วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ติตฺถชาตกํ - ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก

ติตฺถชาตกํ - ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก

อญฺญมญฺเญหิ  ติตฺเถหิ,    อสฺสํ  ปาเยหิ  สารถิ;
อจฺจาสนสฺส  ปุริโส,    ปายาสสฺสปิ  ตปฺปตีติ ฯ

"ดูกรนายสารถี ท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มน้ำที่ท่าโน้นบ้าง ท่านี้บ้าง, แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คนก็ยังเบื่อได้."

อรรถกถาติตถชาดก 

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหารทรงปรารภภิกษุผู้เคยเป็นช่างทองรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อญฺญมญฺเญหิ  ติตฺเถหิ  ดังนี้. 

ก็อาสยานุสยญาณย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ย่อมไม่มีแก่ คนอื่น เพราะฉะนั้น พระธรรมเสนาบดีจึงไม่รู้อาสยะคืออัธยาศัยและอนุสัยคือกิเลสอันเนื่องอยู่ในสันดานของสัทธิวิหาริก เพราะความที่คนไม่มีอาสยานุสยญาณ จึงบอกเฉพาะอสุภกรรมฐานเท่านั้น อสุภกรรมฐานนั้นไม่เป็นสัปปายะแก่สัทธิวิหาริกนั้น. 

เพราะเหตุไร เพราะ ได้ยินว่า สัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดีนั้น ถือปฏิสนธิในเรือนของช่างทองเท่านั้น ถึง ๕๐๐ ชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น อสุภกรรมฐานจึงไม่เป็นสัปปายะแก่สัทธิวิหาริกนั้น เพราะเป็นผู้เคยชินต่อการเห็นทองคำบริสุทธิ์เท่านั้น เป็นเวลานานี้ สัทธิวิหาริกนั้น ไม่อาจทำแม้มาตรว่า นิมิตให้เกิดขึ้นในกรรมฐานนั้น ให้เวลาสิ้นไป ๔ เดือน. 

พระธรรมเสนาบดีเมื่อไม่อาจให้พระอรหัตแก่สัทธิวิหาริกของตน จึงคิดว่า ภิกษุนี้จักเป็นพุทธเวไนยแน่นอน เราจักนำไปยังสำนักของพระตถาคต จึงพาสัทธิวิหาริกนั้น ไปยังสำนักของพระศาสดาด้วยตนเอง แต่เช้าตรู่. 

พระศาสดาตรัสถามว่า „สารีบุตร เธอพาภิกษุรูปหนึ่งมาหรือหนอ?“. 

พระสารีบุตรกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ให้กรรมฐานแก่ภิกษุนี้แก่ภิกษุนี้ไม่อาจทำแม้มาตรว่า นิมิตให้เกิดขึ้น โดยเวลา ๔ เดือน, ข้าพระองค์นั้นคิดว่า ภิกษุนี้จักเป็นพุทธเวไนยผู้ที่พระพุทธเจ้าจะพึงทรงแนะนำ จึงได้พามายังสำนักของพระองค์ พระเจ้าข้า".

พระศาสดาตรัสถามว่า „สารีบุตร เธอให้กรรมฐานชนิดไหนแก่สัทธิวิหาริกของเธอ ? „ พระสารีบุตรกราบทูลว่า „ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ให้อสุภกรรมฐาน พระเจ้าข้า“.

พระศาสดาตรัสว่า „สารีบุตร เธอไม่มีญาณเครื่องรู้อัธยาศัยและอนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย เธอไปก่อนเถิด เวลาเย็นเธอมา พึงพาสัทธิวิหาริกของเธอมาด้วย“.

พระศาสดาทรงส่งพระเถระไปอย่างนี้แล้วได้ให้ผ้านุ่งและจีวรอันน่าชอบใจแก่ภิกษุนั้นแล้วทรงพาภิกษุนั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน ให้ของเคี้ยวของฉันอันประณีต แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่กลับ มายังพระวิหารอีกทรงยังเวลาส่วนกลางวันให้สิ้นไปในพระคันธกุฎี พอเวลาเย็นทรงพาภิกษุนั้นเที่ยวจาริกไปในวิหารแล้วทรงนิรมิตสระโบกขรณีสระหนึ่งในอัมพวันแล้วทรงนิรมิตกอปทุมใหญ่ในสระโบกขรณีนั้นและทรงนิรมิตดอกปทุมใหญ่ดอกหนึ่งในกอปทุมแม้นั้นแล้วรับสั่งให้นั่งลงด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุ เธอจงนั่งแลดูดอกปทุม นี้แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี. ภิกษุนั้นแลดูดอกปทุมนั้นบ่อย ๆ. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ดอกปทุมนั้นเหี่ยว. ดอกปทุมนั้น เมื่อภิกษุนั้นแลดูอยู่นั่นแหละได้เหี่ยวเปลี่ยนสีไป ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น กลีบของดอกปทุมนั้นก็ร่วงไปตั้งแต่รอบนอกได้ร่วงไปหมดโดยครู่เดียว. แต่นั้น เกสรก็ร่วงไปเหลืออยู่แต่ผักบัว. ภิกษุนั้น เห็นอยู่ตั้งนั้นจึงคิดว่า ดอกปทุมนี้ได้งดงามน่าดูอยู่เดียวนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น สีของมันก็แปรไป กลีบและเกสรร่วงไป ตั้งอยู่แต่เพียงผักบัวเท่านั้น ความชราถึงแก่ดอกปทุมชื่อเห็นปานนี้ อย่างไรจักไม่ถึงร่างกายของเรา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ จึงเริ่มเจริญวิปัสสนา พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของภิกษุนั้น ขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว ประทับอยู่ในพระคันธุฎีนั่นแลทรงเปล่งโอภาสแสงสว่างไปแล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

„เธอจงตัดความสิเนหาของตนเสีย เหมือนคน ตัดดอกโกมุทอันเกิดในสารทกาล เธอจงพอกพูนทางแห่งความสงบ เพราะพระนิพพาน ตถาคตแสดงไว้แล้ว“. 

ในเวลาจบคาถา ภิกษุนั้นบรรลุพระอรหัตแล้วคิดว่า เราเป็นผู้พ้นแล้วหนอจากภพทั้งปวง จึงเปล่งอุทานด้วยคาถาทั้งหลายมีอาทิว่า :-  

„เรานั้น มีธรรมเครื่องอยู่อันอยู่จบแล้ว มีฉันทะ ในใจบริบูรณ์แล้ว มีอาสวะสิ้นไปแล้วทรงไว้ซึ่งร่างกายครั้งสุดท้าย มีศีลบริสุทธิ์ มีอินทรีย์ตั้งมั่นด้วยดี ที่สุดพ้นแล้ว เหมือนพระจันทร์พ้นจากปาก ของราหูฉะนั้น, 

เราบรรเทามลทินทั้งปวงอันกระทำ ความมืด ซึ่งมืดมนอนธถารเพราะโมหะได้เด็ดขาด เหมือนพระอาทิตย์มีรัศมีตั้งพัน ผู้สร้างแสงสว่าง ทำ ความโซติช่วงด้วยแสงสว่างในท้องฟ้าฉะนั้น“. 

ก็แหละครั้นเปล่งอุทานแล้วจึงมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระเถระก็มาถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้พาสัทธิวิหาริกของตนไป. ข่าวนี้เกิดปรากฏในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. 

ภิกษุทั้งหลายนั่งพรรณนาพระคุณของพระทศพลอยู่ในโรงธรรมสภาว่า „อาวุโสทั้งหลาย พระสารีบุตรเถระไม่รู้อัธยาศัยของสัทธิวิหาริกของตน เพราะไม่มีอาสยานุสยญาณ แต่พระศาสดาทรงทราบได้ประทานพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแก่ภิกษุนั้น โดยวันเดียวเท่านั้น โอ! ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีอานุภาพมาก" 

พระศาสดาเสด็จมาแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้วตรัสถามว่า „ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า „ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพวกข้าพระองค์นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอื่นหามิได้ แต่นั่งสนทนากันด้วยเรื่องพระญาณเครื่องรู้อัธยาศัยและอนุสัยแห่งสัทธิวิหาริกของพระธรรม เสนาบดีเฉพาะของพระองค์เท่านั้น“.

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่น่าอัศจรรย์ บัดนี้ เรานั้นเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมรู้อัธยาศัยของภิกษุนั้นแม้ในกาลก่อน เราก็รู้อัธยาศัยของภิกษุนั้นเหมือนกัน“, แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสีในกาลนั้น  พระโพธิสัตว์อนุศาสน์อรรถและธรรมกะพระราชาพระองค์นั้น. ในกาลนั้น พวกคนเลี้ยงม้าให้ม้ากระจอกขาเขยกอาบก่อนกว่า ม้าอื่น ณ ท่าที่ม้า มงคลของพระราชาอาบ. ม้ามงคลถูกให้ลงท่าที่ม้ากระจอกอาบ จึงเกลียดไม่ปรารถนาจะลง คนเลี้ยงม้ามากราบทูลแด่พระราชาว่า „ข้าแต่สมมติเทพ ม้ามงคลไม่ปรารถนาจะลงท่าน้ำ พระเจ้าข้า“.

พระราชาทรงสั่งพระโพธิสัตว์ไปว่า „ดูก่อนบัณฑิตท่านจงไป จงรู้ว่า เพราะเหตุไร ม้าถูกเขาให้ลงท่าน้ำจึงไม่ลง“. 

พระโพธิสัตว์ทูลรับพระบัญชาแล้วไปยังฝั่งแม่น้ำ ตรวจดูม้าก็รู้ว่า ม้าไม่มีโรค จึงใคร่ครวญว่า เพราะเหตุไรหนอ? ม้านี้จึงไม่ลงท่านจึงคิดว่า ม้าอื่นจักถูกอาบที่ท่านี้ก่อน ด้วยเหตุนั้น ม้านั้นเห็นจะรังเกียจจึงไม่ลงท่าแล้วถามพวกคนเลี้ยงม้าว่า „ท่านผู้เจริญ ที่ท่านี้ท่านทั้งหลายให้ม้าอะไรอาบก่อน?. พวกคนเลี้ยงม้ากล่าวว่า „ข้าแต่นายให้ม้ากระจอกอาบก่อนกว่า ม้าอื่น“.

พระโพธิสัตว์รู้อัธยาศัยของม้านั้นว่า „ม้านี้รังเกียจจึงไม่ปรารถนาจะอาบที่ท่านี้ เพราะตนเป็นสัตว์มี(คุณ) สมบัติ การให้ม้านี้อาบในท่าอื่น จึงจะควร“, จึงกล่าวว่า „ท่านผู้เลี้ยงม้าผู้เจริญ แม้ข้าวปายาสที่ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเมื่อบุคคลบริโภคบ่อย ๆ ก่อน ย่อมมีความเบื่อ, ม้านี้อาบที่ท่านให้ลายครั้งเบื้องต้น พวกท่านจงให้ม้านั้น ลงยังท่าแม้อื่นแล้วให้อาบและดื่ม“ จึงกล่าวคาถานี้ว่า :- 

„ดูก่อนนายสารถีท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มที่ ท่าโน้นท่านี้บ้าง แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คน ย่อมอิ่มได้“.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อญฺญมญฺเญหิ  แยกศัพท์ออกเป็น อญฺเญหิ อญฺเญหิ แปลว่า อื่น ๆ.        บทว่า  ปาเยหิ  (แปลว่า จงให้ดื่ม)นี้เป็นหัวข้อเทศนา อธิบายว่า จงให้อาบและให้ดื่ม.  บทว่า  อจฺจาสนสฺส  นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัติใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัติ อธิบายว่า กินยิ่ง คือบริโภคยิ่ง.  บทว่า  ปายาสสฺสปิ  ตปฺปติ  ความว่า ย่อมอิ่มคือเป็นผู้อิ่ม เป็นผู้ที่เขา เลี้ยงดูอิ่มแล้ว แม้ด้วยข้าวมธุปายาสที่ปรุงด้วยเนยใสเป็นต้น ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้ต้องการบริโภคอีก เพราะฉะนั้น ม้าแม้นี้ก็จักถึงความพอ เพราะการอาบประจำที่ท่านี้ท่านจงให้อาบที่ท่าอื่นเถิด. 

คนเลี้ยงม้าเหล่านั้นได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้วจึงให้ม้าลงท่าอื่น ให้ดื่มและให้อาบ ในเวลาที่ม้าดื่มน้ำแล้วอาบ พระโพธิสัตว์ได้มายังสำนักของพระราชา.

พระราชาตรัสถามว่า „ดูก่อนพ่อ ม้าอาบและดื่มแล้วหรือ?“ 

พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า „พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ“.

พระราชาตรัสถามว่า „ทีแรก เพราะเหตุไร ม้าจึงไม่ปรารถนา?" 

พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ เพราะเหตุชื่อแม้นี้“, แล้วกราบทูลเหตุทั้งปวง. 

พระราชาตรัสว่า „โอ! ท่านบัณฑิต ย่อมรู้อัธยาศัยชื่อแม้ของสัตว์ดิรัจฉานเห็นปานนั้น“ แล้วประทานยศใหญ่แก่พระโพธิสัตว์ ในเวลาสิ้นอายุได้เสด็จไปตามยถากรรมแล้ว. 

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ไปตามยถากรรมเหมือนกัน.

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรารู้อัธยาศัยของภิกษุนี้ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็รู้เหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบต่ออนุสนธิแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า „ม้านงคลในกาลนั้น.ได้เป็นภิกษุรูปนี้ พระราชาในกาลนั้นได้เป็นพระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้นได้เป็นเราตถาคตแล“.

24. ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก 23. ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย , 22. ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21. ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20. เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด , 19. ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18. ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14. ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. ว่าด้วยการเลือกคบ , 11. ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 9. ว่าด้วยเทวทูต , 8. ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 7. ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  6. ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 5. ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  4. ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 3.  ว่าด้วยเสรีววาณิช , 2. ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 1. ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 

 วัดหนองจับเต่า อำเภอบางละมุง ชลบุรี 




Previous Post
Next Post

0 comments: