วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

พูดดีเป็นศรีแก่ปาก

พูดดีเป็นศรีแก่ปาก

ถามว่า  “พูดเรื่องอะไรบ้างจึงเป็นศรีแก่ปาก ?”  

ตอบว่า  “พูดเรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ประการเป็นศรีแก่ปาก”

เพราะคำพูดเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังบรรเทาทิฏฐิคือความเห็นผิดของตนได้ และทำใจให้เลื่อมในพระพุทธเจ้าเป็นต้นด้วย

ดังพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้ประกาศประวัติในอดีตชาติของตนว่า

“ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมมาโดยย่อแล้วแสดงได้โดยพิสดาร  ศิษย์ทุกคนต่างพอใจฟังข้าพเจ้ากล่าวอยู่  แล้วบรรเทาทิฏฐิของตน  ต่างทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

แม้โดยย่อข้าพเจ้าก็แสดงได้  โดยพิสดารก็แสดงได้เหมือนกัน  เป็นผู้มีความรู้ในนัยแห่งพระอภิธรรม  เป็นผู้ฉลาดในกถาวัตถุปกรณ์อย่างหมดจด  ให้ปวงชนได้รู้แจ่มแจ้งแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ” ดังนี้เป็นต้น

กถาวัตถุ ๑๐ คือเรื่องที่ควรพูดหรือเรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่คณะ ๑๐ ประการ คือ

๑. อัปปิจฉกถา เรื่องความมักน้อย ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ไม่มักมาก ไม่อยากเด่นอยากดัง 

๒. สันตุฏฐิกถา เรื่องความสันโดษ ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ ไม่ชอบฟุ้งเฟ้อหรือปรนปรือกาม

๓. ปวิเวกกถา เรื่องความสงัด ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายและใจ   

๔. อสังสัคคกถา เรื่องความไม่คลุกคลี ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่   

๕. วิริยารัมภกถา เรื่องการปรารภความเพียร ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร

๖. สีลกถา เรื่องศีล ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล    

๗. สมาธิกถา เรื่องสมาธิ ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น   

๘. ปัญญากถา เรื่องปัญญา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา

๙. วิมุตติกถา เรื่องวิมุตติ ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์  

๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติ ถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจและเข้าใจเรื่องความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

การพูดเรื่องที่ควรพูดเหล่านี้ย่อม

ก่อให้เกิดศรีแก่ปากและก็จะเป็นศิริมงคลกับตัวเอง เพราะมิได้พูดชักนำให้ติดอยู่ในวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ แต่พูดเพื่อวิวัฏฏะคือพระนิพพาน

อนึ่งคำพูดเหล่านี้ เป็นถ้อยคำที่พูดเพื่อให้เกิดคุณมีศีลเป็นต้น คือ 

๑. เพื่อความหมดจดแห่งศีล คือมีศีลบริสุทธิ์  ๒. เพื่อความหมดจดแห่งจิต คือมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ   ๓. เพื่อความหมดจดแห่งทิฐิ คือมีความเห็นชอบ

๔. เพื่อความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย คือกำจัดความสงสัยได้  ๕. เพื่อจดความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง คือจิตรับรู้ถึงกระแสแห่งไตรลักษณ์ได้

๖. เพื่อความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน คือประกอบความเพียรในวิปัสสนาได้   ๗. และเพื่อความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือมีความรู้ในอริยมรรค ๔ ได้

เมื่อพูดดีด้วยถ้อยคำที่ควรพูดทั้ง ๑๐ อย่างนั้นเท่ากับปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขา คือหลักศีลสมาธิปัญญา ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ดังนี้.

สาระธรรมจากปุณณมันตานีปุตตเถราปทาน

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

16/9/64




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: