วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วินีตวัตถุ - ภาษาพระวินัยใกล้ตัว

วินีตวัตถุ  

ภาษาพระวินัยใกล้ตัว

อ่านว่า วิ-นี-ตะ-วัด-ถุ  ประกอบด้วยคำว่า วินีต + วัตถุ

(๑) “วินีต”   บาลีอ่านว่า วิ-นี-ตะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + ต ปัจจัย

: วิ + นี = วินี + ต = วินีต แปลตามศัพท์ว่า “นำไปต่าง” หมายถึง เรื่องหรือสิ่งที่ยกมาศึกษาเรียนรู้, บุคคลหรือสิ่งที่ถูกแนะนำ ฝึกสอน อบรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วินีต” ว่า led, trained, educated (ชักนำ, ฝึกฝน, ให้การศึกษา)

บาลี “วินีต” ในภาษาไทยใช้เป็น “วินิต” และ “พินิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ - 

(1) วินิต : (คำกริยา) ฝึกหัดหรืออบรม, ทำให้ละพยศหรือละทิฐิมานะ, ปกครอง. (ป., ส. วินีต).

(2) พินิต : (คำกริยา) แนะนํา, สั่งสอน, ปกครอง. (ป., ส. วินีต).

ในที่นี้ใช้เป็น “วินีต” คงรูปตามบาลี

(๒) “วัตถุ”  เขียนแบบบาลีเป็น “วตฺถุ” อ่านว่า วัด-ถุ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ว) และ ร ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)

: วสฺ > ว + รตฺถุ > ตฺถุ : ว + ตฺถุ = วตฺถุ 

หรือ : วสฺ + รตฺถุ = วสฺรตฺถุ > วตฺถุ 

“วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)

(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)

(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)

(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)

(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)

(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)

บาลี “วตฺถุ” สันสกฤตเป็น “วสฺตุ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายในสันสกฤตไว้ดังนี้ - 

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วสฺตุ : (คำนาม) พัสดุ, วัตถุ, สิ่ง; ภาวะหรือประกฤติ, สาระหรือมูลพัสดุ, มูล; มุขยบทแห่งกาพย์หรือนาฏก; matter, substance, thing; nature or essential property, essence or pith; the main subject of a poem or play.”

“วตฺถุ” และ “วสฺตุ” ในบาลีสันสกฤต ไทยเราเอามาใช้เป็น 3 รูป คือ “วัตถุ” (วัด-ถุ) “วัสดุ” (วัด-สะ-ดุ) และ “พัสดุ” (พัด-สะ-ดุ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 3 ในภาษาไทยไว้ดังนี้ - 

(1) วัตถุ : (คำนาม) สิ่งของ. (ป.; ส. วสฺตุ).

(2) วัสดุ : (คำนาม) วัตถุที่นํามาใช้ เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กระดาษ ดินสอ (ใช้แก่การงบประมาณ). (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).

(3) พัสดุ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).

ในที่นี้ใช้ทับศัพท์เป็น “วัตถุ” มีความหมายตามความหมายของ “วตฺถุ” ข้อ (5) และข้อ (6) ข้างต้น

วินีต + วตฺถุ = วินีตวตฺถุ (วิ-นี-ตะ-วัด-ถุ) แปลว่า “เรื่องที่นำมาเป็นบทเรียน” หมายถึง ตัวอย่างที่ยกมาแสดงเพื่อการศึกษาว่าการกระทำเช่นไรผิดหรือไม่ผิดพระวินัย

“วินีตวตฺถุ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “วินีตวัตถุ” คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “วินีตวัตถุ” ไว้ดังนี้ -

วินีตวัตถุ :  เรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้ว, เรื่องที่ตัดสินแล้ว ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่างสำหรับเทียบเคียงตัดสิน ในการปรับอาบัติ (ทำนองคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่นำมาศึกษากัน)

“วินีตวัตถุ” แปลให้ใกล้ศัพท์ที่สุดน่าจะแปลว่า “แบบฝึกหัด” หรือแปลแบบสื่อความหมายว่า “ตัวอย่างคำพิพากษา”

ขยายความ :   ในวินัยปิฎกส่วนที่ว่าด้วยสิกขาบทต่างๆ เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์อันเป็นต้นเรื่องให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว จะมีคำอธิบายรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพะอย่างยิ่งคำจำกัดความว่า ถ้อยคำในตัวสิกขาบทนั้นๆ มีความหมายอย่างไร หมายถึงอะไร เป็นต้น

และที่มักจะมีประกอบอยู่ด้วยแทบทุกสิกขาบทก็คือ ตัวอย่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้น บอกเล่าว่าเมื่อทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นๆ แล้ว ใครทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิกขาบทนั้น บรรยายการละเมิดสิกขาบทด้วยอาการและวิธีการต่างๆ จบลงด้วยพุทธวินิจฉัยว่า การกระทำเช่นนั้นผิดหรือไม่ผิดแค่ไหนอย่างไร 

ตัวอย่างเรื่องจริงเช่นว่านี้แหละเรียกว่า “วินีตวัตถุ”

แถม :  เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติ “ปฐมปาราชิก” สิกขาบทว่าด้วยการห้ามภิกษุเสพเมถุนแล้ว มีผู้พยายามละเมิดสิกขาบทนี้หลายครั้งหลายครา ด้วยวิธีการและเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ โดยหวังว่าจะไม่มีความผิด

ท่านผู้ประสงค์จะศึกษา “วินีตวัตถุ” ในสิกขาบทนี้ เพื่อประดับความรู้และเป็นส่วนหนึ่งแห่งการช่วยกันรักษาพระธรรมวินัย พึงศึกษาได้จากวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 48-78 

หรือตามลิงก์ข้างล่างนี้ -

https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=1&item=48&items=1&preline=0&pagebreak

ดูก่อนภราดา!  คนพาล ดูตัวอย่างเพื่อหาทางทำความผิด  บัณฑิต ดูตัวอย่างเพื่อหาทางทำความดี

บาลีวันละคำ (3,619) ,  ทองย้อย แสงสินชัย

มาตุคามมาตุคามกับเวลาสูญสิ้นของพุทธศาสนา , ธนกีตา - ภรรยาประเภทที่ 1 , อิทธิบาท-หนทางสู่ความสำเร็จ  

วัดพระธาตุดอยคำ 

วัดพระธาตุดอยคำเป็นวัดที่มีความสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี เวลาเดินทางไป เชียงใหม่ เราก็จะเห็นองค์พระธาตุสีทองอร่ามของ วัดพระธาตุดอยคำ เด่นชัดมาแต่ไกล ที่นี่เองที่เป็นจุดสังเกตของการบินไทยก่อนที่จะลดระดับเครื่องบินลงจอดที่สนามบิน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเป็นมายาวนานนับพันปีตั้งแต่สมัยหริภุญชัย เลยทีเดียว 

วัดพระธาตุดอยคำ  :  ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เดินทางไปได้ ตามเส้นทางเลียบคลองชลประทาน  จะมีป้ายบอกข้ามคลองไปทางตำบลแม่เหียะ จะพบทางขึ้นเขาไปยังพระธาตุดอยคำ









Previous Post
Next Post

0 comments: