วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๑)

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๑)

1. พระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

สิทธัตถะโคตม หรือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือที่นิยมเรียกว่า พระพุทธเจ้า เป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา เป็นผู้สั่งสอนพระธรรมวินัยซึ่งต่อมาเรียกว่าพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทถือว่าการเรียกพระพุทธเจ้าโดยออกนามโคตรนั้นเป็นการไม่เคารพ เช่นเรียกว่า พระสมณโคดม เป็นต้น ทำให้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มักเรียกพระพุทธองค์โดยใช้ศัพท์ว่า สตฺถา ที่แปลว่า พระศาสดา แทน ปัจจุบันชาวพุทธนิยมเรียก พระโคตมพุทธเจ้า ว่า พระพุทธเจ้า

เหตุที่ทำให้ต้องเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันโดยออกชื่อนามโคตร (ชื่อสกุล) นั้น เพราะว่าในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถือว่าพระพุทธเจ้า หรือผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวงเองนั้น เคยมีมาแล้วในอดีตนับประมาณไม่ได้ การเรียกโดยระบุนามโคตรของพระองค์ จึงเป็นการเจาะจงว่า หมายเฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันซึ่งกำเนิดในโคตมโคตร) เท่านั้น

โดยตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน นับถือตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้า ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ ๕๔๓ ปีก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ ๔๘๓ ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล

พระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระราชโอรสผู้ทรงดำรงตำแหน่งแห่งศากยมกุฏราชกุมารของ พระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายา แห่งศากยวงศ์โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาแต่ช้านาน มีพระนามแต่แรกประสูติว่า สิทธัตถะ หรือ สิทธารถ (สิดทาด) เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้รับการถวายพระนามต่างๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม และพระโคตมพุทธเจ้า ทั้งนี้ ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า “ตถาคต” แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น คือทรงปฏิญาณว่าทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่สภาพเช่นนั้น อันได้แก่การดับทุกข์ กล่าวคือสภาวะแห่งอรหัตตผลแล้ว

2. พระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา

ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งปกครองโดยพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ผู้ที่จะเป็นพุทธบิดาและพุทธมารดาในกาลต่อมา

3. เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็น สันดุสิตเทพบุตร ในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุมปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่างก็เล็งว่าพระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมาโปรดสัตว์โลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งใจไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติอันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า

ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ อันได้แก่

๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ ความอดทนสูงสุด

๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียรสูงสุด

๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความเมตตาสูงสุด

๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์

๕. พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความมีปัญญาสูงสุด

๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด

๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดกลั้นสูงสุด

๘. พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การมีอุเบกขาสูงสุด

๙. พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด

๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การรู้จักให้ทานสูงสุด

บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความอัศจรรย์เหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ครั้งใด เราชื่อว่าท้าวสันดุสิตอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุก็พากันประคองอัญชลีอ้อนวอนเราว่า

ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์เมื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มิใช่ปรารถนาสมบัติท้าวสักกะ มิใช่ปรารถนาสมบัติมาร มิใช่ปรารถนาสมบัติพรหม มิใช่ปรารถนาสมบัติจักรพรรดิ แต่พระองค์ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพื่อช่วยขนสัตว์ข้ามโอฆสงสาร ด้วยเหตุนั้นท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า

(เทวดาในหมื่นโลกธาตุทูลวอนว่า) ข้าแต่พระมหาวีระ นี้เป็นกาลสมควรสำหรับพระองค์ ขอพระองค์โปรดอุบัติในพระครรภ์พระมารดา ขอพระองค์เพื่อจะทรงช่วยมนุษยโลกพร้อมเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร โปรดจงตรัสรู้อมตบทเถิด

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ แม้ถูกเทวดาทั้งหลายทูลวอนขอ ก็มิได้ประทานปฏิญญาคำรับรองแก่เทวดาทั้งหลาย แต่ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ คือ กำหนดกาล ทวีป ประเทศ ตระกูล พระชนมายุของพระชนนี

บรรดามหาวิโลกนะ ๕ นั้น ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า เป็นกาลสมควรหรือยังไม่เป็นกาลสมควร ในกาลนั้น อายุกาล (ของสัตว์) สูงกว่าแสนปีขึ้นไป ยังไม่ชื่อว่ากาล เพราะเหตุไร เพราะทุกข์มีชาติชรามรณะเป็นต้นไม่ปรากฏ ก็ธรรมดา พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ชื่อว่าพ้นจากไตรลักษณ์ ไม่มีเลย เมื่อพระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสว่า อนิจจัง ทุกขัง ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสเรื่องอะไร แต่นั้นการตรัสรู้ก็ไม่มี เมื่อการตรัสรู้นั้นไม่มี คำสั่งสอนก็ไม่เป็นนิยยานิกกะนำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น กาลนั้นจึงไม่เป็นกาลสมควร

แม้อายุกาล (ของสัตว์) ต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังไม่เป็นกาลสมควร เพราะเหตุไร เพราะกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น และโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสหนาแน่น ไม่อยู่ในฐานะควรโอวาท เพราะฉะนั้น กาลแม้นั้นก็ไม่เป็นกาลสมควร อายุกาลอย่างต่ำตั้งแต่แสนปีลงมา อย่างสูงตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่ากาลสมควร บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีอายุร้อยปี เพราะเหตุนั้น ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าเป็นกาลที่ควรบังเกิด

ต่อนั้น ทรงตรวจดูทวีป ทรงเห็นทวีปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในชมพูทวีปเท่านั้น ธรรมดาชมพูทวีป เป็นทวีปใหญ่มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์

เมื่อทรงตรวจดูประเทศว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในประเทศไหนหนอ ก็ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ

ต่อจากนั้นก็ทรงตรวจดูตระกูลว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในตระกูลที่โลกสมมติ บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์เป็นตระกูลที่โลกสมมติ จำเราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์นั้น พระราชาพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ จักเป็นพระราชชนกของเรา

แต่นั้นก็ตรวจดูพระชนนีว่า สตรีนักเลงสุราเหลวไหลจะเป็นพุทธมารดาไม่ได้ จะต้องเป็นสตรีมีศีล ๕ ไม่ขาด ดังนั้น พระราชเทวีพระนามว่า มหามายานี้ก็เป็นเช่นนี้ พระนางสิริมหามายา จักเป็นพระราชชนนีของเรา เมื่อทรงนึกว่าพระนางเจ้าจะทรงมีพระชนมายุได้เท่าไร ก็ทรงเห็นว่าได้ต่อไปอีก ๗ วัน หลังครบทศมาสแล้ว

ครั้งทรงตรวจมหาวิโลกนะ ๕ ประการนี้แล้ว ก็ประทานปฏิญญาแก่เทวดาทั้งหลายว่า เป็นกาลสมควรที่เราจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ในภพดุสิตนั้นตลอดชนมายุแล้วจุติจากภพดุสิตนั้น ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาเทวีในราชสกุลศากยะ

4. พระนางสิริมหามายาทรงสุบินนิมิต

ตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้า กำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงมาบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา กับพระนางสิริมหามายา พระราชมารดา ได้อภิเษกสมรสไม่นาน

คืนวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายา กำลังบรรทมหลับสนิทในพระแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่า พระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูง เข้ามาหาพระนาง ปฐมสมโพธิพรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ชูงวงอันจับ บุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี...”

ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่า เป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระราชมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณนาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระราชมารดาว่า

“...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใด ก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างพื้นพระอุทรแห่งพระราชมารดา ดุจสุวรรณปฏิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่พระโพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี...”

วันที่พระโพธสัตว์เจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์นั้น กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณนาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้น เช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับได้ยิน

ตอนนั้นถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่า กลองทิพย์บันลือลั่นนั้นคือ “นิมิต” หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอด หูหนวก คือ คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้ว จะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้ง มองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง

5. พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว

ภาพนี้เป็นตอนประสูติ คนที่เคยอ่านพุทธประวัติหรือปฐมสมโพธิ และเคยเห็นภาพตามผนังโบสถ์ในวัดมาแล้ว คงพอเข้าใจและดูออกว่าคืออะไร

ทารกที่เห็นนั้นคือ เจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวา และเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลี แปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว”

กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายา ส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้น คือ พระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ่งไม้ ต้นไม้ใหญ่นี้คือ ต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่า ไม้รัง หรือเต็งรัง อย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นพันธุ์ไม้หนึ่งในตระกูลยาง ซึ่งมีอยู่ในอินเดีย ที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย

สถานที่ประสูตินี้ เรียกว่า “ลุมพินี” อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล

แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ เมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือ กบิลพัสดุ์ และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเมืองเทวทหะเป็นเมืองแม่ พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวทหะ กษัตริย์และเจ้านายสองเมืองนี้ ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส

เมื่อ พระนางสิริมหามายา จวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาราชพระสวามีคือพระเจ้าสุทโธทนะ เพื่อประสูติพระราชโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ว่า สตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางสิริมหามายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเสียก่อน เลยจึงประสูติที่นั่น วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้น คือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖

ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๑) ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๒)ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๓)ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๔)ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๕)ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๖)ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๗)

Previous Post
Next Post

0 comments: