วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ตรัสพระไตรปิฎกไว้จริงหรือไม่

พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่  ตรัสพระไตรปิฎกไว้จริงหรือไม่  นี้ไม่เป็นปัญหา พักไว้ก่อนก็ได้ พิจารณากันแต่ว่า ถ้อยคำที่ตรัสไว้นั้น ครั้นปฏิบัติตามแล้วดับทุกข์ได้หรือไม่

หลักกาลามสูตร เป็นเครื่องช่วยให้เราไม่ต้องมีปัญหาว่า พระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่? คัดลอกกันมาถูกต้องหรือไม่ ? มีปลอมปนหรือไม่ ?

เมื่อทรงพระชนม์อยู่ ได้ตรัสว่า การเห็นกายของพระองค์ แต่ไม่เห็นธรรม นั้นไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ บัดนี้เราจะเห็นอัฐิธาตุ รูปวาด รูปหล่อของพระองค์ ว่าเป็นพระองค์ได้อย่างไร รีบเห็นธรรมกันเสียเถิด

คำสอนของผู้รู้ที่แท้จริงแม้เป็นเวลา ๒ -๓ พันปีมาแล้วแต่ก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนคำพูดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ นั่นคือคำสอนของพระพุทธองค์แก่ชาวกาลาม ที่เรียกว่ากาลามสูตร (ดังต่อไปนี้)

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ฟังตามๆ กันมา" เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้นก็ได้ เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ฟังตามๆ กันมาก็ได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทำตามสืบๆ กันมา" เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น หรือเปลี่ยนไปๆ ตลอดเวลาที่ทำตามๆ กันมาก็ได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน" เพราะการเล่าลือเป็นการกระทำของพวกที่ไม่มีสติปัญญา มีแต่โมหะก็ได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "มีที่อ้างอิงในปิฎก (ตำรา) เพราะปิฎกหรือตำราทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป ตามปัจจัยที่แวดล้อม หรือตามกฏอิทัปปัจจยตา ก็ยังได้

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางตรรกะ" เพราะตรรกะเป็นเพียงความคิดชั้นผิวเปลือก ใช้เหตุผลและเดินตามเหตุผลชั้นผิวเปลือก

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางนยายะ" เพราะนยายะเป็นการคาดคะเนที่เดินไปตามเหตุผลเฉพาะหน้าในการคาดคะเนนั่นเอง

อย่าเชื่อได้รับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตรงสามัญสำนึก" เพราะสามัญสำนึกเดินตามความเคยชินของความรู้สึกชั้นผิวเปลือก

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน" เพราะทิฏฐิของเขาผิดได้ โดยเขาไม่รู้สึกตัว

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ" เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเอง ในการพิจารณา

อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "สมณะผู้พูดเป็นครูของเรา" เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเองในการศึกษา

ในกรณีเหล่านี้ เขาจะต้องใช้ยถาภูตสัมมัปปัญญาหาวี่แววว่า สิ่งที่กล่าวนั้นมีทางจะดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้ามีเหตุผลเช่นนั้นก็ลองปฏิบัติดู ได้ผลแล้วจึงจะเชื่อ และปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป กว่าจะถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์

อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ ฟ้าสางระหว่าง ๘๐ ปี,  พุทธทาส อินทปัญโญ (น.๓,๑๑)

Credit: สโมสรธรรมทาน




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: