วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

พระภัททิยเถระ เป็นพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์

พระภัททิยะ หรือ พระภัททิยเถระ เป็นพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ และพระอสีติมหาสาวก.  พระภัททิยะ เมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล ท่านดำรงอายุพอสมควรแก่กาลก็ดับขันธปรินิพพาน 

ชาติภูมิ

ท่านพระภัททิยะ มีชาติภูมิอยู่ในเมืองกบิลพัศดุ์ เป็นบุตรพราหมณ์คนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๑๐๘ คน ที่ได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหาร ในการทำนายพระลักษณะพระมหาบุรุษฯ

เหตุการณ์ก่อนออกบวช

ท่านได้ยินบิดาบอกเล่าให้ฟังว่า พระมหาบุรุษมีพระลักษณะถูกต้อง ตามมหาบุรุษลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ จึงมีความเคารพนับถือในพระองค์เป็นอันมาก เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวช ท่านพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า มีความเห็นร่วมกันว่า บรรพชาของพระมาบุรุษ จักไม่เลวทรามเสื่อมเสีย จากประโยชน์ คงจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย ครั้นดำริอย่างนี้แล้ว จึงพากันออกบวชเป็นฤาษี ติดตามเสด็จ คอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมพิเศษแล้ว จักสั่งสอนตนให้บรรลุตามบ้าง ครั้นเห็นพระองค์ทรงละทุกกรกิริยา ที่ประพฤติมาเป็นเวลา ๖ ปี จึงมีความเบื่อหน่าย ในการที่จะปฏิบัติต่อไป ด้วยเข้าใจว่า พระองค์กลายเป็นผู้มักมาก ในกามคุณ คลายความเพียรเสียแล้ว เห็นจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใดอันหนึ่งเป็นแน่ จึงพากันละพระองค์ไปเสีย ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดแสดง ธรรมเทศนาธัมจักกัปปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอะไร เพราะเทศนานั้นไม่ วันต่อมาหลังจากท่านวัปปะบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้ฟัง ปกิรณกเทศนาที่พระองค์ตรัสสอน ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงได้ทูลของบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัยฯ

อุปสมบท

พระองค์ทรงรับให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟัง พระธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร ในสำนักของพระองค์ ในวันที่พระอรรถกถาจารย์กำหนดว่าแรม ๕ ค่ำ แห่งเดือนสาวนะ (เดือน ๘) ในเวลาจบเทศนา จิตของท่านก็หลุดพ้นจากกิเลส ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ประพฤติจบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ ท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระบรมศาสดา ประกาศพระศาสนาคราวแรกองค์หนึ่ง เมื่อดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพานฯ 

ที่มา : http://www.thammapedia.com/sankha/maha_pattiya.php



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: