วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ?

ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ?

วันนี้อัญเชิญพระพุทธพจน์ในทุติยปาปณิกสูตร (พระสูตรว่าด้วยคุณสมบัติของพ่อค้า สูตรที่ ๒) ในปฐมปัณณาสก์ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย มาให้ท่านอ่านและได้พิจารณาเนื้อความแห่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์

“ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ไม่นานนักก็ถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ในโภคทรัพย์

องค์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ พ่อค้าในโลกนี้

๑. มีตาดี   ๒. มีธุรกิจดี   ๓. เพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย

๑. พ่อค้าชื่อว่ามีตาดี เป็นอย่างไร ?

คือ พ่อค้าในโลกนี้รู้จักสินค้าว่า “สินค้านี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปอย่างนี้ จักมีมูลค่าประมาณเท่านี้ มีกำไรเท่านี้” พ่อค้าชื่อว่ามีตาดี เป็นอย่างนี้แล

๒. พ่อค้าชื่อว่ามีธุรกิจดี เป็นอย่างไร ?

คือ พ่อค้าเป็นคนฉลาดซื้อและขายสินค้าได้ พ่อค้าชื่อว่ามีธุรกิจดี เป็นอย่างนี้แล

๓. พ่อค้าชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย เป็นอย่างไร ?

คือ คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก ย่อมรู้จักพ่อค้าในโลกนี้อย่างนี้ว่า “พ่อค้าผู้นี้แลมีตาดี มีธุรกิจดี และสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ทั้งใช้คืนให้แก่พวกเราได้ตามกำหนดเวลา” คหบดีหรือบุตรคหบดีเหล่านั้นย่อมเชื้อเชิญพ่อค้านั้นด้วยโภคทรัพย์ว่า “นับแต่นี้ไป ท่านจงนำโภคทรัพย์ไปเลี้ยงดูบุตรภรรยา และใช้คืนให้พวกเราตามกำหนดเวลา” พ่อค้าชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย เป็นอย่างนี้แล

พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ไม่นานนักก็ถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ในโภคทรัพย์ ฉันใด

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่นานนักก็บรรลุความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ในกุศลธรรม

ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. มีตาดี  ๒. มีธุระดี ๓. เพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย

๑. ภิกษุชื่อว่ามีตาดี เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ภิกษุชื่อว่ามีตาดี เป็นอย่างนี้แล

๒. ภิกษุชื่อว่ามีธุระดี เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่ามีธุระดี เป็นอย่างนี้แล

๓. ภิกษุชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย เป็นอย่างไร ?

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่าง ภิกษุชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย เป็นอย่างนี้แล

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่นานนักก็บรรลุความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ในกุศลธรรม” ดังนี้  ฯ

สาระธรรมจากทุติยปาปณิกสูตร ปฐมปัณณาสก์ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย 

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ , 11/5/65

เหตุเกิดแห่งอกุศลกรรม , การจะไปมาหาสู่เข้าเป็นพวกเดียวกัน หรือคบค้ากัน หรือคบค้าสมาคมกัน , อามิสกับธรรมพระพุทธองค์มักแสดงไว้คู่กันเสมอ , ไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย ,  เหตุไฉนผิวพรรณจึงผ่องใส ? , ทุกข์ปรากฎที่ไหนต้องดับที่นั้น , รู้เพื่อละ , การดับทุกข์ได้จริงและถูกต้อง ต้องไม่ทำบาปดับทุกข์ , การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเป็นการดี​ , ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว เมื่อจะแนะนำพร่ำสอนผู้อื่นต้องระวังให้มากขึ้นไปอีก  , ตราบใดที่ยังหมั่นทำความดีอยู่เสมอ ตราบนั้นชื่อว่ายังมีความหวัง , กรรมที่มีความเบียดเบียน คือกรรมที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน 

“อุโบสถเงินหลังแรกของโลก” วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่

อุโบสถเงินหลังแรกของโลก ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ย่านทำเครื่องเงินเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างจากแรงพลังศรัทธาของชาวบ้านชุมชนทำหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินท้องถิ่น

ตัวอุโบสถสร้างด้วยโลหะเงินและดีบุก ทั้งภายในและภายนอก เป็นอุโบสถทรงล้านนาที่มีความละเอียดงดงามของลวดลาย เป็นศิลปะแบบนูนต่ำ ภายในประดิษฐานองค์พระประธาน “พระพุทธปาฏิหาริย์ หรือ "พระพุทธปาฏิหาริย์”









Previous Post
Next Post

0 comments: