อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.
“คนมีปัญญาดี ไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้ง (คนโง่) เหมือนม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าไม่มีกำลังไปฉะนั้น.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ. ๒๕/๑๘, ๑๙.
ปัญญา คือ ความรอบรู้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ปัญญาทางโลก และปัญญาทางธรรม
ปัญญาทางโลก คือปัญญาเพื่อการดำรงชีวิต หมายเอาปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเรียนรู้ในวิชาการต่าง ๆ ที่เราศึกษากันมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิชาการต่าง ๆ เหล่านั้น เรียกว่า ปัญญาทางโลก หรือ ปัญญาเพื่อการดำรงชีวิต
เราใช้ปัญญาทางโลกนี้ในการประกอบสัมมาชีพ ทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีวิต มาจุนเจือครอบครัว ผู้ที่มีความรู้ในวิชาการมาก มีความสามารถมาก ย่อมจะได้เปรียบคนอื่น ๆ ในการประกอบธุรกิจ หรือการทำหน้าที่การงานใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ชาวโลกทั้งหลายเขาต้องการกัน นั่นก็คือ ทรัพย์สินเงินทอง
การดำเนินชีวิตในโลกนั้น เราแข่งขันกันด้วยปัญญาคือความรู้ความสามารถ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก ย่อมมีอนาคตไกล มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ในการที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีโอกาสเป็นหัวหน้าคนอื่น มีโอกาสรับราชการมียศมีตำแหน่งใหญ่โต มีโอกาสในการทำธุรกิจส่วนตัว มีโอกาสสร้างรายได้มากกว่าคนอื่น
คนที่มีความรู้น้อย ความสามารถน้อย โอกาสก็น้อยตามไปด้วย การที่จะมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือการที่จะมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าคนอื่น เป็นผู้นำคนอื่นนั้น ยากนักยากหนา โอกาสที่จะทำธุรกิจหาทรัพย์สินได้จำนวนมาก ๆ นั้น ยิ่งเป็นไปได้ยาก
นี่คือความสำคัญของปัญญา เพราะชาวโลกเขาดำรงชีวิตด้วยปัญญา แข่งขันกันด้วยปัญญา ปัญญาน้อยโอกาสก็น้อย ปัญญามากโอกาสก็มาก ธรรมดามันเป็นเช่นนี้
ปัญญาทางธรรม คือปัญญารู้เห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงตาทั้งหลาย เข้าใจธรรมชาติทุกอย่าง อย่างที่มันเป็นจริง ๆ ไม่ใช่เข้าใจอย่างที่ชาวโลกเขาสมมติกัน
การศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน อันจะเป็นทางพ้นทุกข์ได้นั้น ปัญญาทางธรรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งคัมภีรภาพยิ่งนัก ยากที่คนโง่เขลาเบาปัญญาจะศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้และปฏิบัติตามให้ได้ผลโดยเร็วได้ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกปรือ จำเป็นต้องอาศัยการสั่งสมบารมีอย่างยิ่งยวด
ผู้ที่มีปัญญาทางธรรมนั้น จะพิจารณาเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง จะเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ คือเป็นผู้ตื่นรู้ด้วยปัญญา เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งปวง ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา
เห็นความเป็นทุกข์ของสิ่งทั้งปวง คือภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา และแตกสลายไปในที่สุด
เห็นความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งปวง คือภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งไร้ตัวตน คือเป็นสภาพที่ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ตามปรารถนาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ ไม่มีใครสามารถบังคับให้เป็นอย่างอื่นได้
เมื่อพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาท คือไม่ลุ่มหลงมัวเมาในชีวิต ว่าชีวิตนี้จะยืนยาว แต่จะพิจารณาว่า ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นของแน่นอน ดังนั้น จึงรีบเร่งศึกษาและปฏิบัติธรรมในขณะที่ยังสามารถทำได้ ไม่รอเวลา เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะจบลงเมื่อใด
ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาทในวัย ว่าตอนนี้เรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ใช้ชีวิตวัยรุ่นให้คุ้มเสียก่อน แล้วค่อยสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมทีหลังเมื่อถึงวัยชรา ผู้มีปัญญาจะไม่คิดเช่นนี้ เพราะจริง ๆ แล้วเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เมื่อถึงวัยชรา ความทรงจำของเราจะยังดีพอที่จะศึกษาธรรมะให้เข้าใจหรือไม่ เราจะยังมีกำลังพอที่จะปฏิบัติธรรมให้ได้ผลได้หรือไม่ ไม่รู้แม้กระทั่งว่า เราจะมีชีวิตยืนยาวจนถึงวัยชราหรือไม่
ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาทในสุขภาพ ว่าสุขภาพจะดีตลอดไป หรือว่าตนเองเป็นคนแข็งแรง คงไม่มีวันเจ็บไข้ได้ป่วย ปฏิบัติธรรมวันไหนก็ได้ เพราะสุขภาพยังดีอยู่ แต่จะพิจารณาว่า วันนี้สุขภาพยังดี ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ ต้องรีบขวนขวายศึกษาและปฏิบัติธรรม ก่อนที่สุขภาพจะทรุดโทรมจนปฏิบัติธรรมไม่ไหว
ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาทในเวลา ว่ายังมีเวลาอีกมาก ปฏิบัติธรรมเมื่อใดก็ได้ ยังมีเวลาอีกเยอะ แต่จะพิจารณาว่า เราไม่รู้เลยว่าเวลาชีวิตของเรายังเหลืออยู่อีกเท่าไหร่ ต้องรีบขวนขวายปฏิบัติธรรมกำจัดทุกข์ ในขณะที่ยังมีเวลา จะได้ไม่ต้องเสียใจในเมื่อเวลาของเราหมดลงจริง ๆ
ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาทในธรรม ว่าวันนี้เอาไว้ก่อน วันหลังค่อยปฏิบัติธรรมก็ได้ เพราะพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ลึกซึ้งคัมภีรภาพยิ่งนัก ใช่ว่าศึกษาแล้วจะเข้าใจทันที หรือปฏิบัติแล้วจะได้ผลทันที แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญาบารมีมากมายขนาดนั้น ยังต้องใช้เวลาในชาติสุดท้ายเป็นเวลาถึง ๖ ปี จึงสามารถบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ เราเป็นปุถุชนคนธรรมดา ยิ่งต้องใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากขึ้นไปอีก เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว จะลงมือปฏิบัติธรรมทันที ไม่ประมาท
ผู้มีปัญญาเมื่อไม่ประมาทเช่นนี้ ลงมือศึกษาและปฏิบัติธรรมทันที ไม่ช้านานย่อมจะสามารถบรรลุธรรมขั้นสูง สามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ถึงสันติสุขคือพระนิพพานได้ ตามสมควรแก่บารมีที่ได้สั่งสมมา เมื่อถึงคราวที่ต้องละจากโลกนี้ไป ก็จะไปอย่างไม่หวนกลับ ดับภพดับชาติอย่างสิ้นเชิง ทิ้งเหล่าคนเขลาผู้มัวประมาทให้เผชิญชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณทุกข์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อไป เปรียบเหมือนม้าฝีเท้าดีที่วิ่งเข้าสู่จุดหมายปลายทาง ทิ้งม้าฝีเท้าแย่ไว้ข้างหลังฉะนั้น.
ใจสั่งมา
Credit: ชาญ สร้อยสุวรรณ
💥อ่านคาถาธรรมบทเพิ่มเติม👇
ดอกไม้แห้งแต่ยังทรงคุณค่าแห่งธรรม
1. หมวดคู่ - THE PAIRS, 2. หมวดไม่ประมาท - Heedfulness, 3. หมวดจิต - The Mind, 4. หมวดดอกไม้ - THE FLOWERS, 5. หมวดคนพาล - THE FOOL, 6. หมวดบัณฑิต - The Wise, 7. หมวดพระอรหันต์ - THE WORTHY, 8. หมวดพัน - THE THOUSANDS, 9. หมวดบาป - EVIL, 10. หมวดลงทัณฑ์ - PUNISHMENT, 11. หมวดชรา - OLD AGE, 12. หมวดตน - THE SELF, 13. หมวดโลก - THE WORLD, 14. หมวดพระพุทธเจ้า - THE ENLIGHTENED ONE, 15. หมวดความสุข - HAPPINESS, 16. หมวดความรัก - AFFECTIONS, 17. หมวดความโกรธ - ANGER, 18. หมวดมลทิน - IMPURITY, 19. หมวดเที่ยงธรรม - THE JUST, 20. หมวดทาง - THE PATH, 21. หมวดเบ็ดเตล็ด - MISCELLANEOUS, 22. หมวดนรก - HELL, 23. หมวดช้าง - THE ELEPHANT, 24. หมวดตัณหา - CRAVING, 25. หมวดภิกษุ - THE MONK, 26. หมวดพราหมณ์ - THE BRAHMANA
วัดพระธาตุดอยคำ
วัดพระธาตุดอยคำเป็นวัดที่มีความสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี เวลาเดินทางไป เชียงใหม่ เราก็จะเห็นองค์พระธาตุสีทองอร่ามของ วัดพระธาตุดอยคำ เด่นชัดมาแต่ไกล ที่นี่เองที่เป็นจุดสังเกตของการบินไทยก่อนที่จะลดระดับเครื่องบินลงจอดที่สนามบิน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเป็นมายาวนานนับพันปีตั้งแต่สมัยหริภุญชัย เลยทีเดียว
วัดพระธาตุดอยคำ : ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เดินทางไปได้ ตามเส้นทางเลียบคลองชลประทาน จะมีป้ายบอกข้ามคลองไปทางตำบลแม่เหียะ จะพบทางขึ้นเขาไปยังพระธาตุดอยคำ
Ancient reclining Buddha sculpture in Ajanta cave no.26, Ajanta village, Aurangabad district, Maharashtra state of India.
0 comments: