วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๕)

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๕)

21. พอรุ่งอรุณก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา

เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่า เข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ

ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา ส่วน ญาณ คือ ปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ “ฌาน” แสงสว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับ ปัญญา (ญาณ)

พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓ ทุ่ม) ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น พอถึงมัชฌิมยาม (ประมาณเที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความจุติ คือดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า “กรรม” พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สามคือ “อาสวักขยญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์

การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้น พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ตอนก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปทรงมีพระนามใหม่ว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” แปลว่า พระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยคจากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวร อาฆาตมาดร้ายแก่กัน

ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า

22. เสด็จประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงยินดี

ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน คำว่า “เสวยวิมุติสุข” เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือ พักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ “อชปาล” แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา  

ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาวพระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี

ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง

เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้งสามธิดาพระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคาหรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือ ความริษยา  

ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

23. ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกายกำบังฝน

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตัดสินใจพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมโปรดใครเพื่อประกาศพระศาสนา นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมานี้ ได้เสด็จแปรสถานที่ประทับแห่งละ ๗ วัน ที่เห็นอยู่ตามภาพนี้เป็นสัปดาห์ที่สาม และสถานที่ประทับก็เป็นแห่งที่สาม คือ ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์

มุจลินทร์เป็นต้นไม้ที่เกิดอยู่ในที่ทั่วไปในประเทศอินเดีย มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดี ทั้งประเภทชาดก และอย่างอื่นมากหลาย ในเวสสันดรชาดกก็กล่าวถึงสระมุจลินทร์ที่เวสสันดรไปประทับอยู่เมื่อคราวเสด็จไปอยู่ป่า

ไทยเราแปลต้นมุจลินทร์กันว่าต้นจิก เข้าใจว่าจะใช่ เพราะดูลักษณะที่เกิดคล้ายกัน คือ ชอบเกิดตามที่ชุ่มชื้น เช่น ตามห้วย หนอง คลอง บึง เป็นไม้เนื้อเหนียว ดอกระย้ามีทั้งสีขาวและสีแดง ใบประมาณเท่าใบชมพู่สาแหรก ปกติใบดกหนา เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาดี

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ท่านผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อ “มุจลินทร์” ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัด และสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลาดขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพ ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์

พระพุทธรูปนาคปรกที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้น ก็เป็นนิมิตหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในปางหรือในตอนนี้ เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา เพราะเป็นรูปหรือภาพที่สอนคนโดยทางอ้อมให้เห็นอานิสงส์หรือผลดีของเมตตา เพราะแม้แต่พญางูใหญ่ในสระน้ำก็ยังขึ้นจากสระ เข้าไปถวายความอารักขาแก่พระพุทธเจ้า ทั้งนี้พลานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์

24. ทรงคำนึงถึงอุปนิสัยเวไนยสัตว์ เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า จึงรับอาราธนา

ท้าวสหัมบดีพรหม ที่เสด็จมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวโลก เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐานหรืออธิบายกันตรงๆ ก็คือ สหัมบดีพรหมนั้น ได้แก่ พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า คือ พระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรม หลังจากตัดสินพระทัยแล้วจึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก

๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง

๒. วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น

๓. เนยยะ ผู้พอแนะนำได้

๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง

จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง เหมือนดอกบัวใต้น้ำ ที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆ ไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพของดาบสทั้งสองที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก

25. แสดงปฐมเทศนาธัมมจักรกัปปวัตนสูตร โปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม “ปฐมเทศนา” ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์ คือ วันอาสาฬหบูชา นั่นเอง

ผู้ฟังธรรมมี ๕ คน ที่เรียกว่า “เบญจวัคคีย์” เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่ ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่กล่าวโดยย่อคือ ศีล สมาธิ และปัญญา

เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมจักร โดยเปรียบเทียบการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือธรรมจักร

พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง โกณฑัญญะ ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ “อัญญาสิ วตโก โกณฑัญโญ ฯลฯ” แปลว่า “โอ ! โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว” ตั้งแต่นั้นมาท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”

โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาตให้ท่านบวช ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน ส่วนอีก ๔ ที่เหลือนอกนั้น ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๑) ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๒) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๓) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๔) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๕) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๖) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๗)

Previous Post
Next Post

0 comments: