วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

มาตุคาม [2]  ไม่ใช่ “บ้านแม่” 

แต่หมายถึงผู้หญิง  อ่านว่า มา-ตุ-คาม   ประกอบด้วยคำว่า มาตุ + คาม

(๑) “มาตุ”  บาลีอ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก -

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ร ที่ ราตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > ม) 

: มานฺ > มา > ม + ราตุ > อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ”

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ป ที่ ปา เป็น ม (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม”

“มาตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มาตา” หมายถึง แม่ (mother) ใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

(1) มาตุ : (คำนาม) แม่. (ป.).

(2) มารดร, มารดา : (คำนาม) แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).

(๒) “คาม”   บาลีอ่านว่า คา-มะ ศัพท์นี้ไม่ใช่ “คาม” ที่หมายถึง หมู่บ้าน แต่ยังมีความหมายอื่นๆ อีก เมื่อเป็นคำที่ต่อท้าย “มาตุ” มาจากรากศัพท์ต่างกัน ดังนี้ -

(1) มาตุ (แม่) + คาม (ร่างกาย) 

มาตุ + คาม = มาตุคาม แปลว่า “ผู้มีร่างกายเหมือนร่างกายแห่งมารดา” 

คำแปลนี้ “คาม” หมายถึง “ร่างกาย” คือเปรียบ คาม = บ้าน เหมือนร่างกาย

(2) มาตุ (แม่) + คมฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ค-(มฺ) เป็น อา (คมฺ > คาม)

: มาตุ + คม = มาตุคมฺ + ณ = มาตุคมณ > มาตุคม > มาตุคาม แปลว่า “ผู้เป็นไปเหมือนมารดา” 

คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “คมฺ” ธาตุ แปลว่า “เป็นไป”

(3) มาตุ (แม่) + คมฺ (ธาตุ = ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ค-(มฺ) เป็น อา (คมฺ > คาม)

: มาตุ + คม = มาตุคมฺ + ณ = มาตุคมณ > มาตุคม > มาตุคาม แปลว่า “ผู้ถึงภาวะเสมอเหมือนมารดา” 

คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “คมฺ” ธาตุ แปลว่า “ถึง”

(4) มาตุ (แม่) + คสฺ (ธาตุ = กิน) + ม ปัจจัย, ลบ ส ที่สุดธาตุ (คสฺ > ค)

: มาตุ + คสฺ = มาตุคสฺ + ม = มาตุคสม > มาตุคม > มาตุคาม แปลว่า “ผู้กินเหมือนมารดา” 

คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “คสฺ” ธาตุ แปลว่า “กิน” (“กินเหมือนมารดา” ก็อย่างเช่น แม่ต้องให้ลูกได้กินก่อน ตัวเองจึงจะกิน)

(5) (4) มาตุ (แม่) + เค (ธาตุ = ส่งเสียง) + ม ปัจจัย, แปลง เค เป็น คา

: มาตุ + เค = มาตุเค + ม = มาตุเคม > มาตุคาม แปลว่า “ผู้ขับกล่อมเหมือนมารดา” 

คำแปลนี้ “คาม” มาจาก “เค” ธาตุ แปลว่า “ขับขาน, ขับกล่อม, ส่งเสียง”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มาตุคาม” ว่า แม่บ้าน, ผู้หญิง, สตรี 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาตุคาม” ว่า "genex feminarum," womanfolk, women (“มาตุคาม”, กลุ่มสตรี, พวกผู้หญิง)

สรุปว่า “มาตุคาม” หมายถึง ผู้หญิง, เพศหญิง คำนี้มักใช้ในเมื่อกล่าวถึงธรรมชาติธรรมดาของเพศหญิง 

คงมีหลายคนที่เข้าใจผิด คิดว่า “มาตุคาม” แปลว่า “บ้านแม่” หรือ “แผ่นดินแม่” หรือ “บ้านเกิดเมืองนอน” ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “มาตุภูมิ” 

ขยายความ : ในมหาปรินิพพานสูตร มีคำที่พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับท่าทีที่ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อ “มาตุคาม” และคำตรัสตอบของพระพุทธเจ้า ดังนี้

กถํ  มยํ  ภนฺเต  มาตุคาเม  ปฏิปชฺชามาติ  ฯ   พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติกับมาตุคามอย่างไร  พระพุทธเจ้าข้า

อทสฺสนํ  อานนฺทาติ  ฯ   ไม่มอง อานนท์

ทสฺสเน  ภควา  สติ  กถํ  ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ  ฯ  เมื่อจำเป็นต้องมอง จะพึงปฏิบัติอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า

อนาลาโป  อานนฺทาติ  ฯ  ไม่พูดด้วย อานนท์

อาลปนฺเต  ภนฺเต  กถํ ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ  ฯ  เมื่อจำเป็นจะต้องพูดด้วย จะพึงปฏิบัติอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า

สติ  อานนฺท  อุปฏฺฐาเปตพฺพาติ  ฯ   พึงตั้งสติไว้ อานนท์

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค, พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 132

ดูก่อนภราดา!  สติอย่าบกพร่อง  เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับมาตุคาม

บาลีวันละคำ (3,617) ,  ทองย้อย แสงสินชัย








Previous Post
Next Post

0 comments: