วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๓)

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๓)

11. เสด็จประพาสอุทยาน ทรงเห็นเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต

พระเจ้าสุทโธทนะผู้พระราชบิดา และพระญาติวงศ์ทั้งปวงทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชิต อย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่างแต่เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นานพอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวทูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประสาทพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน

ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก และสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้อหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกาย ควรจะสังเวช.."

ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สามเมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้ว มีสว่าง มีร้อน แล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี

ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."

เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่งทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

12. ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมใน นอนระเกะระกะ ระอาพระทัยใคร่ผนวช

ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวฑูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือ ทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ตอนหนึ่งว่า “...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐ ปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง...” มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง

ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ “ตามด้วยน้ำมันหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง...” บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี

มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ว่า “แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่งไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถา สำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ...”

เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับ แม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวม คือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า “อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้” แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระทวารว่า “ใครอยู่ที่นั่น”

13. เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิท เป็นนิมิตรอำลาผนวช

พอสิ้นพระดำรัสถามของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็มีเสียงทูลขานรับ เจ้าของเสียงระบุชื่อตัวเองว่า “ฉันนะ” นายฉันนะ คือ มหาดเล็กคนสนิทของเจ้าสิทธัตถะและเป็นสหชาติ คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชายด้วย

ถ้าจะอุปมาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเป็นดุจบทละคร นายฉันนะก็เป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในเรื่อง ความสำคัญนั้น คือ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกบวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นายฉันนะได้โดยเสด็จออกบวชด้วย พระฉันนะกลายเป็นพระหัวแข็ง ใครว่ากล่าวไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว เพราะพระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า เขาใช้สรรพนามเรียกเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าติดปากมาจนกระทั่งบวชเป็นพระอยู่คำเดียวว่า “พระลูกเจ้า”

ในตอนที่กล่าวนี้ นายฉันนะนอนอยู่ที่ภายนอกห้องบรรทมของเจ้าชาย ศีรษะหนุนกับธรณีพระทวาร เมื่อเจ้าชายรับสั่งให้ไปเตรียมผูกม้า นายฉันนะก็รับพระบัญชารีบลงไปที่โรงม้า

ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วว่าจะเสด็จออกบวช เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายา และพระโอรสที่เพิ่งได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก

ทรงหมายพระทัยว่า “จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส...” ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสียได้ว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า  “จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง”  

แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว

14. ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา


ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า “กัณฐกะ” เป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสมโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า “ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก” แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า “โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว” และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า “สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ (หน้า) ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี”

ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณาให้เขื่อง และให้เป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ ถ้าถอดความเป็นอย่างธรรมดาก็ว่า กัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ หรือบุคคลผู้ทรงความเป็นเอกในเรื่อง

เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความยินดีก็เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์ (ประมาณ ๔๐๐ เส้น) โดยรอบ ถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า “เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตรธานหายไป...” ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง

ถ้าถอดความจากเรื่องราวของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้ามาก ทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้

จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ “พระยาบาลทวาร” โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า “พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ (ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆ ภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี” นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ

15. ทรงตัดพระโมลีถือเพศบรรพชาที่ฝั่งน้ำอโนมานที ฆฏิการพรหมถวายอัฏฐบริขาร

เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไปสว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถามนามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า “พระลูกเจ้า ! แม่น้ำนี้มีชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า”

ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อันขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลายพระเกศา กับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบเหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา

เสร็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการพรหมนำมาถวาย พร้อมด้วยเครื่องบริขารอย่างอื่นของนักบวช แล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่บนหาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั่นเอง

ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา

เจ้าชายหรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า “พระมหาบุรุษ” ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ

ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรงและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคนเดียว

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๑) ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๒) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๓) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๔) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๕) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๖) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๗)


Previous Post
Next Post

0 comments: