วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

ความสุขไม่มีอยู่จริง?


ความสุขไม่มีอยู่จริง?

การสนทนาธรรม หรือภาษาพระเรียกว่า "ธรรมสากัจฉา" ไม่ว่าจะกับพระด้วยกัน หรือกับฆราวาสญาติโยม ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะก่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจร่วมกัน ก่อให้เกิดสติปัญญา อีกทั้งเป็นการสร้างความเป็นกันเอง และหากมีข้อสงสัยก็สามารถต่อยอดในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อได้

เรื่อง "ความสุข" เป็นเรื่องที่คนเรามักได้ยินอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน หมายถึงความสบายกาย ความสบายใจ ความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ และมีความหมายตรงกันข้ามกับ "ความทุกข์" นั่นเอง

ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีคนพูดเรื่องนี้กันสักเท่าไหร่ เพราะรู้ความหมายกันอยู่แล้ว และมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่อง "ปรัชญา" เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาว่าง หรือเป็นครูบาอาจารย์-นักศึกษาค้นคว้าเพื่อต่อยอดความหมายที่ลึกซึ้งกว่าคำตอบที่มี

"ท่านอาจารย์...โยมอยากรู้ว่าความสุขมีจริงไหม?" โยมคุ้นเคยท่านหนึ่งสอบถามเป็นประเด็นย่อย หลังจากที่เสร็จธุระเรื่องติดต่อจะมีทำบุญที่วัด

"แล้วโยมคิดว่ามีไหม?"

"โยมไม่รู้....ถ้ารู้ก็ไม่ถาม" 

นั่นไง...โดนโยมถวายมะม่วงกวนซะแล้ว!

"ที่โยมถามไม่ใช่อะไรหรอก...เพราะตอนนี้เวลาโยมเจอเพื่อน ๆ เขามักทักว่าโยมมีความสุข ดูสีหน้าท่าทางไม่เห็นความความทุกข์เลยสักนิดเดียว...แต่จริงๆ แล้ว ในใจของโยมมันก็ยังมีความทุกข์ มีความกังวลบางเรื่องอยู่ เพียงแต่โยมไม่ค่อยเก็บมาคิดให้หนักสมอง เลยสงสัยว่าขณะรู้สึกสุขทำไมยังมีทุกข์แทรกอยู่?" 

"ดีแล้วโยม..การที่เรามีทุกข์เราไม่เก็บมาคิด ย่อมทำให้มีความสุข และถือว่าโยมโชคดีมากที่คิดแบบนี้ เพราะทำให้เราใช้ชีวิตได้คุ้มค่า ไม่เสียเวลากับเรื่องที่ทำให้ทุกข์…ฯลฯ....."

อันที่จริง...การให้นิยามความสุขของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน และช่วงเวลาที่แปรเปลี่ยนก็อาจจะให้ความหมายที่ต่างจากเดิม ถามร้อยคนก็อาจได้ร้อยสองร้อยคำตอบ

ถามเด็กตัวเล็กก็อาจจะบอกว่า "ความสุขคือของกินกับของเล่น"

ถามเด็กโตมาหน่อย "ได้หยุดเรียนเสาร์-อาทิตย์ ได้ดูการ์ตูน"

ถามวัยรุ่น "ได้เตะบอลได้เล่นเกมส์" 

ถามหนุ่มสาว "สมปรารถนาในเรื่องความรัก เรื่องหน้าที่การงาน"

ถามคนเป็นพ่อแม่ "ลูกเป็นคนดี มีทรัพย์สินเพียงพอสำหรับใช้ในครอบครัว"

ถามปู่ย่าตายาย "เลี้ยงหลาน ไปวัด ทำบุญ"

และในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ความสุขมันก็แปรเปลี่ยนไปตามสภาพ เมื่อวานนี้กับวันนี้พรุ่งนี้ หรือว่ากันตามวัน เดือน ปี สิบปี ยี่สิบปี คำตอบที่ได้ก็จะไม่เหมือนเดิม

ในความสุขมันมีความทุกข์แฝงอยู่นั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราในแต่ละวันมีเรื่องดีเรื่องไม่ดีผ่านเข้ามามากมาย มีสุขใช่ว่าจะไม่มีทุกข์ มีทุกข์ใช่ว่าจะไม่มีสุข มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการใจเราต่างหากว่าจะมีมุมมองแบบไหน

เรื่องไหนที่เราบริหารจัดการได้ ย่อมมีทุกข์น้อยสุขมาก = สุข

เรื่องไหนที่เราบริหารจัดการไม่ได้ ย่อมมีสุขน้อยทุกข์มาก = ทุกข์

แต่ใดๆ ในโลกนี้ ทุกคนล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น โลกนี้มีไว้เหยียบไม่ใช่มีไว้แบก ทำยังไงเราจึงจะบริหารให้มีความทุกข์น้อยมีสุขให้มาก หรืออาจจะไม่มีทุกข์เลยเฉกเช่นพระอริยเจ้าทั้งหลาย 

วิธีการที่พระพุทธศาสนานำเสนอก็คือ “การรู้จักปล่อยวาง” อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด มองทุกคนเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และมองเห็นความต่างเป็นสิ่งสวยงาม 

เพราะทุกสรรพสิ่งมาเพื่อจาก ตะถะตา เช่นนั้นเอง.

Credit: Wanlop Boonlom





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: