วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อน

ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อน

เมื่อเกิดกรณีใดๆ ขึ้นกับพระพุทธศาสนาในบ้านเรา ใครเคยสังเกตบ้างว่า ผู้ทำหน้าที่กระจายข่าวเขานิยมทำอะไรกัน  เท่าที่สังเกตเห็น เขานิยมเอาไมค์ไปจ่อปากคนที่คาดว่าน่าจะทำเงินจากการกระจายข่าวได้ดีมากๆ ถ้ามีความเห็นของคนชนิดนั้นอยู่ในข่าวด้วย  ผลก็คือ เกิดกระแสต่อเนื่องไปอีก ประเภท-คนนั้นว่ายังงั้น คนนี้ว่ายังงี้ บานปลายไปเรื่อยๆ 

แทนที่เรื่องนั้นจะจบลงด้วยดี มักกลายเป็นว่า-จบไม่ลง คือไม่มีใครได้ข้อยุติที่ถูกต้องว่าเรื่องนั้นมีหลักการหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง  ผมขอเสนอหลักปฏิบัติสักข้อ นั่นคือ เมื่อเกิดกรณีใดๆ ขึ้นกับพระพุทธศาสนา ขอให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อน

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว จะไปเฝ้าได้อย่างไร?

ไปได้ครับ ตามผมมาสิ

เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพานมีพระพุทธดำรัสผ่านพระอานนท์ว่า -

โย  โว  อานนฺท  มยา  ธมฺโม  จ  วินโย  จ    เทสิโต  ปญฺญตฺโต    โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา.

ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด  ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ  ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ  เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค , พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑

เป็นอันว่า พระธรรมวินัยคือองค์พระศาสดา พูดให้ชัดลงไปว่า พระธรรมวินัยนั่นเองคือพระพุทธเจ้า จะเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ต้องไปเฝ้าที่พระธรรมวินัย  แล้วพระธรรมวินัยอยู่ที่ไหน?

ตัวพระธรรมวินัยแท้ๆ อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของบุคคล   แล้วบุคคลเอาแบบแผนการประพฤติปฏิบัติมาจากไหน?

จะตอบข้อนี้ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่ว่า-พระพุทธศาสนาที่เรารู้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ไม่ใช่ครูบาอาจารย์คนไหนคิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้เมื่อประมาณ ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว  ถึงตรงนี้ก็ต้องย้อนหลังไปถึงสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อตรัสรู้แล้วทรงใช้เวลาประกาศพระศาสนาตลอดพระชนมชีพเป็นเวลา ๔๕ ปี มีผู้รู้ตาม ปฏิบัติตาม บรรลุธรรมตามเป็นจำนวนมาก  

เนื่องจากการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าในเวลานั้นใช้วิธีพูดให้ฟัง อธิบายให้ฟัง แนะนำให้เข้าใจ แล้วบรรดาผู้ฟังก็จำได้ เข้าใจได้ ปฏิบัติตามได้ พระธรรมวินัยจึงกระจายอยู่ในหมู่สาวก ไม่ได้รวบรวมหรือบันทึกไว้เป็นต้นฉบับในที่เดียวกัน 

เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปได้ ๓ เดือน พระอรหันตเถระจึงได้ประชุมกันรวบรวมหลักคำสอนของพระองค์ให้เป็นหมวดหมู่ และเพราะเป็นระยะเวลาที่ยังมีพระสงฆ์สาวกที่ทันรู้ทันเห็นทันได้ฟังธรรมจากพระองค์โดยตรงอยู่เป็นจำนวนมาก การรวบรวมหลักคำสอนที่กระทำกันในเวลานั้นจึงเป็นหลักประกันได้ว่าเป็นหลักคำสอนที่ถูกต้องตรงจริงแท้ เป็นอย่าง-ได้ฟังมาโดยตรงจากพระโอษฐ์ ไม่ใช่ฟังสืบต่อกันมาจากครูบาอาจารย์อย่างที่นิยมอ้างกันในสมัยนี้

การประชุมรวบรวมคำสอนเช่นนั้นมีคำเรียกว่า “สังคายนา” หรือ “สังคีติ” และมีระบบการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเพื่อให้ถูกต้องแม่นยำตรงกัน จนถึงได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานที่เรียกรู้กันในบัดนี้ว่า “พระไตรปิฎก”

พระไตรปิฎกจึงเป็นแหล่งรวบรวมพระธรรมวินัยอันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา  พระธรรมวินัยคือองค์พระศาสดา พระธรรมวินัยนั่นเองคือพระพุทธเจ้า จะเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จึงต้องไปเฝ้าที่พระธรรมวินัย ด้วยประการฉะนี้  พระธรรมวินัยบันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎก

การศึกษา สอบสวน ตรวจทานพระไตรปิฎกจนเข้าใจหลักพระธรรมวินัยถูกต้อง ทำอย่างนี้แหละคือที่ผมเรียกว่า-ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อน

เมื่อเกิดกรณีใดๆ ขึ้นกับพระพุทธศาสนาในบ้านเรา วิธีที่ถูกต้องก็คือศึกษา สอบสวน ตรวจทานพระไตรปิฎกว่ากรณีนั้นๆ ในพระไตรปิฎกแสดงไว้อย่างไร  และเนื่องจากคนรุ่นเราไม่ใช่รุ่นแรกที่เพิ่งอ่านพระไตรปิฎก หากแต่มีคนศึกษา สอบสวน ตรวจทานมาก่อนเราแล้วหลายรุ่น และได้บันทึกผลการศึกษาที่เรียกว่า อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ไว้เป็นหลักฐานอีกมากมาย หลักฐานเหล่านี้มีอยู่พร้อม เราก็ต้องตรวจสอบทบทวนดูด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ เรื่องนั้นๆ กรณีนั้นๆ บูรพาจารย์ร่วมสมัยใกล้กับพวกเรา แต่ท่านเกิดก่อน ศึกษาเรื่องนั้นๆ มาก่อนเรา ท่านได้แสดงมติในเรื่องนั้นๆ กรณีนั้นๆ ไว้อย่างไรบ้าง นั่นก็ควรจะต้องตรวจสอบทบทวนดูด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวนี้ เราก็จะได้คำตอบจากพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติอย่างพร้อมมูลพอที่จะยุติได้ว่าเรื่องนั้นกรณีนั้นควรเข้าใจอย่างไรและควรปฏิบัติอย่างไร และนั่นแหละเท่ากับว่าเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้คำตอบจากพระพุทธเจ้าแล้ว  ไม่จำเป็นต้องเอาไมค์ไปจ่อปากใครเพื่อจะหาคำตอบ-ซึ่งเมื่อได้มาแล้วก็ยังเป็นเพียงความเห็นของบุคคล-แต่ประการใดเลย

ต่อเมื่อไม่พบคำตอบในพระไตรปิฎกและในที่อื่นๆ อีกแล้ว หรือพบคำตอบแต่ยังไม่ชัดเจน นั่นแหละจึงค่อยถามความเห็นจากตัวบุคคลหรือแสดงความเห็นของเราเอง เพื่อให้สังคมมองเห็นข้อยุติที่ควรจะเป็น  แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำตามหลักการนี้

เกิดกรณีอะไรขึ้น วิ่งไปถามคนนั้นที คนนี้ที ไม่มีใครคิดจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อนเลย

มิใช่เพียงแค่นั้น ยังมีทัศนคติในทางลบอีกด้วย เช่นกระแหนะกระแหนว่า คำก็พระไตรปิฎก สองคำก็พระไตรปิฎก คิดอะไรเองไม่เป็น นี่ถ้าไม่มีพระไตรปิฎกคงไปไหนไม่ถูกกระมัง  บางทีก็เรียกว่า นักคัมภีร์ ติดคัมภีร์ กอดคัมภีร์ไม่ยอมปล่อย

ผมว่าต้องทำความเข้าใจกันใหม่

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านประกาศสั่งสอนไว้ เราไม่ได้เป็นคนคิดคำสอนขึ้นมาเอง เราไม่ได้เป็นเจ้าของคำสอน

คำสอนของพระพุทธเจ้าท่านบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก หรือที่เรียกว่าคัมภีร์   อยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรก็ต้องศึกษาจากคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งคัมภีร์ประกอบ ไม่ใช่คิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง

การกระทำอย่างนี้ใครจะเรียกว่ากอดคัมภีร์ไม่ยอมปล่อยก็เรียกได้ แต่ถ้าไม่ศึกษาหาคำตอบจากคัมภีร์ ถามหน่อยว่าจะได้คำตอบจากไหน 

จากอาจารย์คนนั้นคนนี้คนโน้น  แล้วอาจารย์คนนั้นคนนี้คนโน้นไปเอาคำตอบมาจากไหน  จะเห็นได้ว่า ในที่สุดแล้วก็จะไปสุดทางอยู่ที่พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกเชื่อได้หรือไม่ได้ พระอภิธรรมไม่ใช่พระพุทธพจน์ พระสูตรนั้นไม่ใช่พระพุทธพจน์ ฯลฯ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ใครสนใจ ไปตั้งเวทีว่ากันโดยตรงได้เลย ไม่มีใครห้าม  แต่เวลานี้ พระพุทธศาสนาของเรามีพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานกลางอยู่แล้ว เปรียบเหมือนบ้านเมืองมีกฎหมายต่างๆ ใช้บังคับอยู่ เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติบางมาตราในกฎหมายบางฉบับ หรือแม้กระทั่งไม่เห็นด้วยทั้งฉบับ แต่เมื่อกฎหมายนั้นยังใช้บังคับอยู่ เราก็ต้องปฏิบัติตามในส่วนที่เราเกี่ยวข้อง จะไม่ปฏิบัติตามโดยอ้างว่าเราไม่เห็นด้วย ย่อมไม่ถูกต้อง

เมื่อเรายังอยู่ในพระพุทธศาสนา-โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่ยังอยู่ในพระธรรมวินัย-เราก็ต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนคือหลักพระธรรมวินัย   จะเป็นอย่างไรถ้ามีพระภิกษุออกมาประกาศว่า อาตมาไม่เห็นด้วยกับศีลข้อนั้น เพราะฉะนั้นอาตมาจึงมีสิทธิ์ที่จะไม่ถือตามพุทธบัญญัติ?

ศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อาจริยมติ ให้ทั่วถึงก่อน ก็จะได้ความรู้อันเป็นตัวหลักเกณฑ์หลักการที่ท่านกำหนดไว้เพียงพอที่จะยุติได้ว่ากรณีนั้นเรื่องนี้อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำอย่างไรอะไรควรเป็นอย่างไร

ต่อจากนั้น ถ้ายังไม่จุใจกับหลักการที่ท่านแสดงไว้ เรามีความเห็นอย่างไร คราวนี้แหละเป็นสิทธิของเราที่จะแสดงออกไปได้อย่างเต็มที่ แต่แม้กระนั้นก็ต้องแยกไว้ให้ชัดว่านี่เป็นความเห็นของเรา

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ 

มีกรณีอะไรเกิดขึ้น แต่ละคนก็เอาความเห็นของตนนำหน้ามาก่อนเลย หลักเกณฑ์หลักการในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อาจริยมติ ว่าไว้อย่างไร ไม่เรียน ไม่รู้ และไม่รับรู้ด้วย  ที่หนักไปกว่านี้ก็คือ ยืนยันเสียด้วยว่าความเห็นของข้าพเจ้านี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา

เวลานี้กำลังตกลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือเกิดแนวคิดว่า การไม่ศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อาจริยมติ ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แม้แต่ในหมู่พระภิกษุสามเณรซึ่งการศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อาจริยมติ เป็นหน้าที่โดยตรงแท้ๆ ก็พากันคิดอย่างนี้ไปด้วย ดังเหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างและมีผู้เห็นด้วยอยู่โดยทั่วไปว่า การศึกษาพระไตรปิฎกควรเป็นไปตามอัธยาศัย

การที่ใครจะปฏิบัติธรรมคือเจริญสมถวิปัสสนาควรเป็นไปตามอัธยาศัย นี่ก็อ้างกันมานานแล้ว

การที่ใครจะศึกษาพระไตรปิฎกควรเป็นไปตามอัธยาศัย นี่กำลังอ้างกันอยู่

มั่นใจได้เลยว่าในอนาคตอันไม่ไกลนักนี้จะมีคนยกเหตุผลขึ้นมาอ้างว่า - ศีล ๒๒๗ ข้อ ใครจะรักษาข้อไหน ไม่รักษาข้อไหน ควรเป็นไปตามอัธยาศัย

ถึงตอนนั้น พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน แม้มีคนอยากจะไปเฝ้าก็คงไม่มีใครไปถูกกันอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ยังพอจะรู้จักทางและพากันไปได้ถูก เมื่อเกิดกรณีใดๆ ขึ้นกับพระพุทธศาสนา ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อนนะครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ,  ๑๑:๔๙

เรื่องราวของการสังคายนา ครั้งแรก (ตอนจบ) เรื่องราวของการสังคายนา ครั้งแรก (ตอน 3)เรื่องราวของการสังคายนา ครั้งแรก (ตอน 2)เรื่องราวของการสังคายนา ครั้งแรก (ตอน 1)พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงร่วมปฏิรูปพระศาสนา   จั  บ   สึ   ก   พระอลัชชี , กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),   (ตอนที่ 4)หมอรักษาพระพุทธเจ้า,  ไม่ฉันเนื้อใน 3 กรณีเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม,  พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์,  ตถาคตเลิกให้พรแล้วคุณ 5 ข้อของการนอนแบบมีสติรู้ตัว,  แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),  (ตอนที่ 4),   (ตอนที่ 5),  (ตอนจบ),  "คว่ำบาตร" มีที่มาอย่างไร,  เรื่องไม้ชำระฟัน ,  ดูแลภิกษุอาพาธ , วันมาฆบูชา , โอวาทปาฏิโมกข์ - Ovādapātimokkha






Previous Post
Next Post

0 comments: