ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๗)
31. พระพุทธบิดาประชวร เสด็จโปรด กระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน
ในปีที่ ๕ นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา กำหนดเวลานี้ว่าตามปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี ได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาทรงประชวรหนักด้วยพระโรคชรา ทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าศากยะและเป็นพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตามพระพุทธเจ้า เช่น พระอานนท์ พระนันทะ และสามเณรราหุล ผู้เป็นหลาน
พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งพระอานนท์ให้แจ้งข่าวพระสงฆ์ ถึงเรื่องที่พระองค์จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง
ธรรมเนียมการเสด็จจาริกทางไกลของพระพุทธเจ้ามีอยู่อย่างหนึ่งคือ ก่อนเสด็จจะรับสั่งพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดให้บอกข่าวพระสงฆ์ทั้งมวลว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จทางไกล ที่นั่น ที่นี่ เวลานั้น เวลานี้ พระสงฆ์รูปใดจะตามเสด็จก็จะได้เตรียมข้าวของอัฐบริขารไว้พร้อม
การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้าเพื่อทรงเยี่ยมพุทธบิดาที่กำลังทรงประชวรครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ได้เสด็จเข้าเยี่ยมพุทธบิดาซึ่งมีพระอาการเพียบหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ปฐมสมโพธิบันทึกพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “ดูกรบพิตร อันว่าชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนักดำรงอยู่ โดยพลันบ่มิได้ยั่งยืนอยู่ช้า ครุวนาดุจสายฟ้าแลบอันปรากฏมิได้นาน...”
พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งทรงสำเร็จอนาคามิผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ได้สำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นอีก ๗ วันก็สิ้นพระชนม์ (ปรินิพพาน)
พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำพระศพพุทธบิดา และถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระสงฆ์ พระประยูรญาติ ชาวศากยะทั้งมวลจนเสร็จสิ้น
32. เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา
ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จสิ้น จนพวกเดียรถีย์ที่มาท้าแข่งพ่ายแพ้ไปแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธดำริถึงจารีตธรรมเนียมของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนว่า เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จทรงจำพรรษา ณ ที่ใด ก็ทรงทราบได้ด้วยพุทธญาณว่าทรงจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ปฐมสมโพธิลำดับการเสด็จจำพรรษาของพระพุทธเจ้าไว้ว่า ในพรรษาที่ ๗ (นับแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา) ได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตามนิยายท้องเรื่องทั้งจากปฐมสมโพธิ และข้อเขียนโดยนักเขียนทางศาสนาพุทธอื่นๆ ยุคหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ที่เรียกกันว่า “อรรถกถา” กล่าวตรงกันว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เพราะทรงต้องการจะแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายา ซึ่งเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเสด็จบังเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต
พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่โคนต้นปาริฉัตร ต้นไม้สวรรค์ มีผู้แปลกันว่าได้แก่ ต้นทองหลาง ผิดถูกอย่างไรไม่ทราบ ภายใต้ต้นไม้สวรรค์นี้มีแท่นแผ่นหิน ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียกว่า “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์”
พระอินทร์จอมเทพได้ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงจำพรรษาที่นี้ ก็ทรงป่าวประกาศหมู่เทพยดาในสรวงสวรรค์ให้มาร่วมชุมนุมเพื่อฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฐมสมโพธิว่า เสียงป่าวประกาศของพระอินทร์นั้น ดังปกแผ่ทั่วไปในสกลเทพยธานีทั้งหมื่นโยชน์ เทพเจ้าทั้งปวงได้สดับก็บังเกิดโสมนัสพิศวง ต่างองค์ร้องเรียกซึ่งกันและกันต่อๆ กันไปจนตลอดถึงหมื่นจักรวาล
แม้พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ซึ่งทรงอยู่ในเพศเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต ก็ได้เสด็จมาฟังธรรมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดพรรษา พระพุทธมารดาได้สดับแล้วทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด ส่วนเทพนอกนั้นอีกจำนวนมากได้บรรลุมรรคผลตามสมควรอุปนิสัยแห่งตน
33. ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน
ภาพที่เห็นนั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คือ จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อภายหลังเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือ วันออกพรรษา เมืองที่เสด็จลงคือเมืองสังกัสนคร เสด็จลงตรงประตูเมือง พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า “อจลเจดีย์” เรียกอย่างไทยเราก็ว่า “รอยพระพุทธบาท” ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่
ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได ๓ บันไดเป็นที่เสด็จลง คือ บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสนคร
หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นในภาพจึงคือ หมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ เบื้องซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือ ท้าวมหาพรหม ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือ พระอินทร์ ผู้ถือพิณบรรเลงถัดมาคือ ปัญจสิงขร คนธรรพ์เทพบุตร ถัดมาเบื้องขวาคือ มาตุลีเทพบุตร ซึ่งถือพานดอกไม้ทิพย์โปรยปรายนำทางเสด็จพุทธดำเนิน
พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิสุทธิเทพผู้บริสุทธิ์ นักเขียนศาสนาพุทธรุ่นต่อมาจึงถวายพระนามเฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งว่า “เทวาติเทพ” แปลว่า ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทุกชั้น เทพต่างๆ ที่คนอินเดียในสมัยนั้นนับถือกัน เช่น พระอินทร์ และท้าวมหาพรหม เป็นต้น
คนผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองไทย ถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง จึงนิยมทำบุญตักบาตรกันในวันนี้ เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกการตักบาตรนี้ว่า “ตักบาตรเทโว” ย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” แปลว่า ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง
34. เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อน ที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้เสด็จออกจากเขตแขวงเมืองไพศาลีไปโดยลำดับ เพื่อเสด็จไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ทรงกำหนดว่าจะปรินิพพานเป็นแห่งสุดท้าย จนไปถึงเมืองปาวาในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันก่อนเสด็จปรินิพพานเพียงหนึ่งวัน
เสด็จเข้าไปประทับอาศัยที่สวนมะม่วงของ นายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะเป็นลูกนายช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเสด็จมาพักอยู่ที่สวนมะม่วงของตน ก็ออกไปเฝ้าและฟังธรรม ฟังจบแล้ว นายจุนทะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของตนในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น
เวลาเช้าวันรุ่งขึ้น นายจุนทะได้ถวายอาหารพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่บ้านของตน อาหารอย่างหนึ่งที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้าในวันนี้มีชื่อว่า “สูกรมัททวะ”
คัมภีร์ศาสนาพุทธชั้นอรรถกถา และมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันว่า “สูกรมัททวะ” นั้นคืออะไรแน่ บางมติว่าได้แก่ สุกรอ่อน (แปลตามตัว สูกร-สุกร หรือหมู มัททวะ-อ่อน) บางมติว่าได้แก่ เห็นชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้า เป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส
พระพุทธเจ้าตรัสบอกนายจุนทะให้จัดถวายสูกรมัททวะนั้น ถวายแต่เฉพาะพระองค์ ส่วนอาหารอย่างอื่นให้จัดถวายพระสงฆ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาสูกรมัททวะที่เหลือจากที่พระองค์ทรงฉันแล้วไปฝังเสียที่บ่อ เพราะคนอื่นนอกจากพระองค์นั้นฉันแล้ว ร่างกายไม่อาจจะทำให้อาหารนั้นย่อยได้ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะฟังเป็นที่ชื่นชม และรื่นเริงในกุศลบุญจริยาของตน แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราต่อไป
35. ทรงยกพระธรรมวินัยเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน
ก่อนเสด็จปรินิพพานเล็กน้อย คือภายหลังทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผลแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสประทานโอวาทพระสงฆ์ โอวาทนั้นเป็นพระพุทธดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่ คือ คำว่า “อาวุโส” และ “ภันเต” อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า “คุณ” และภัตเตว่า “ท่าน”
พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตน หรือที่อ่อนอายุพรรษากว่าว่า “อาวุโส” หรือ “คุณ” ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษา พึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า “ภันเต” หรือ “ท่าน”
ครั้นแล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถาม ว่าท่านผู้ใดสงสัยอะไรในเรื่องที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้ว ก็ให้ถามเสีย จะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม
ปรากฏตามท้องเรื่องในมหาปรินิพพานสูตรว่า ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้าในข้อสงสัยที่ตนมีอยู่เลย
เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งพระสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่งเป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์ เหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่น เรื่องนี้ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะปรินิพพานว่า พระภิกษุรูปใดอย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อพระองค์ปรินิพานแล้ว ศาสนาพุทธหรือคำสั่งสอนของพระองค์จักไร้พระศาสดา
ตรัสบอกพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่าน สืบแทนเราตถาคตเมื่อเราล่วงไปแล้ว”
ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตน และคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งปรินิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง
ที่มา : ภาพและเนื้อหา จากสมุดภาพ ปฐมสมโพธิกถา วรรณคดีพระพุทธศานาพากไทย คัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ผู้วาดภาพประกอบ : กฤษณะ สุริยกานต์
ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๑) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๒) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๓) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๔) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๕) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๖) , ภาพวาดพุทธประวัติเรียงลำดับเหตุการณ์ (ตอนที่ ๗)
0 comments: