วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ถ้าขาดธรรมะแล้ว ประกอบกิจการใดๆ ก็จะเกิดความร้อนใจเป็นทุกข์

ถ้าขาดธรรมะแล้ว ประกอบกิจการใดๆ ก็จะเกิดความร้อนใจเป็นทุกข์

คนเป็นห่วงแต่เรื่องกิน เรื่องได้ เรื่องวัตถุสิ่งของ มากเกินไป จึงได้เข้าใจผิดว่า ธรรมะกับคนนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ หรือธรรมะอยู่กับโลกไม่ได้ แยกธรรมะออกจากโลกเป็นของตรงกันข้าม เป็นคู่ปรับอย่างตรงกันข้าม อยู่ด้วยกันไม่ได้ อย่างนี้ก็มี.

เมื่อชักชวนว่า ให้ประพฤติธรรมะ ก็บอกว่ายังไม่ได้ เพราะยังมีเรื่องทางโลกที่จะต้องทำ จะต้องทำมาหากิน นี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดต่อธรรมะ เพราะว่าธรรมะนั้นมีไว้สำหรับให้คนทำมาหากินโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไ่ม่มีธรรมะแล้ว ประกอบกิจการงานอันใด จะเกิดความวิตกกังวล ห่วงใย ร้อนใจ หรือเกิดความเข้าใจผิดในบางครั้งบางคราว เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มากเกินไป ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะการประกอบการงานนั้น แต่ถ้าเป็นผู้มีธรรมะแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ต้องเป็นอย่างนั้น.

หรือว่า จะพูดให้แคบเข้ามาว่า เมื่อบางเวลาชวนศึกษาเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นหัวใจของธรรมะ ก็บอกว่าทำไม่ได้ เพราะได้ลงทุนทำมาค้าขายเป็นต้นไว้เป็นหลายหมื่นหลายแสน จะมาคิดเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ไม่ได้ นี้ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องธรรมะอีกนั่นเอง

หลักธรรมะนั้นถือว่า การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ก็เป็นความทุกข์เพราะสิ่งนั้น ฉะนั้น จึงมีวิธีหรือมีอุบายที่จะไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในทุกๆสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน การที่ตนจะมีเงินหรือมีการงาน หรือมีอะไรก็ตามอยู่มากมายนั้น ให้รู้จักกระทำไป รักษาไป ใช้สอยไป อะไรไปได้ ตามที่ควรจะทำ แต่โดยไม่ต้องมีความรู้สึกที่เป็นการยึดมั่นถือมั่น คือไม่ต้องมีความวิตกกังวลชนิดที่ทำให้เป็นทุกข์ทรมานใจนั่นเอง

คนเป็นอันมาก เกิดโรคภัยไข้เจ็บในทางจิตใจ เพราะละความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ฉะนั้น ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งมีงานมาก ก็ยิ่งเป็นบ้าเร็ว ยิ่งเป็นโรคเส้นประสาทมาก แต่ถ้ามีธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาช่วยแล้วจะตรงกันข้าม คือจะไม่มีอาการที่เป็นอย่างนั้น ทั้งที่มีเงินมาก มีงานมาก มีเรื่องมาก...ฯ

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดวิสาขบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “เอกังสิกเทสิตธัมมกถา” เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๙ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “วิสาขบูชาเทศนา เล่ม ๑” หน้า ๒๔๔ - ๒๔๕




Previous Post
Next Post

0 comments: