วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

"จิตว่าง" นี้ เป็นความสิ้นสุดของความทุกข์

"จิตว่าง" นี้ เป็นความสิ้นสุดของความทุกข์

คำว่า "จิตว่าง" นี้เป็นความสิ้นสุดของความทุกข์ แม้แต่ยังไม่ว่างจริง ว่างกลับไปกลับมา มันก็เป็นความสิ้นสุดของความทุกข์ ชนิดที่กลับไปกลับมาได้เหมือนกัน เมื่อไรว่าง เมื่อนั้นก็สิ้นสุดความทุกข์ นี่เราจะมองดูกันในแง่นี้โดยเฉพาะ ที่จะเอาไปใช้สร้างความไม่สิ้นสุด สร้างวัฎฎสงสารนั้น เป็นเรื่องที่ไม่แนะนำ หรือไม่ต้องพูดกันในที่นี้ เราจะพูดกันแต่ในเรื่องหยุดวัฏฏสงสาร หรือที่เรียกว่าทำลายวัฏฏสงสาร

วัฏฏสงสารเป็นเรื่องของความวนเวียน มีความอยาก - แล้วก็กระทำตามความอยาก - แล้วก็ได้ผลมาตรงตามความอยากบ้าง ไม่ตรงตามความอยากบ้าง ถ้าตรงความอยาก มันก็อยากอย่างอื่นงอกงามออกไปอีก แล้วก็ทำอีก แล้วเกิดผลต่อไปอีก ถ้าได้ผลไม่ตรงตามความอยาก มันก็ยังมีอยากอย่างอื่นอีก อย่างน้อยก็อยากที่จะทำให้ได้ตามความอยาก แล้วก็ดิ้นรนเพื่อจะได้มาตามความอยาก แม้ได้มาตามความอยาก มันก็ไม่รู้จักหยุด ก็อยากต่อไปอีก อาการเหล่านี้ทุกขั้นทุกตอน ล้วนแต่เป็นเรื่องความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเราเรียกว่ามีตัวกู - ของกู

ความยึดมั่นตัวกู ว่าเป็นผู้กระทำหรือผู้อยาก แล้วยัง ยึดมั่นของกู คือยึดผลที่ได้มาเป็นของกู อย่างนี้แล้วมัน วุ่นเท่าไร ลองคำนวณดูก็แล้วกัน ไม่มีอะไรจะวุ่นมากไปกว่าวัฏฏสงสารอย่างนี้ อยาก - แล้วทำ -ได้ผล แล้วก็อยากอีก แล้วก็ทำอีก แล้วก็ได้ผล แล้วก็อยากอีก ก็ทำอีก ฯลฯ อยู่แต่อย่างนี้ในวันหนึ่งๆ เมื่อทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีมูลมาจากอวิชชาแล้ว มันก็เป็นความทุกข์แน่นอน

ทีนี้ คนเราอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องอยาก หรือต้องทำ ก็มีปัญหาแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะอยากหรือว่าทำใด้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ? ก็ต้องทำไปด้วยจิตว่าง ต้องอยู่ด้วยจิตว่าง

สุญญตาปริทรรศน์ เล่ม ๒ (น.๓),  ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: