วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

อปฺปมาเทน

วันวิสาขบูชา   เรียนบาลีถวายเป็นพุทธบูชา
อ่านว่า อับ-ปะ-มา-เท-นะ  “อปฺปมาเทน” เป็นคำบาลีที่ประกอบวิภัตติแล้ว รูปคำเดิมคือ “อปฺปมาท” อ่านว่า อับ-ปะ-มา-ทะ รากศัพท์มาจาก น + ปมาท

(๑) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ 

นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า -

น (นะ) =ไม่ ,  โน = ไม่  ,  มา = อย่า  ,  ว (วะ) = เทียว 

“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

หมายเหตุ: รูปศัพท์ที่ตาเห็นคือ “อปฺปมาท” ควรจะบอกว่า รากศัพท์มาจาก อ (อะ) + ปมาท แต่เนื่องจาก อ (อะ) ในที่นี้ไม่ใช่ศัพท์เดิมที่มีอยู่จริง หากแต่เป็นคำที่แปลงมาจาก “น” (นะ) อีกทีหนึ่ง ดังนั้น จึงบอกลึกเข้าไปถึงคำเดิมทีเดียว ไม่ต้องบอกเป็น 2 ขยัก

(๒) “ปมาท”   อ่านว่า ปะ-มา-ทะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มทฺ (ธาตุ = เมา, มัวเมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ม-(ทฺ) เป็น อา (มทฺ > มาท) 

: ป + มทฺ = ปมทฺ + ณ = ปมทฺณ > ปมทฺ > ปมาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้ไม่ทำกิจที่พึงทำด้วยตนเองแห่งบุคคลผู้แม้จะมีความสามารถ” (2) “ความเมาทั่ว”

คำแปลตามศัพท์ที่ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้ไม่ทำกิจที่พึงทำด้วยตนเองแห่งบุคคลผู้แม้จะมีความสามารถ” หมายความว่า กิจที่มนุษย์ควรทำเพราะเป็นความดีงาม คนบางคนสามารถทำกิจเช่นว่านั้นได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ทำ ทั้งอ้างเหตุต่างๆ ที่จะไม่ทำ นี่คือ “ปมาท” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปมาท” ไว้ดังนี้ - 

“ปมาทะ : ความประมาท, ความขาดสติ, ความเลินเล่อ, ความเผอเรอ, ความเผลอ, ความผัดเพี้ยน, ความปล่อยปละละเลย, ความชะล่าใจ; เทียบ อัปปมาทะ.”

บาลี “ปมาท” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาท”   สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ - 

(สะกดตามต้นฉบับ)  

“ปฺรมาท : (คำนาม) ‘ประมาท,’ อนวธาน, ความเลินเล่อ, ความผิด; ความเมา; ความเสียจริต; inadvertence, carelessness, error, inaccuracy; intoxication; insanity.”

บาลี “ปมาท” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาท” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -

“ประมาท : (คำกริยา) ขาดความรอบคอบ, ขาดความระมัดระวังเพราะทะนงตัว, เช่น เวลาขับรถอย่าประมาท; ดูหมิ่น เช่น ประมาทฝีมือ. (คำนาม) ความเลินเล่อ, การขาดความระมัดระวัง, เช่น ขับรถโดยประมาท; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่. (ส. ปฺรมาท; ป. ปมาท).”

ในทางธรรม “ปมาท” มีความหมายลึกและละเอียดกว่าที่พจนานุกรมฯ นิยามไว้ ท่านจำกัดความคำว่า “ปมาท” ไว้ว่า “สติโวสฺสคฺค” = “การปล่อยสติ” หมายถึง การลดละความตั้งใจ, ความไม่ตั้งใจ, ความไม่เอาใจใส่ (relaxation of attention, inattention, indifference)  พูดสั้นๆ ว่า ประมาทคือขาดสติ 

น + ปมาท มีกฎดังนี้ - 

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ) 

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “ปมาท” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ป- จึงแปลง น เป็น อ และซ้อน ปฺ ระหว่างบทหน้ากับบทหลัง

: น + ปฺ + ปมาท = นปฺปมาท > อปฺปมาท (อับ-ปะ-มา-ทะ) แปลว่า “ความไม่ประมาท” หมายถึง ความรอบคอบ, ความจดจ่อ, ความระวังระไว (earnestness, vigilance, zeal)

“อปฺปมาท” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อปฺปมาเทน” แปลว่า “ด้วยความไม่ประมาท”

ขยายความ :  เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้มีพระพุทธดำรัสเป็นพระวาจาครั้งสุดท้ายที่เรียกว่า “ปัจฉิมพุทโธวาท” สั้นๆ เพียง 2 คำ (มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 143) คือ -

อปฺปมาเทน   สมฺปาเทถ   อ่านว่า อับ-ปะ-มา-เท-นะ สำ-ปา-เท-ถะ

พระไตรปิฎกแปลฉบับหลวงแปลว่า “พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”  พระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬาฯ แปลว่า “เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”   “ปัจฉิมพุทโธวาท” นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ได้แปลใหม่ เพียงแต่ยกคำแปลเดิมที่ท่านแปลไว้มาให้ได้ศึกษากัน

ขอให้สังเกตว่า “อปฺปมาเทน” -  พระไตรปิฎกแปลฉบับหลวงแปลว่า “ยังความไม่ประมาท”  พระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬาฯ แปลว่า ด้วยความไม่ประมาท”

นักเรียนบาลีอาจจะอธิบายได้ว่าแปลไม่เหมือนกันก็จริง แต่ก็ไม่ผิดหลักภาษาบาลีเพราะเหตุผลอย่างนี้ๆ  ส่วนผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีก็เพียงรับทราบไว้ ผู้เขียนบาลีวันละคำจะอธิบายในที่นี้ก็จะยืดยาวมากไป แล้วก็คงจะไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเข้าใจก็ต้องเรียนบาลี

คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความตอนนี้ไว้ว่า -

(คำบาลียกมาจากคัมภีร์ คำแปลผู้เขียนบาลีวันละคำแปลเอง)

อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถาติ  สติอวิปฺปวาเสน  สพฺพกิจฺจานิ  สมฺปาเทยฺยาถ  ฯ   

คำว่า  อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ  หมายความว่า  จงยังกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทคืออย่าขาดสติ

แปลยกศัพท์ :  สพฺพกิจฺจานิ  ยังกิจทั้งปวง   สมฺปาเทยฺยาถ  จงให้สำเร็จ   สติอวิปฺปวาเสน  ด้วยความไม่ประมาทคืออย่าขาดสติ

อิติ  ภควา  ปรินิพฺพานมญฺเจ  นิปนฺโน  ปญฺจจตฺตาลีสวสฺสานิ  ทินฺนํ  โอวาทํ  สพฺพํ  เอกสฺมึ  อปฺปมาทปเทเยว  ปกฺขิปิตฺวา  อทาสิ  ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงบรรทมที่เตียงปรินิพพาน ประทานพระโอวาทที่ประทานมา 45 พรรษา ทั้งหมดรวมลงในคำว่า “ไม่ประมาท” คำเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้

แปลยกศัพท์ :  ภควา   พระผู้มีพระภาค  นิปนฺโน   ทรงบรรทม  ปรินิพฺพานมญฺเจ  ที่เตียงปรินิพพาน  อทาสิ  ประทาน    โอวาทํ  พระโอวาท   ทินฺนํ   ที่ประทานมา   ปญฺจจตฺตาลีสวสฺสานิ   45 พรรษา  สพฺพํ  ทั้งหมด   ปกฺขิปิตฺวา  รวมลง   เอกสฺมึ  อปฺปมาทปเทเยว  ในคำว่า “ไม่ประมาท” คำเดียวเท่านั้น   อิติ  ด้วยประการฉะนี้

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 328

ดูก่อนภราดา!  บาลีบอกให้เรารู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว   แต่การเป็นคนดีหรือคนชั่ว เราทำตัวของเราเอง

บาลีวันละคำ (3,624) , ทองย้อย แสงสินชัย

ประวัติวันวิสาขบูชาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา ,  วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ ,  วิสาขบูชานุสติ , อปฺปมาเทน

Previous Post
Next Post

0 comments: