อาชญฺญชาตกํ - ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก
ยทา ยทา ยตฺถ ยทา, ยตฺถ ยตฺถ ยทา ยทา;
อาชญฺโญ กุรุเต เวคํ, หายนฺติ ตตฺถ วาฬวาติ ฯ
"ไม่ว่าเมื่อใด ในขณะใด ณ ที่ไหนๆ ณ สถานที่ใดๆ ม้าอาชาไนยใช้กำลังรบ ม้ากระจอกย่อมถอยหนี."
อาชัญญชาดกอรรถกถา
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุผู้ละความเพียรเหมือนกัน จึงตรัสธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยทา ยทา ดังนี้.
ก็พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน เป็นผู้แม้ได้การประหารทั้งในที่อันมิใช่บ่อเกิดก็ได้กระทำความเพียร“, แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสีพระราชา ๗ องค์พากันล้อมพระนครไว้ โดยนัยมีในเรื่องก่อนนั่นแหละ.
ลำดับนั้น นักรบประจำรถคันหนึ่ง เทียมรถมีม้าสินธพพี่น้อง ๒ ตัวออกจากพระนคร ทำลายกองพล ๖ กองพลได้จับพระราชา ๖ องค์ไว้. ขณะนั้น ม้าผู้พี่ได้รับบาดเจ็บ. สารถีจึงส่งรถมายังประตูพระราชวัง ปลดม้าผู้พี่ชายออก จากรถ ทำเกราะให้หลวมแล้วให้นอนตะแคงข้างหนึ่ง เริ่มจะสวมเกราะม้า ตัวอื่น.
พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น จึงคิดโดยนัยเรื่องก่อนนั่นแหละแล้วให้เรียกสารถีมา ทั้งที่นอนอยู่นั่นแลได้กล่าวคาถานี้ว่า :-
„ไม่ว่า เมื่อใด ที่ใด ขณะใด ณ ที่ใด ๆณ เวลา ใด ๆ,
ม้าอาชาไนยใช้กำลังความเร็ว ม้ากระจอกย่อมถอยหนี้“.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา ยทา ได้แก่ ในกาลใด ๆ ในบรรดาเวลาเช้าเป็นต้น. บทว่า ยตฺถ ได้แก่ ในที่ใด คือในหนทาง หรือในสนามรบ. บทว่า ยทา คือ ในขณะใด. บทว่า ยตฺถ ยตฺถ ได้แก่ ในสนามรบเป็นอันมาก เช่นกองพล ๗ กอง. บทว่า ยทา ยทา ได้แก่ ในกาลใด ๆ คือ ในกาลที่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ได้รับ. บทว่า อาชาไนยกุรุเต เวคํ ความว่า ม้าอาชาไนย คือ ม้าสินธพตัวประเสริฐ ผู้มีสภาวะรู้ทั่วถึงเหตุที่จิตของสารถีชอบ ใช้กำลังความเร็ว คือพยายาม ปรารภความเพียร. บทว่า หายนฺติ ตตฺถ วาฬวา ความว่า เมื่อม้าอาชาไนยนั้นใช้กำลังความเร็ว ม้ากระจอกกล่าวคือม้าตัวเมียนอกนี้ย่อมถอยหนี คือ ย่อมล่าถอยไป เพราะฉะนั้น ท่านจงเทียมเฉพาะเราเท่านั้นในรถคันนี้.
สารถีประคองพระโพธิสัตว์ไห้ลุกขึ้น เทียมแล้วทำลายกองพลที่ ๗ พาเอาพระราชาองค์ที่ ๗ มา. ขับรถมายังประตูพระราชวังแล้วปลดม้าสินธพ.
พระโพธิสัตว์นอนตะแคงข้างหนึ่ง ถวายโอวาทแก่พระราชาโดยนัยเรื่องก่อนนั่นแลแล้วดับไป.
พระราชารับสั่งให้กระทำฌาปนกิจสรีระของพระโพธิสัตว์นั้นแล้วกระทำสัมมานะแก่สารถีประจำรถทรงครองราชสมบัติโดยธรรม โดยเสมอ เสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศสัจจะในเวลาจบสัจจะภิกษุนั้นตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล.
พระศาสดา ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้นได้เป็นพระอานนทเถระ สารถีได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนม้าได้เป็นเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล.
Credit: Palipage : Guide to Language - Pali
23. ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย , 22. ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21. ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20. เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด , 19. ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18. ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14. ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. ว่าด้วยการเลือกคบ , 11. ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 9. ว่าด้วยเทวทูต , 8. ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 7. ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ , 6. ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 5. ว่าด้วยราคาข้าวสาร, 4. ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 3. ว่าด้วยเสรีววาณิช , 2. ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 1. ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
รวมภาพพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ , ภาพวาดพุทธประวัติ , พุทธประวัติโดยย่อ , Buddhist Paintings - The Life of the Buddha
0 comments: