วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564

“วัฏสงสาร”ที่เป็น“สันทิฏฐิโก” อันบุคคลเห็นได้ด้วยตนเอง

“วัฏสงสาร”ที่เป็น“สันทิฏฐิโก”  อันบุคคลเห็นได้ด้วยตนเอง

“วัฏสงสารก่อนตาย ในคนที่ยังเป็นๆอยู่นี่ เราบอกวัฏสงสารนี้เป็น“สันทิฏฐิโก”ที่จริงกว่า จำเป็นกว่า วัฏสงสารนี้อยู่ในจิตใจในบุคคล คือ เมื่อบุคคลอยากอะไร มันเป็น “กิเลส” เมื่อบุคคลทำอะไรลงไปตามความอยากนี้ มันเป็น “กรรม” กรรมมันก็เกิด“ผล”ที่บุคคลได้รับอยู่ 

นี่ วัฏสงสาร ที่วนเวียนอยู่ในจิตใจของคน วันแล้ว วันเล่า เดือนแล้ว เดือนเล่า เป็นรอบๆ วันหนึ่งอาจจะมีวัฏสงสารหลายรอบ เราชี้อย่างนี้

วัฏสงสาร ที่ร้ายกาจ ที่รุนแรง ที่เป็นปัญหามาก ว่ามันอยู่ที่ความอยาก แล้วกระทำตามความอยาก และได้ผลขึ้นมา แล้วมันทำให้อยากต่อไปอีก นี่อย่างนี้

ทุกเรื่อง ต้องชี้ลงไปยังจิตใจของบุคคล จึงเป็นสันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “ไขข้อข้องใจ..ทำไมจึงแตกต่าง” บรรยายธรรมในลักษณะ ถาม-ตอบ ในวาระที่ ๑ วันล้ออายุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ จากหนังสือ “ธรรมะน้ำ ล้างธรรมะโคลน” หน้า ๗๒

หมายเหตุ : (ท. ส. ปญฺญาวุฑฺโฒ)

“สันทิฏฐิโก” มีความหมายว่า “อันบุคคลเห็นได้ด้วยตนเอง” เห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตนเอง

“วัฏฏสงสาร”

“เมื่อพูดกันตามความจริงขั้นที่เด็ดขาดถึงที่สุด ซึ่งเรียกว่า “ขั้นปรมัตถ์” แล้ว คนเราจะเอาอะไร เป็นอะไร ไม่ได้เลย เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่า ทั้งคนที่จะเอาและสิ่งที่ถูกเอานั้น มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่ไม่รู้เช่นนั้นย่อมจะต้องมีความรู้สึกว่า “เราเอา” “เรามี” “เราเป็น” เป็นธรรมดา นี่เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

ความรู้สึก ว่าเอา ว่าเป็น นั่นเอง ได้ทำให้เกิดมีความหนักใจหรือความทุกข์ขึ้นมา การเอา การเป็น ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง คืออยากไม่ให้สิ่งที่ตนกำลังเอา กำลังเป็นอยู่นั้นสูญหายหลุดลอยไป ความทุกข์เกิดมาจากความอยากมี อยากเป็น อันรวมเรียกสั้นๆว่า “ความอยาก” ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า “ตัณหา”

การที่อยากก็เพราะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรอยาก มันเป็นความเข้าใจผิดติดตามมาตามสัญชาตญาณ เกิดมาตั้งแต่เด็กๆ ก็รู้จักอยาก แล้วก็เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ซึ่งตรงตามที่อยากก็มี ไม่ตรงก็มี ถ้าได้ผลตรงตามที่อยากก็เกิดอยากให้มากขึ้นไปอีก ถ้าไม่ได้ผลตรงตามที่อยากก็ต้องดิ้นรนทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป จนกว่าจะได้ผลตรงตามที่อยาก เมื่อทำลงไปมันก็ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง วนเวียนเป็นวงกลม กิเลส - การกระทำ(กรรม) - ผล(วิบาก) อยู่อย่างนี้ เรียกว่า “วัฏฏสงสาร”

คำว่า “วัฏฏสงสาร” นั้น อย่าเพ่อไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเวียนวน ชาติโน้น ชาตินี้ ชาตินั้น แต่อย่างเดียว ที่แท้จริงกว่านั้น เป็นเรื่องการวนเวียนของสิ่ง ๓ สิ่ง คือ ความอยาก - การกระทำตามความอยาก - ผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการกระทำนั้น แล้วไม่สามารถหยุดความอยากได้ เลยต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป แล้วก็กระทำอีก - ได้ผลมาอีก - เลยส่งเสริมความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านเรียกว่า “วัฏฏะ” หรือ “วัฏฏสงสาร” เพราะเป็นวงกลมที่เวียนวน ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้.

คนเราต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะติดอยู่ในวงกลมนี้เอง ถ้าใครหลุดออกไปจากวงกลมนี้ได้ ก็เป็นอันว่า พ้นไปจากความทุกข์ทุกอย่าง แน่นอน (นิพพาน)”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง” ในหนังสือ “คู่มือมนุษย์”

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม. 






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: