วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ภาษาคนภาษาธรรม

ภาษาคนภาษาธรรม

ภาษาคนคำว่า "ว่าง" ก็หมายถึงไม่มีอะไรเลย  

แต่คำว่า "ว่าง" ภาษาธรรมนั้น  ทุกสิ่งทุกอย่าง คงมีอยู่ตามเดิม  หากแต่ว่าไม่มีความรู้สึกว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นตัวเป็นตน  เป็นตัวเราเป็นของเรา เท่านั้น จึงเรียกว่าทุกสิ่งว่าง

มีคนโง่ๆ ตั้งหลายคน พอได้ยินคำว่า "ว่าง" ของพระพุทธเจ้า ก็เข้าใจเอาว่าไม่มีอะไรไปหมด เลยไม่เข้าใจคำว่า "จิตว่าง" คือ จิตที่ไม่ใด้ยึดถือสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวตนของตน คือว่างจากการยึดถือ ไปเข้าใจในภาษาคนในเสียว่า เมื่อจิตว่างแล้ว ก็ไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรเลย ดังนี้เป็นต้น

อีกคำหนึ่ง เช่น คำว่า ความเกิด ในภาษาคน หมายถึงเกิดจากท้องแม่ แต่ในภาษาธรรมนั้น หมายถึงการเกิดของความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกู เป็นของกู เท่านั้นเอง. มันแตกต่างกันถึงกับว่า ความเกิดในภาษาธรรมนี้ เป็นทุกข์แน่ๆ และเกิดได้วันละหลายครั้ง หลายสิบ หลายร้อยครั้ง เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที ส่วนการเกิดในภาษาคนนั้น คนหนึ่งมีครั้งเดียว เกิดจากท้องแม่ครั้งเดียว และไม่เป็นทุกข์เลย จนกว่าจะไปยึดถือความเกิดนั้น เป็นของเราเสียก่อน มันจึงจะเป็นทุกข์ ดังนั้นก็เป็นเพราะไปเกิดใหม่ในภาษาธรรมเข้านั่นเอง คือไปยึดถือว่า ความเกิดนั้นเป็นของเรา มันจึงเป็นทุกข์ขึ้นมา

ความเกิดในภาษาธรรม หมายถึงการเกิดแห่งอุปาทาน ยึดมั่นว่าตัวเรา ของเรา ทำให้มีอะไรเกิดเป็นตัวเรา หรือเป็นของเราขึ้นมา จึงได้เป็นทุกข์ ส่วนความเกิดหรือแม้แต่ ความแก่ ความตาย ตามธรรมชาดินั้น หาได้เป็นทุกข์ไม่ ต่อเมื่อใดไปยึดมั่นเอาความเกิด ความแก่ ความตาย นั้นว่าเป็นของเราขึ้นมา มันจึงจะเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า "สงฺขิเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา" เมื่อจะกล่าวโดยสรุปความแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นั้นแหละเป็นตัวทุกข์ ดังนี้

เบญจขันธ์ ธรรมดาหาได้เป็นทุกข์ไม่ เบญจขันธ์ประกอบด้วยอุปาทานขึ้นมา ก็เมื่อเกิดอุปาทานขึ้นมาในใจ ทำให้ยึดถือขันธ์เหล่านั้น ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็ตาม ว่าเป็นตัวฉัน หรือเป็นฉัน มันจึงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเกิดได้ทุกคราวที่มีการยึดมั่นด้วยอุปาทาน อันมาจากตัณหา และมาจากเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น

ธรรมเทศนาโดย พุทธทาสภิกขุ ,  อบรมพระธรรมฑูต ในสวนโมกขพลาราม พ.ศ. ๒๕๑๐ , อนุรักษ์ต้นฉบับเดิม (น.๙๔)

___

สิ่งล่วงแล้ว แล้วไป อย่าใฝ่หา  ที่ไม่มา ก็อย่าพึง คนึงหวัง

อันวันวาน ผ่านพ้น ไม่วนวัง  วันข้างหน้า หรือก็ยัง ไม่มาเลย

ผู้ใดเฟ้น เห็นชัด ปัจจุบัน  เรื่องนั่นนั้น แจ่มกระจ่าง อย่างเปิดเผย

ไม่แง่นง่อน คลอนคลั่ง ดั่งเช่นเคย  รู้แล้วเลย ยิ่งเร้า ให้ก้าวไป

วันนี้เอง เร่งกระทำ ซึ่งหน้าที่  อันวันตาย แม้พรุ่งนี้ ใครรู้ใด้

เพราะไม่อาจ บอกปัด หรือผัดไว้  ต่อความตาย และมหา เสนามัน

ผู้มีเพียร เวียนเป็น อยู่เช่นนี้  ทั้งทิพา ราตรี แข็งขยัน

นั่นแหละผู้ "ภัทเท - กรัตต์" อัน สัตตบุรุษ ผู้รู้, ท่าน กล่าวกันเอย.

"สิริวยาส" แปลและประพันธ์ ,  ภัทเทกรัตต์ , เขาผู้ซึ่ง แม้มีชีวิตเพียงวันเดียว ก็น่าสรรเสริญ

ชุมนุมบทประพันธ์ ของสิริวยาส , (นามปากกาหนึ่งของ พุทธทาสภิกขุ) , อนุรักษ์ต้นฉบับเดิม (น.๔๖)

Credit: สโมสรธรรมทาน สวนโมกข์กรุงเทพ

วัดดอกคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่






Previous Post
Next Post

0 comments: