุระการงานเสีย.   ฝ่ายอำมาตย์ที่เป็นบัณฑิต เป็นผู้ใหญ่ เมื่อไม่ได้ยศ ถึงจะสามารถที่จะให้กิจทั้งหลายลุล่วงไป ก็จักพากันกล่าวว่า พวกเราต้องการอะไรด้วยเรื่องเหล่านี้พวกเรากลายเป็นคนภายนอกไปแล้ว พวกเด็กหนุ่มเขาเป็นพวกอยู่วงในเขาคงรู้ดีแล้วไม่รักษาการงานที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมเท่านั้นจักมีแก่พระราชาเหล่านั้นด้วยประการทั้งปวง เป็นเสมือนเวลาที่คนจับโครุ่น ๆกำลังฝึก ยังไม่สามารถจะพาแอกไปได้ เทียมไว้ในแอกและเป็นเวลาที่ไม่จับเอาโคใหญ่ ๆผู้เคยพาแอกไปได้ มาเทียมแอกฉะนั้น แม้ภัยมีสุบินนี้เป็นเหตุก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสบอกสุบินที่ ๕ เถิดมหาบพิตร.“ 

(๕)  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นม้าตัวหนึ่ง มีปากสองข้าง ฝูงชนพากันให้หญ้าที่ปากทั้งสองข้างของมัน มันเคี้ยวกินด้วยปากทั้งสองข้าง, นี้เป็นสุบินที่ ๕ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“    „มหาบพิตร ผลของสุบินแม้นี้ ก็จักมีในรัชกาลของพระราชาผู้ไม่ดำรงในธรรม ในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่า ในกาลภายหน้าพวกพระราชาโง่เขลา ไม่ดำรงธรรม จักทรงแต่งตั้งมนุษย์โลเลไม่ประกอบด้วยธรรมไว้ในตำแหน่งวินิจฉัยคดี คนเหล่านั้นเป็นพาล ไม่เอื้อเฟื้อในบาปบุญ พากันนั่งในโรงศาล เมื่อให้คำตัดสิน ก็จักรับสินบนจากมือของคู่คดีทั้งสองฝ่ายมากิน เป็นเหมือนม้ากินหญ้าด้วยปากทั้งสองฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตรดอกเชิญตรัสบอกสุบินที่ ๖ เถิด มหาบพิตร.“ 

(๖) "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นมหาชนขัดถูถาดทองราคาตั้งแสนกษาปณ์แล้วพากันนำไปให้หมาจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่งด้วยคำว่า เชิญท่านเยี่ยวใส่ในถาดทองนี้เถิด หมาจิ้งจอกแก่นั้นก็ถ่ายปัสสาวะใส่ในถาดทองนั้น, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๖ ของหม่อมฉันอะไรเป็นผลแห่งสุบินข้อนี้ พระเจ้าข้า ?“  „มหาบพิตร ผลของสุบินนี้ก็จักมีในอนาคตเหมือนกันด้วยว่า ในกาลภายหน้า พวกพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมทรงรังเกียจกุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเสียแล้วไม่พระราชทานยศให้ จักพระราชทานให้แก่คนที่ไม่มีสกุลเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้สกุลใหญ่ ๆ จักพากันตกยาก สกุลเลว ๆจักพากันเป็นใหญ่ก็เมื่อพวกมีสกุลเหล่านั้นไม่อาจเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ จักคิดว่า เราต้องอาศัยพวกเหล่านี้เลี้ยงชีวิตสืบไปแล้วก็พากันยกธิดาให้แก่ผู้ไม่มีสกุล การอยู่ร่วมกับคนพวกไม่มีสกุลของกุลธิดาเหล่านั้นก็จักเป็นเช่นเดียวกับถาดทองรองเยี่ยวหมาจิ้งจอก ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสบอกสุบินที่ ๗ เถิด มหาบพิตร.“ 

(๗) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นอย่างนี้ บุรุษผู้หนึ่งฟั่นเชือกแล้วหย่อนไปที่ใกล้เท้า แม่หมาจิ้งจอกโซตัวหนึ่งนอน อยู่ใต้ตั่งที่บุรุษนั่ง กัดกินเชือกนั้น เขาไม่ได้รู้เลยทีเดียว, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๗ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินข้อนี้ พระเจ้าข้า ?“  „มหาบพิตร ผลแม้ของสุบินข้อนี้ ก็จักมีในอนาคตเหมือนกันด้วยว่า ในกาลภายหน้า หมู่สตรี จักพากันเหลาะแหละโลเลในบุรุษ ลุ่มหลงในสุรา เอาแต่แต่งตัว ชอบเที่ยวเตร่ตามถนนหนทาง เห็นแก่อามิส เป็นหญิงทุศีล มีความประพฤติชั่วช้าพวกนางจักกลุ้มรุมกันแย่งเอาทรัพย์ที่สามีทำงาน มีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น สั่งสมไว้ด้วยยาก ลำบากลำเค็ญเอาไปซื้อสุราดื่มกับชายชู้ ซื้อดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้มาแต่งตน คอยสอดส่องมองหาชู้ โดยส่วนบนของบ้านที่มิดชิดบ้าง โดยที่ซึ่งลับตาบ้าง แม้ข้าวเปลือกที่เตรียมไว้สำหรับหว่านในวันรุ่งขึ้น ก็เอาไปซ้อม จัดทำเป็นข้าวต้ม ข้าวสวยและของเคี้ยวเป็นต้น มากินกัน เป็นเหมือนนางหมาจิ้งจอกโซ ที่นอนใต้ตั่งคอยกัดกินเชือกที่เขาฟั่นแล้ว หย่อนลงไว้ใกล้ ๆเท้าฉะนั้นภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าสุบินข้อที่ ๘ เถิดมหาบพิตร.“ 

(๘) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมลูกใหญ่ใบหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ประตูวัง ล้อมด้วยตุ่มเป็นอันมาก วรรณะทั้ง ๔ เอาหม้อตักน้ำมาจากทิศทั้ง ๔ และทิศน้อยทั้งหลาย เอามาใส่ลงตุ่มที่เต็มแล้วนั่นแหละ น้ำก็เต็มแล้วเต็มอีก จนไหลล้นไป แม้คนเหล่านั้นก็ยังเทน้ำลงในตุ่มนั้นอยู่เรื่อย ๆแต่ไม่มีผู้ที่จะเหลียวแลดูตุ่มที่ว่าง ๆ เลย, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๘ ของหม่อมฉันอะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“           „มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่า ในกาลภายหน้า โลกจักเสื่อม แว่นแคว้นจักหมดความหมายพระราชาทั้งหลายจักตกยาก เป็นกำพร้า องค์ใดเป็นใหญ่ องค์นั้นจักมีพระราชทรัพย์เพียงแสนกระษาปณ์ในท้องพระคลังพระราชาเหล่านั้นตกยากถึงอย่างนี้ จักเกณฑ์ให้ชาวชนบททุกคน ทำการเพาะปลูกให้แก่ตน พวกมนุษย์ถูกเบียดเบียนต้องละทิ้งการงานของตน พากันเพาะปลูก ปุพพันพืช อปรันพืชให้แก่พระราชาทั้งหลายเท่านั้น ต้องช่วยกันเฝ้าช่วยกันเก็บเกี่ยว ช่วยกันนวด ช่วยกันขน ช่วยกันเคี่ยวน้ำอ้อยเป็นต้นและช่วยกันทำสวนดอกไม้ สวนผลไม้ พากันขนปุพพันพืชเป็นต้นที่เสร็จแล้ว ในที่นั้น ๆมาบรรจุไว้ในยุ้งฉางของพระราชาเท่านั้น แม้ที่จะมองดูยุ้งฉางเปล่า ๆ ในเรือนทั้งหลายของตนจักไม่มีเลย จักเป็นเช่นกับการเติมนำใส่ตุ่มที่เต็มแล้ว ไม่เหลียวแลตุ่มเปล่า ๆบ้างเลยนั่นแล ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ จะยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าสุบินที่ ๙ เถิดมหาบพิตร.“

(๙)  „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นโบกขรณีสระหนึ่งดารดาดไปด้วยปทุม ๕ สี ลึก มีท่าขึ้นลงรอบด้าน ฝูงสัตว์ สองเท้าสี่เท้า พากันลงดื่มน้ำในสระนั้นโดยรอบ น้ำที่อยู่ในที่ลึกกลางสระนั้นขุ่นมัว ในที่ซึ่งสัตว์สองเท้าสี่เท้าพากันย่ำเหยียบ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หม่อมฉันได้เห็นอย่างนี้, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๙ ของหม่อมฉันอะไรเป็นผลของสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“  „มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้จักมีในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่า ในกาลภายหน้า พระราชาทั้งหลาย จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม ลุอคติ ด้วยอำนาจความพอใจเป็นเต้น เสวยราชสมบัติ จักไม่ประทานการวินิจฉัยอรรถคดีโดยธรรม มีพระหฤทัยมุ่งแต่สินบน โลเลในทรัพย์ ขึ้นชื่อว่าคุณธรรมคือความอดทน ความเมตตาและความเอ็นดูของพระราชาเหล่านั้นจักไม่มีในหมู่ชาวสวนแว่นแคว้นจักเป็นผู้กักขฬะ หยาบคาย คอยแต่เบียดเบียนหมู่มนุษย์ เหมือนหีบอ้อมด้วยหีบยนต์ จักกำหนดให้ส่วยต่าง บังเกิดขึ้น เก็บเอาทรัพย์ พวกมนุษย์ถูกรีดส่วยอากรหนักเข้า ไม่สามารถจะให้อะไร ๆ ได้ พากันทิ้งคามนิคมเป็นต้นเสีย อพยพไปสู่ปลายแดนตั้งหลักฐาน ณ ที่นั้น ชนบทศูนย์กลางจักว่างเปล่า ชนบทชายแดน จักเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เหมือนน้ำกลางสระโบกขรณี น้ำที่ฝั่งรอบ ๆ ใส ฉันใด ก็ฉันนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ย่อมไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าพระสุบินข้อที่ ๑๐ เถิดมหาบพิตร.“ 

(๑๐) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นข้าวสุก ที่คนหุงในหม้อใบเดียวกันแท้ ๆแต่หาสุกทั่วกันไม่ เป็นเหมือนผู้หุงตรวจดูแล้วว่า ไม่สุกเลยแยกกันไว้เป็น ๓ อย่าง คือ ข้าวหนึ่งแฉะข้าวหนึ่งดิบ ข้าวหนึ่งสุกดี, นี้เป็นสุบินที่ ๑๐ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินข้อนี้ พระเจ้าข้า ?“   „มหาบพิตร ผลแม้ของสุบินข้อนี้ จักมีในอนาคตเหมือนกันด้วยว่า ในกาลภายหน้า พระราชาทั้งหลายจักไม่ดำรงในธรรมเมื่อพระราชาเหล่านั้นไม่ดำรงในธรรมแล้ว ข้าราชการก็ดีพราหมณ์และคฤหบดีก็ดี ชาวนิคม ชาวชนบทก็ดี รวมถึงมนุษย์ทั้งหมด นับแต่สมณะและพราหมณ์ จักพากันไม่ตั้งอยู่ในธรรมแม้เทวดาทั้งหลายก็จักไม่ทรงธรรม ในรัชกาลแห่งอธัมมิกราชทั้งหลาย ลมทั้งหลายจักพัดไม่สม่ำเสมอ พัดแรงจัด ทำให้วิมานในอากาศของเทวดาสั่นสะเทือน เมื่อวิมานเหล่านั้นถูกลมพัดสั่นสะเทือน ฝูงเทวดาก็พากันโกรธแล้วจักไม่ให้ฝนตก ถึงจะตกก็จะไม่ตกกระหน่ำทั่วแว่นแคว้น มิฉะนั้น จักไม่ตกให้เป็นอุปการะแก่การใด การหว่า นในที่ทั้งปวงจักไม่ตกกระหน่ำทั่วถึง แม้ในชนบท แม้ในบ้าน แม้ในตระพังแห่งหนึ่ง แม้ในสระลูกหนึ่งเหมือนกันกับในแคว้นฉะนั้น เมื่อตกตอนเหนือของตระพัง ก็จักไม่ตกในตอนใต้ เมื่อตกในตอนใต้ จักไม่ตกในตอนเหนือ ข้าวกล้าในตอนหนึ่งจักเสียเพราะฝนชุก เมื่อฝนไม่ตกในส่วนหนึ่ง ข้าวกล้าจักเหี่ยวแห้ง เมื่อฝนตกดีในส่วนหนึ่ง ข้าวกล้าจักสมบูรณ์ ข้าวกล้า ที่หว่านแล้วในขอบขัณฑสีมาของพระราชาพระองค์เดียวกัน จักเป็น ๓ สถาน ด้วยประการฉะนี้ เหมือนข้าวสุกในหม้อเดียวมีผลเป็น ๓ อย่างฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ จะยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าสุบินที่ ๑๑ ต่อไปเถิด มหาบพิตร.“ 

(๑๑) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นคนทั้งหลายเอาแก่นจันทน์ มีราคาตั้งแสนกษาปณ์ ขายแลกกับเปรียงเน่า, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๑๑ ของหม่อมฉัน อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้เล่าพระเจ้าข้า ?“  „มหาบพิตร แม้ผลแห่งสุบินนี้ ก็จักมีในอนาคต ในเมื่อศาสนาของตถาคตเสื่อมโทรมนั่นแล ด้วยว่า ในกาลภายหน้า พวกภิกษุอลัชชีเห็นแก่ปัจจัย จักมีมาก พวกเหล่านั้นจักพากันแสดงธรรมเทศนาที่ตถาคต กล่าวติเตียนความละโมภในปัจจัยไว้แก่ชนเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น จักไม่สามารถแสดงให้พ้นจากปัจจัยทั้งหลายแล้วตั้งอยู่ในฝ่ายธรรมนำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ มุ่งตรงสู่พระนิพพาน ชนทั้งหลายก็จะฟังความสมบูรณ์แห่งบทละพยัญชนะและสำเนียงอันไพเราะอย่างเดียว เท่านั้นแล้วจักถวายเองและยังชนเหล่าอื่นให้ถวาย ซึ่งปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น อันมีค่ามาก ภิกษุทั้งหลายอีกบางพวก จักพากันนั่งในที่ต่าง ๆ มีท้องถนน สี่แยกและประตูวังเป็นต้นแล้วแสดงธรรมแลกรูปิยะ มีเหรียญกษาปณ์ครึ่ง กษาปณ์ เหรียญบาท เหรียญมาสกเป็นต้น โดยประการฉะนี้ก็เป็นเอาธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ มีมูลค่าควรแก่พระนิพพานไปแสดงแลกปัจจัย ๔ และรูปิยะมีเหรียญกษาปณ์และเหรียญครึ่งกษาปณ์เป็นต้น จักเป็นเหมือนฝูงคนเอาแก่นจันทน์มีราคาตั้งแสน ไปขายแลกเปรียงเน่าฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าสุบินที่ ๑๒ ต่อไปเถิดมหาบพิตร.“ 

(๑๒) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นกระโหลกน้ำเต้าจมน้ำได้ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“   "มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้ ก็จักมีในอนาคตกาล เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม ในรัชกาลของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมด้วยว่า ในครั้งนั้น พระราชาทั้งหลาย จักไม่พระราชทานยศแก่กุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ จักพระราชทานแก่ผู้ไม่มีสกุลเท่านั้นพวกนั้นจักเป็นใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งจักยากจน ถ้อยคำของพวกไม่มีสกุล ดุจกระโหลกน้ำเต้า ดูประหนึ่งหยั่งรากลงแน่นในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชาก็ดี ที่ประตูวังก็ดี ที่ประชุมอำมาตย์ก็ดี ที่โรงศาลก็ดี จักเป็นคำไม่โยกโคลง มีหลักฐานแน่นหนาดีแม้ในสังฆสันนิบาต (ที่ประชุมสงฆ์) เล่า ในกิจกรรมที่สงฆ์พึงทำและคณะพึงทำก็ดี ทั้งในสถานที่ดำเนินอธิกรณ์เกี่ยวกับบาตรจีวรและบริเวณเป็นต้นก็ดี ถ้อยคำของคนชั่วทุศีลเท่านั้น จักเป็นคำนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ มิใช่ถ้อยคำของภิกษุผู้ลัชชี เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักเป็นเหมือนกาลเป็นที่จมลงแห่งกระโหลกน้ำเต้าแม้ด้วยประการทั้งปวง ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าสุบินที่ ๑๓ เถิด มหาบพิตร.“ 

(๑๓) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นศิลาแท่งทึบใหญ่ขนาดเรือนยอดลอยน้ำเหมือนดังเรือ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้พระเจ้าข้า ?“   „มหาบพิตร ผลแห่งสุบินแม้นี้ ก็จักมีในกาลเช่นนั้นเหมือนกันด้วยว่า ในครั้งนั้น พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมทั้งหลาย จักพระราชทานยศแก่คนไม่มีสกุล พวกนั้นจักเป็นใหญ่ พวกมีสกุลจักตกยาก ใคร ๆ จักไม่ทำความเคารพในพวกมีสกุลนั้น จักกระทำความเคารพในพวกที่เป็นใหญ่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำของกุลบุตรฉลาดในการวินิจฉัย ผู้หนักแน่น เช่นกับศิลาทึบ จักไม่หยั่งลง ดำรงมั่นในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระราชา หรือในที่ประชุมอำมาตย์ หรือในโรงศาล เมื่อพวกนั้นกำลังกล่าวพวกนอกนี้จักคอยเยาะเย้ยว่า พวกนี้พูดทำไม แม้ในที่ประชุมภิกษุ พวกภิกษุก็จักไม่เหล่าภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ผู้ควรทำความเคารพว่า เป็นสำคัญ ในฐานะต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ทั้งถ้อยคำของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่านั้นก็จักไม่หนักแน่นมั่นคง จักเป็นเหมือนเวลาเป็นที่เลื่อนลอยแห่งศิลาทั้งหลายฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าพระสุบินข้อที่ ๑๔ เถิด มหาบพิตร.“ 

(๑๔) "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นฝูงเขียดตัวเล็ก ๆขนาดดอกมะซาง วิ่งไล่กวดงูเห่าตัวใหญ่ ๆ กัดเนื้อขาดเหมือนตัดก้านบัวแล้วกลืนกิน, นี้เป็นสุบินข้อที่ ๑๔ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“   „มหาบพิตร ผลแห่งแม้สุบินข้อนี้ ก็จักมีในอนาคต ในเมื่อโลกเสื่อมโทรมดุจกัน ด้วยว่า ในครั้งนั้น พวกมนุษย์จะมีราคะจริตแรงกล้า ชาติชั่ว ปล่อยตัวปล่อยใจ ตามอำนาจของกิเลส จักต้องเป็นไปในอำนาจแห่งภรรยาเด็ก ๆ ของตน ผู้คนมีทาสและกรรมกรเป็นต้นก็ดี สัตว์พาหนะมีโคกระบือเป็นต้นก็ดีเงินทองก็ดี บรรดามีในเรือนทุกอย่าง จักต้องอยู่ในครอบครองของพวกนางทั้งนั้น เมื่อพวกสามีถามถึงเงินทอง โน้น ๆ ว่า อยู่ที่ไหน หรือถามถึงจำนวนสิ่งของว่า มีที่ไหนก็ดี พวกนางจักพากันตอบว่า มันจะอยู่ที่ไหน ๆ ก็ช่างเถิด กงการอะไรที่ท่านจะตรวจตราเล่าท่านเกิดอยากรู้สิ่งที่มีอยู่และไม่มีอยู่ในเรือนของเราละหรือแล้วจักด่าด้วยประการต่าง ๆ ทิ่มตำเอาด้วยหอกคือปาก กดไว้ในอำนาจดังทาสและคนรับใช้ ดำรงความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของตนไวสืบไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักเป็นเหมือนเวลาที่ฝูงเขียดขนาดดอกมะซาง พากันขยอกกินฝูงงูเห่า ซึ่งมีพิษแล่นเร็วฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็จักไม่มีแก่มหาบพิตรดอก เชิญตรัสบอกนิมิตรที่ ๑๕ เถิด.“ 

(๑๕) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้เห็นฝูงพญาหงษ์ทองที่ได้นามว่าทองเพราะมีขนเป็นสีทอง พากันแวดล้อมกา ผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการ เที่ยวหากินตามบ้านอะไรเป็นผลแห่งพระสุบินนี้ พระเจ้าข้า ?“   „มหาบพิตร ผลแห่งสุบินนี้ ก็จักมีในอนาคต ในรัชกาลของพระราชาผู้ทุรพลนั่นแหละ ด้วยว่า ในภายหน้าพระราชาทั้งหลาย จักไม่ฉลาดในศิลปะมีหัสดีศิลปะเป็นต้น ไม่แกล้วกล้าในการยุทธ ท้าวเธอจักไม่พระราชทานความเป็นใหญ่ให้แก่พวกกุลบุตรที่มีชาติเสมอกัน ผู้รังเกียจความวิบัติแห่งราชสมบัติของพระองค์อยู่ จักพระราชทานแก่พวกพนักงานเครื่องสรงและพวกกัลบกเป็นต้น ซึ่งอยู่ใกล้บาทมูลของพระองค์ พวกกุลบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยชาติและโคตร เมื่อไม่ได้ที่พึ่งในราชสกุล ก็ไม่สามารถเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ จักพากันปรนนิบัติบำรุงฝูงชนที่ไม่มีสกุล มีชาติและโคตรทราม ผู้ดำรงอิสริยยศ จักเป็นเหมือนฝูงพญาหงษ์ทอง แวดล้อมเป็นบริวารกา ฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตร เชิญตรัสเล่าสุบินที่ ๑๖ ต่อไปเถิด มหาบพิตร.“ 

(๑๖) „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อน ๆ เสือเหลือง พากันกัดกินฝูงแกะ แต่หม่อมฉันได้เห็นฝูงแกะพากันไล่กวดฝูงเสือเหลืองกัดกินอยู่มุ่มม่ำ ๆ ทีนั้นเสืออื่น ๆ คือเสือดาว เสือโคร่ง เห็นฝูงแกะอยู่ห่าง ๆ ก็สะดุ้งกลัว ถึงความสยดสยองพากันวิ่งหนี หลบเข้าพุ่มไม้และป่ารก ซุกซ่อนเพราะกลัวฝูงแกะ หม่อมฉันได้เห็นอย่างนี้ อะไรเป็นผลแห่งสุบินนี้พระเจ้าข้า ?“    "มหาบพิตร ผลแห่งสุบินแม้นี้ ก็จักมีในรัชกาลแห่งพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ในอนาคตเหมือนกัน ด้วยว่า ในครั้งนั้น พวกไม่มีสกุลจักเป็นราชวัลลภ เป็นใหญ่เป็นโต พวกคนมีสกุลจักอับเฉาตกยาก ราชวัลลภเหล่านั้นพากันยังพระราชาให้ทรงเชื่อถือถ้อยคำของตน มีกำลังในสถานที่ราชการ มีโรงศาลเป็นต้น ก็พากันรุกเอาที่ดินไร่นาเรือกสวนเป็นต้น อันตกทอด สืบมาของพวกมีสกุลทั้งหลายว่า ที่เหล่านี้เป็นของพวกเราเมื่อพวกผู้มีสกุลเหล่านั้นโต้เถียงว่า ไม่ใช่ของพวกท่านเป็นของพวกเราแล้วพากันมาฟ้องร้องยังโรงศาลเป็นต้น พวกราชวัลลภก็พากันบอกให้เฆี่ยนตีด้วยหวายเป็นต้น จับคอไสออกไป พร้อมกับข่มขู่คุกคามว่า พ่อเจ้าไม่รู้ประมาณตน มาหาเรื่องกับพวกเรา เดี๋ยวจักไปทูลพระราชา ให้ลงพระราชอาญาต่าง ๆ มีตัดตีน ตัดมือเป็นต้น พวกผู้มีสกุลกลัวเกรงพวกราชวัลลภ ต่างก็ยินยอมให้ที่ทางที่เป็นของตนว่า ที่ทางเหล่านี้ถ้าเป็นของท่านก็เชิญครอบครองเถิดแล้วพากันกลับบ้านเรือนของตนนอนหวาดผวาไปตาม ๆ กัน แม้ภิกษุผู้ชั่วช้าทั้งหลายเล่า ก็จักพากันเบียดเบียนภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ตามชอบใจพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่านั้นไม่ได้ที่พำนัก ก็พากันเข้าป่าแอบแฝงอยู่ในที่รก ๆ ข้อที่กุลบุตรผู้มีชาติสกุลทั้งหลายและภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักทั้งหลาย ถูกคนชาติชั่วและถูกภิกษุผู้ลามกทั้งหลาย เข้าไปประทุษร้ายอย่างนี้ จักเป็นเหมือนกาลที่พวกเสือดาวและเสือโคร่งทั้งหลาย พากันหลบหนีเพราะกลัวฝูงแกะฉะนั้น ภัยแม้มีสุบินนี้เป็นเหตุ ก็ยังไม่มีแก่มหาบพิตรด้วยสุบินนี้ ที่มหาบพิตรเห็นแล้ว ปรารภอนาคตทั้งนั้น 

แต่พวกพราหมณ์มิได้ทำนายสุบินนั้นด้วยความจงรักภักดีในพระองค์โดยถูกต้องเท่าที่ถูกที่ควร ทำนายไปเพราะอาศัยการเลี้ยงชีพเพราะเห็นแก่อามิสว่า พวกเราจักได้ทรัพย์กันมาก ๆ ครั้นทรงทำนายผลแห่งสุบินใหญ่ ๆ ๑๖ ข้ออย่างนี้แล้ว ตรัสว่า „ดูก่อนมหาบพิตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่บพิตรได้เห็นสุบินเหล่านี้แม้พระราชาทั้งหลายแต่ก่อน ๆ ก็ได้ทรงเห็นแล้วเหมือนกัน, แม้พวกพราหมณ์ ก็ถือเอาสุบินเหล่านี้นับเข้าในยอดยัญพิธีอย่างนี้เหมือนกัน, ภายหลังอาศัยคำแนะนำที่พวกเป็นบัณฑิตพากันกราบทูล จึงถามพระโพธิสัตว์ แม้ท่านโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อทำนายสุบินเหล่านี้แก่พระราชาเหล่านั้นก็พากันทำนายทำนองนี้แหละ“ อันพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-  

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์เจริญวัยแล้วบวชเป็นฤๅษี ให้อภิญญาสมาบัติเกิดแล้วได้ประลองฌานอยู่ในหิมวันตประเทศ ในครั้งนั้น ณ พระนคร พาราณสี พระเจ้าพรหมทัตทรงเห็นพระสุบินเหล่านี้โดยทำนองนี้เหมือนกัน มีพระดำรัสถามพวกพราหมณ์. พวกพราหมณ์ปรารภจะบูชายัญอย่างนี้เหมือนกัน.   บรรดาพราหมณ์เหล่านั้นท่านปุโรหิตมีศิษย์เป็นบัณฑิตฉลาด กล่าวกะอาจารย์ว่า „ท่านอาจารย์ครับ คัมภีร์พระเวทย์ทั้ง ๓ ท่านอาจารย์ให้ผมเรียนจบแล้ว ในพระเวทย์ทั้ง ๓ คัมภีร์นั้น ข้อที่ว่า การฆ่าคนหนึ่งแล้วทำให้เกิดความสวัสดีแก่อีกคนหนึ่ง ไม่มีเลยมิใช่หรือ ขอรับ ?"   ท่านอาจารย์ตอบว่า „พ่อคุณ ด้วยอุบายนี้ทรัพย์จำนวนมากจักเกิดแก่พวกเรา ส่วนเจ้าชะรอยอยากจะรักษาพระราชทรัพย์กระมัง ?“ มาณพกล่าวว่า „ท่านอาจารย์ครับ ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงกระทำงานของพวกท่านไปเถิด กระผมจักกระทำอะไรในสำนักของพวกท่านได้“ แล้วเดินเรื่อยไปจนถึงพระราชอุทยาน. 

ในวันนั้นเอง แม้พระบรมโพธิสัตว์ก็รู้เหตุนั้น คิดว่า „วันนี้ เมื่อเราไปถึงถิ่นมนุษย์ ความพ้นจากการจองจำจักมีแก่มหาชน“ ดังนี้แล้ว จึงเหาะมาทางอากาศ ลงที่อุทยานนั่งเหนือแผ่นศิลาอันเป็นมงคล ประหนึ่งรูปที่หล่อด้วยทองฉะนั้น.  มาณพเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งได้ทำการต้อนรับพระโพธิสัตว์. แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้ทำการปฏิสันถารอย่างไพเราะกับเขาแล้วถามว่า „เป็นอย่างไรเล่าหนอ พ่อมาณพ พระราชายังจะเสวยราชสมบัติโดยธรรมอยู่หรือ ?" 

มาณพกราบเรียนว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระราชายังได้พระนามว่าธรรมิกราชอยู่ดอกครับ ก็แต่ว่า พวกพราหมณ์กำลังชักจูงพระองค์ให้วิ่งไปผิดทาง, พระราชาทรงเห็นพระสุบิน ๑๖ ข้อตรัสบอกแก่พวกพราหมณ์, พวกพราหมณ์กล่าวว่า พวกเราจักต้องบูชายัญแล้วเตรียมการทันที, พระคุณเจ้าผู้เจริญขอรับ การที่พระคุณเจ้าทำให้พระราชาทรงเข้าพระทัยว่า ขึ้นชื่อว่าผลแห่งสุบินนี้เป็นอย่างนี้แล้วช่วยให้มหาชนพ้นจากภัย จะมิควรหรือขอรับ ?“  พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "พ่อมาณพ เราเองก็ไม่รู้จักพระราชา พระราชาเล่าก็มิได้ทรงรู้จักเรา ถ้าพระองค์เสด็จมาถาม ณ ที่นี้ เราพึงบอกแก่พระองค์ได้.“ 

มาณพกราบเรียนว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจักนำพระองค์เสด็จมา ขอพระคุณเจ้าได้โปรดนั่งรอการมาของกระผมสักครู่หนึ่ง นะขอรับ“, ขอให้พระโพธิสัตว์ปฏิญญาแล้ว ก็ไปสู่พระราชสำนัก กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชเจ้า ดาบสผู้เที่ยวไปในอากาศได้องค์หนึ่งลงมาในอุทยานของพระองค์กล่าวว่า „จักทำนายผลของพระสุบินที่พระองค์ทรงเห็น กำลังรอพระองค์อยู่.“  พระราชาทรงสดับคำของมาณพนั้น ก็รีบเสด็จไปพระอุทยาน ด้วยบริวารเป็นอันมากทันทีทรงไหว้พระดาบสแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มีพระดำรัสถามว่า „ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ได้ยินว่า พระคุณเจ้าทราบผลแห่งสุบินที่กระผมเห็นหรือ ?“ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า "ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพทราบ“.  พระราชาตรัสว่า „ถ้าเช่นนั้นนิมนต์พระคุณเจ้าทำนายเถิด“.  พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมาภาพจะทำนายถวาย เชิญมหาบพิตรตรัสเล่าพระสุบินตามที่ทรงเห็นให้อาตมาภาพฟังก่อนเถิด.“

พระราชาตรัสว่า ดีละพระคุณเจ้าผู้เจริญ พลางตรัสว่า :-  „โคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ทั้งหลาย ๑ แม่โคทั้งหลาย ๑ โคทั้งหลาย ๑ ม้า ถาดทอง ๑ นางสุนัขจิ้งจอก ๑ ตุ่มน้ำ ๑ โบกขรณี ๑ ข้าวไม่สุก ๑ จันทน์แดง ๑ น้ำเต้าจม ๑ ศิลาลอย ๑ เขียด ขยอกงู ๑ หงษ์ทองล้อมกา ๑ เสือดาว เสือโคร่ง กลัวแพะจริง ๆ ๑ ดังนี้“  แล้วตรัสบอกสุบิน ตามนัยที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสบอกนั่นเอง. 

แม้พระโพธิสัตว์ ก็ทำนายผลแห่งสุบินเหล่านั้นโดยพิสดารตามทำนองที่พระศาสดาทรงทำนายในบัดนี้แหละ ในที่สุดถวายพระพรดังนี้ ด้วยตนเองว่า จะเป็นไปต่อเมื่อโลกถึงจุดเสื่อม ยังไม่มีในยุคนี้. อรรถาธิบาย ในคำนั้น มีดังนี้ คือ ดูก่อนมหาบพิตรผลแห่งพระสุบินเหล่านั้นมีดังนี้ คือ การบบูชายัญที่กำลังดำเนินไปเพื่อปัดเป่าพระสุบินเหล่านั้นย่อมดำเนินไปผิดหลักเกณฑ์ท่านกล่าวอธิบายว่า „ย่อมเป็นไปอย่างผิดตรงกันข้าม ความเสื่อมจากความจริง. เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า ผลแห่งสุบินเหล่านี้จักมีในกาลที่โลกถึงจุดเสื่อม คือในกาลที่ต่างถือเอาข้อที่มิใช่ เหตุว่า เป็นเหตุ ในกาลที่ทิ้งเหตุเสียว่า มิใช่เหตุ ในกาลที่ถือเอาข้อที่ไม่จริงว่า เป็นจริง ในกาลที่ละทิ้งข้อที่จริงเสียว่า ไม่เป็นจริงในกาลที่พวกอลัชชี มีมากขึ้นและในกาลที่พวกลัชชี ลดน้อยถอยลง ยังไม่มีในยุคนี้ หมายความว่า แต่ผลของพระสุบินเหล่านี้ยังไม่มีในบัดนี้ คือในรัชกาลของมหาบพิตร หรือในศาสนาของตถาคตนี้ ในยุคนี้ คือในชั่วบุรุษปัจจุบันนี้ เพราะเหตุนั้น การบูชายัญที่กำลังดำเนินไป เพื่อปัดเป่าผลแห่งพระสุบินเหล่านี้จึงเป็นไปโดยคลาดเคลื่อน เลิกการบูชายัญนั้นเสียเถิด ภัยหรือความสะดุ้งอันมีพระสุบินนี้เป็นเหตุ ยังไม่มีแก่มหาบพิตร.“ 

พระมหาบุรุษทำพระราชาให้เบาพระทัย ปลดปล่อยมหาชนจากการจองจำแล้ว กลับเหาะขึ้นอากาศ ถวายโอวาทแด่พระราชา ชักจูงให้ดำรงมั่นในศีล ๕ แล้วถวายพระพรว่า „ตั้งแต่บัดนี้ต่อไป มหาบพิตรอย่าได้ร่วมคิดกับพราหมณ์บูชายัญ ที่มีชื่อว่าปสุฆาตยัญ (ยัญฆ่าสัตว์)อีกต่อไป“ ครั้นแสดงธรรมแล้วกลับไปที่อยู่ของตนทางอากาศนั่นแล.   ฝ่ายพระราชาตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ทรงทำบุญมีให้ทานเป็นต้นแล้วเสด็จไปตามยถากรรม. 

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเลิกบูชายัญ ด้วยพระพุทธดำรัสว่า เพราะพระสุบินเป็นปัจจัย ภัยยังไม่มีแก่มหาบพิตรดอกมหาบพิตรจงสั่งให้เลิกยัญเสียเถิด พระราชทาน ชีวิตทานแก่มหาชน“ แล้วทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ มาณพได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนพระดาบสได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.  ก็และครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย ยกบททั้ง ๓ มีอสุภาเป็นอาทิขึ้นสู่อรรถกถา กล่าวบททั้ง ๕ มีลาวูนิเป็นอาทิ ยกขึ้นสู่บาลีเอกนิบาตด้วยประการฉะนี้.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: