วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๒)

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๒)

คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์

นำร่อง (ต่อ)

คัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องทำนายปัตถเวนเท่าที่ผมพบมี ๒ คัมภีร์ คือ ชาตกัฏฐกถา และ สารัตถทีปนี  ชาตกัฏฐกถา หรือ อรรถกถาชาดก เป็นคัมภีร์ในสายพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร ส่วนสารัตถทีปนีเป็นคัมภีร์ในสายพระวินัย แต่เป็นชั้นฎีกา

ตรงนี้ต้องอธิบายสักเล็กน้อยก่อนสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา  คือตำราทางพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นชั้นต้นฉบับจริงๆ คือ พระบาลีพระไตรปิฎก แบ่งเป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก  พระไตรปิฎกนี้ถือว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือชั้นสูงสุด ไม่มีอะไรเก่าขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว 

พระไตรปิฎกนี้ถือว่าเป็นพระพุทธพจน์ คือ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง แม้จะมีถ้อยคำของผู้อื่นในยุคร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าปะปนอยู่ด้วย แต่พระองค์ทรงรับรองว่าเป็นถ้อยคำที่ถูกต้องและเป็นหลักคำสอนหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนา  พระไตรปิฎกนี้มีอายุประมาณ ๒๕๐๐ ปี หรือเท่ากับอายุพระพุทธศาสนาในขณะนี้ 

ถัดจากพระบาลีพระไตรปิฎกลงมา เรียกว่า อรรถกถา คือคำอธิบายข้อความในพระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นนี้เกิดขึ้นในราว ๑,๐๐๐ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน คือนับถึงขณะนี้ก็มีอายุราวๆ ๑,๕๐๐ ปี 

แต่ก็พึงเข้าใจด้วยว่า คำอธิบายพระไตรปิฎกนั้นไม่ใช่เพิ่งมีใครคิดอธิบายกันขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑,๐๐๐ ปี คำอธิบายพระไตรปิฎกก็มีมาพร้อมๆ กับตัวพระไตรปิฎกนั่นเอง เพียงแต่ท่านมาจัดแยกออกเป็นต่างหากให้ชัดเจนเมื่อราว ๑,๐๐๐ ปีล่วงแล้ว

ถัดจากอรรถกถาลงมา เป็นคัมภีร์ชั้น ฎีกา คือคำอธิบายข้อความในอรรถกถา รวมทั้งอาจจะอธิบายข้อความในพระไตรปิฎกบางแห่งบางตอนที่อรรถกถายังไม่ได้อธิบายไว้ด้วย คัมภีร์ชั้นนี้เกิดขึ้นหลังอรรถกถาไม่นานนัก ถ้าจะประมาณอายุในขณะนี้ก็คงราว ๑,๐๐๐ ปี ไม่ใหม่ไปกว่านี้ 

เป็นอันว่า คัมภีร์ชาตกัฏฐกถามีอายุราวๆ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว และคัมภีร์สารัตถทีปนีก็มีอายุราวๆ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว นั่นแปลว่า ความคิดเรื่องทำนายปัตถเวนนี้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดก็ไม่น้อยกว่าพันห้าร้อยปี   แต่ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาและสารัตถทีปนีเองก็ไม่ได้เป็นต้นคิดเรื่องนี้ ต้นคิดจริงๆ อยู่ในคัมภีร์ชั้นพระบาลีพระไตรปิฎก คัมภีร์ชาตกัฏฐกถาและสารัตถทีปนีเป็นแต่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นเท่านั้น 

ดังนั้น ความคิดเรื่องทำนายปัตถเวนหรือทำนายสภาพสังคมในอนาคตจึงต้องมีมานานไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ปีทีเดียว  ก่อนนอสตราดามุสตั้ง ๒,๐๐๐ ปี  แต่ทำนายปัตถเวน หรือ “คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์” ไม่เหมือนคำพยากรณ์ของนอสตราดามุส   คือ นอสตราดามุสพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการระบุวันเวลา สถานที่ ตัวบุคคล และความเป็นไปของเหตุการณ์ครั้งนั้นๆ 

ส่วนทำนายปัตถเวนเป็นการพยากรณ์สภาพของสังคมหรือความเป็นไปแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมในอนาคต  หันมาจับคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาอีกที เพราะเรื่องพุทธทำนายในคัมภีร์นี้อธิบายรายละเอียดของสภาพสังคมในอนาคต 

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถานี้เชื่อกันว่า ท่านผู้แต่งคือพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดียตอนใต้ เป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งคำอธิบายพระไตรปิฎกหรือที่มีคำเรียกเฉพาะว่า “พระอรรถกถาจารย์” พระเถระองค์นี้ได้แต่งคัมภีร์อรรถกถาไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งชาตกัฏฐกถานี้ด้วย ท่านมีชีวิตอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐ 

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถาต้นฉบับเป็นภาษาบาลี (คัมภีร์พระพุทธศาสนาสายเถรวาทที่นับถือกันในเมืองไทยเป็นภาษาบาลีทั้งนั้น) คัมภีร์เล่มมิใช่แต่งขึ้นเพื่อจะพูดถึงเรื่องทำนายปัตถเวนโดยเฉพาะ หากแต่ว่าแต่งขึ้นเพื่ออธิบายข้อความเรื่องชาดกในพระบาลีพระไตรปิฎก  ตรงนี้ต้องขออธิบายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คือเรื่องราวที่เราเรียกกันว่า ชาดก และคนไทยรู้จักกันดีนั้น มี ๒ ประเภท 

ประเภทแรก คือ นิบาตชาดก ประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระบาลีพระไตรปิฎก 

ประเภทที่ ๒ คือ ปัญญาสชาดก มีเรื่องราวอยู่ประมาณ ๕๐ เรื่อง ต้นฉบับเป็นภาษาบาลี แต่งขึ้นในภาคเหนือของเมืองไทยนี่เอง 

ชาดกที่เป็นต้นกำเนิดเรื่องทำนายปัตถเวน คือนิบาตชาดก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกดังที่กล่าวแล้ว เรื่องราวในนิบาตชาดกหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าชาดกนี้ มีประมาณ ๕๐๐ เรื่อง บางคนจึงเรียกว่า เรื่องพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ 

ในคัมภีร์ชั้นเดิมคือชั้นพระบาลีพระไตรปิฎกมีปรากฏเฉพาะข้อความที่เรียกกันว่า “คาถา” คือ คำสุภาษิตบ้าง คำพูดของบุคคลต่างๆ บ้าง คำบรรยายเรื่องเพียงสั้นๆ บ้าง แต่ไม่มีรายละเอียดของเหตุการณ์ใดๆ คืออ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นยังไงมายังไง ว่างั้นเถอะ 

เมื่อมาถึงชั้นอรรถกถา ท่านจึงแต่งคำอธิบายเป็นเรื่องราวที่เรียกกันว่า นิทานชาดกขึ้น เรื่องชาดกที่เรารู้จักกันทั่วไปนั้นก็คือเรื่องราวที่ไปจากคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา หรืออรรถกถาชาดกนี่เอง 

ในจำนวนชาดกประมาณ ๕๐๐ เรื่องนั้น มีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ “มหาสุบินชาดก” ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ เอกนิบาตชาดก (คือกลุ่มชาดกที่มีคาถา ๑ คาถา) วรุณวรรค เป็นเรื่องในลำดับที่ ๗ ของวรรคนั้น

ข้อความที่เป็นคาถา ๑ คาถาว่าดังนี้ :- 

อุสภา  รุกฺขา  คาวิโย  ควา  จ 

อสฺโส  กํโส  สิคาลี  จ  กุมฺโภ 

โปกฺขรณี  จ  อปากจนฺทนํ 

ลาวูนิ  สีทนฺติ  สิลา  ปฺลฺวนฺติ 

มณฺฑูกิโย  กณฺหสปฺเป  คิลนฺติ 

กากํ  สุวณฺณา  ปริวารยนฺติ 

ตสา  วกา  เอฬกานํ  ภยา  หิ 

วิปริยาโย  วตฺตติ  นยิธมตฺถีติ. 

แปลความว่า -

หม่อมฉันได้ฝันเห็น - โคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ ๑ แม่โค ๑ โคสามัญ ๑  ม้า ๑ ถาดทองคำ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑  สระโบกขรณี ๑ ข้าวสารที่หุงไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑  น้ำเต้าจมน้ำ ๑ หินลอยน้ำ ๑  นางเขียดกลืนกินงูเห่า ๑  หงส์ทองแวดล้อมกา ๑  เสือกลัวแพะ ๑ ดังนี้  ปริยายอันผิดนี้จักยังไม่มีในยุคนี้

ที่มา: มหาสุบินชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๗๗

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๒๙ เมษายน ๒๕๖๓, ๑๔:๕๔

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑),  (ตอน ๒),  (ตอน ๓),  (ตอน ๔),  (ตอน ๕),  (ตอน ๖)(ตอน ๗),  (ตอน ๘),  (ตอน ๙),  (ตอน ๑๐),  (ตอน ๑๑),  (ตอน ๑๒),   (ตอน ๑๓),  (ตอน ๑๔),  (ตอน ๑๕),  (ตอน ๑๖),  (ตอน ๑๗),  (ตอน ๑๘),  (ตอน ๑๙),  (ตอน ๒๐),  (ตอน ๒๑),  (ตอน ๒๒),  (ตอน ๒๓)




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: