วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

บัณฑิตชนในครั้งพุทธกาลท่านศึกษาในอธิศีล

บัณฑิตชนในครั้งพุทธกาลท่านศึกษาในอธิศีล (คือรักษาอธิศีล อธิศีลในที่นี้หมายถึงศีล ๑๐ ซึ่งเรียกว่าอธิศีลเพราะเทียบกับศีล ๕) ชอบฟังพระสัทธรรม และปฏิบัติบำรุงพระสงฆ์ จึงไปสู่สุคติง่าย ฯ

สมดังที่พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้กับหัตถกเทพบุตรดังนี้ว่า “หัตถกะ ธรรมประจำตัวของท่านเมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ในกาลก่อน บัดนี้ยังมีอยู่ประจำตัวท่านบ้างไหม”

หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมประจำตัวของข้าพระองค์เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ในกาลก่อน มาบัดนี้ยังมีอยู่ประจำตัวของข้าพระองค์ และธรรมที่ไม่ได้มีอยู่ประจำตัวข้าพระองค์เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ในกาลก่อน มาบัดนี้กลับมีอยู่ประจำตัวข้าพระองค์  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในปัจจุบันนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่รายล้อมไปด้วยเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์แม้ฉันใด  ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รายล้อมไปด้วยเทพบุตรทั้งหลายอยู่ พวกเทพบุตรพากันมาจากถิ่นไกลด้วยตั้งใจว่าจักฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่อิ่มยังไม่เบื่อธรรม ๓ ประการก็จุติเสียก่อน (สมัยก่อนข้าพเจ้าทำบุญรักษาศีลไม่มีบริวาร แต่ตอนนี้กลับมีบริวารมาก แต่การเฝ้าพระพุทธเจ้าการฟังพระสัทธรรมและการบำรุงสงฆ์ข้าพเจ้าไม่เคยอิ่มเลย)

ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ข้าพระองค์ยังไม่อิ่ม ยังไม่เบื่อการเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคก็จุติเสียแล้ว

๒. ข้าพระองค์ยังไม่อิ่ม ยังไม่เบื่อการฟังสัทธรรมก็จุติเสียแล้ว

๓. ข้าพระองค์ยังไม่อิ่ม ยังไม่เบื่อการบำรุงพระสงฆ์ก็จุติเสียแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่อิ่ม ยังไม่เบื่อธรรม ๓ ประการนี้แล ก็จุติเสียแล้ว" ดังนี้ ฯ

หัตถกเทพบุตรได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า   “ความอิ่ม ในการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๑ ในการฟังสัทธรรม ๑ ในการบำรุงพระสงฆ์ ๑ จักมีในกาลไหนๆ เป็นแน่แท้ (ต้องมีสักวันหนึ่ง)

(แต่ข้าพระองค์) ผู้เป็นหัตถกอุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่เลย ยังยินดีในการฟังสัทธรรม ยังไม่อิ่มธรรม ๓ ประการ ก็ไปสู่พรหมโลกชั้นอวิหาเสียแล้ว (ไปเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหาเสียแล้ว) ดังนี้  ฯ

เพราะฉะนั้น จงอย่ารู้อิ่มการเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ การฟังพระสัทธรรมหรือการเรียนธรรม และการอุปถัมภ์บำรุงหมู่แห่งภิกษุผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยเถิด

สาระธรรมจากหัตถกสูตร ตติยปัณณาสก์ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย 

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ

17/5/65




Previous Post
Next Post

0 comments: