วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

คิชฺฌชาตกํ - ว่าด้วยสายตาแร้ง

คิชฺฌชาตกํ - ว่าด้วยสายตาแร้ง

" ยํ  นุ  คิชฺโฌ  โยชนสตํ,    กุณปานิ  อเวกฺขติ;    กสฺมา  ชาลญฺจ  ปาสญฺจ,  อาสชฺชาปิ  น  พุชฺฌสิ ฯ

เออก็ (เขากล่าวกันว่า) แร้งย่อมเห็นซากศพทั้งหลายได้ถึงร้อยโยชน์เหตุไร ท่านมาถึงข่ายและบ่วงจึงไม่รู้เล่า? "

" ยทา  ปราภโว  โหติ,  โปโส  ชีวิตสงฺขเย;      อถ  ชาลญฺจ  ปาสญฺจ,  อาสชฺชาปิ  น  พุชฺฌตีติ ฯ

ความเสื่อมจะมีในเวลาใด สัตว์ใกล้จะสิ้นชีวิตในเวลาใด ในเวลานั้นถึงจะมาใกล้ข่าย และบ่วงก็รู้ไม่ได้."

อรรถกถาคิชฌชาดกที่ ๔

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุเลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า  ยนฺนุ  คิชฺโฌ  โยชนสตํ  ดังนี้.

เรื่องจักมีแจ้งในสามชาดก (มหานิบาตชาดก เรื่องที่ ๕๔๐) พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอเลี้ยงคฤหัสถ์จริงหรือ?“ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า „จริงพระเจ้าข้า“ ตรัสถามว่า „คฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นใคร?“ กราบทูลว่า „มารดาบิดาของข้าพระองค์เองพระเจ้าข้า“ ทรงให้สาธุการว่า „ดีแล้ว ดีแล้ว“ ตรัสว่า „ภิกษุทั้งหลายพวกเธออย่าตำหนิโทษภิกษุนี้เลย แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลายก็ได้ทำอุปการะแก่ผู้มิใช่ญาติด้วยอำนาจบุญคุณ ส่วนมารดาบิดาของภิกษุนี้เป็นภาระแท้“ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า. :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี   พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดพญาแร้ง เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ที่คิชฌบรรพต. ต่อมา คราวหนึ่ง เกิดพายุฝนใหญ่. แร้งทั้งหลายไม่สามารถทนพายุฝนได้ จึงพากันบินหนีมากรุงพาราณสีเพราะกลัวหนาว จับสั่นอยู่ด้วยความหนาว ณ ที่ใกล้กำแพงและคูเมือง.

ในเวลานั้นเศรษฐีกรุงพาราณสีออกจากเมืองจะไปอาบน้ำเห็นแร้งเหล่านั้นกำลังลำบาก จึงจัดให้มารวมกันที่กำบังฝนแห่งหนึ่ง ก่อไฟให้ผิงแล้วส่งไปยังป่าช้าโค หาเนื้อโคมาให้พวกแร้งแล้วจัดการอารักขา. ครั้นพายุฝนสงบแร้งทั้งหลายก็มีร่างกายกระปรี้กระเปร่า พากันบินกลับสู่ภูเขาตามเดิม.

พวกแร้งจับกลุ่มปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า เศรษฐีกรุงพาราณสีได้ช่วยเหลือพวกเรามา ควรตอบแทนผู้ที่ช่วยเหลือเรา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไป บรรดาพวกท่านผู้ใดได้ผ้าหรือเครื่องอาภรณ์ชนิดใด ผู้นั้นพึงคาบสิ่งนั้นให้ตกลงกลางเวหาใกล้เรือนของเศรษฐีกรุงพาราณสี.

ตั้งแต่นั้นมาแร้งทั้งหลายคอยดูความเผลอเรอของพวกมนุษย์ที่ตากผ้าและเครื่องอาภรณ์ไว้กลางแดด ต่างพากันโฉบเฉี่ยวไปฉับพลันเหมือนเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อ ทิ้งตกลงกลางอากาศใกล้ เรือนของเศรษฐีกรุงพาราณสี. เศรษฐีรู้ว่า เป็นเครื่องอาภรณ์ของแร้ง จึงให้เก็บอาภรณ์ทั้งหมดนั้นไว้เป็นส่วน ๆ. มหาชนพากันไปกราบทูลพระราชาว่า „แร้งทั้งหลายปล้นเมือง.“

พระราชารับสั่งว่า พวกเจ้าจับแร้งได้แม้ตัวเดียวเท่านั้นก็จะได้ของคืนทั้งหมดแล้วให้วางบ่วงและข่ายดักไว้ในที่นั้น ๆ. แร้งตัวที่เลี้ยงมารดาก็ติดบ่วง. ชนทั้งหลายก็จับแร้งนั้นนำไปด้วยคิดว่า จักถวายพระราชา.  เศรษฐีกรุงพาราณสีกำลังเดินไปเฝ้าพระราชา ครั้นเห็นมนุษย์พวกนั้นจับแร้งเดินไป จึงได้ไปพร้อมกับเขาด้วยคิดว่า จักไม่ให้ผู้ใดรังแกแร้งตัวนี้. ชนทั้งหลายก็ถวายแร้งแด่พระราชา.

พระราชาจึงตรัสถามว่า „พวกเจ้าปล้นเมืองคาบผ้าเป็นต้นไปหรือ?“ พญาแร้งกราบทูลว่า ไข้าแต่มหาราช จริงพระเจ้าข้า.“ ตรัสถามว่า „พวกเจ้าเอาไปให้แก่ใคร?“ กราบทูลว่า „ให้แก่เศรษฐีกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า.“ ตรัสถามว่า „เพราะเหตุไร?“ กราบทูลว่า „เพราะเศรษฐีนั้นได้ให้ชีวิตแก่พวกข้าพระองค์ กระทำอุปการะตอบแก่ผู้มีอุปการะย่อมสมควรอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น พวกข้าพระองค์จึงให้ไป.“  พระราชารับสั่งกะพญาแร้งว่า „ได้ยินว่า แร้งทั้งหลายอยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ย่อมเห็นซากศพ เพราะเหตุไร? เจ้าจึงไม่เห็นบ่วงที่เขาดักจับตัว“ แล้วตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-

 „เขากล่าวกันว่า แร้งย่อมเห็นซากศพได้ ถึงร้อยโยชน์ เหตุไรเจ้ามาถึงข่ายและบ่วงจึงไม่รู้สึก?“ 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  ยํ  เป็นเพียงนิบาต.   บทว่า  นุ  เป็นนามัตถนิบาต. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าแร้งย่อมมองเห็นซากศพซึ่งตั้งอยู่เกินร้อยโยชน์.   บทว่า  อาสชฺชาปิ  แปลว่า เข้าใกล้คือ มาถึง.

พระราชาตรัสถามว่า „เจ้าแม้มาถึงข่ายและบ่วงที่เขาดักไว้จับตัว เพราะเหตุไร จึงไม่รู้สึกเล่า?“ พญาแร้งสดับพระราชดำรัสแล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :- 

„ความเสื่อมจะมีในเวลาใด สัตว์ใกล้จะสิ้นชีวิตในเวลาใด ในเวลานั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วง ก็รู้ไม่ได้." 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  ปราภโว  คือ ความพินาศ.   บทว่า  โปโส  คือสัตว์.

พระราชาครั้นทรงสดับคำของแร้งแล้วจึงตรัสถามเศรษฐีว่า „ดูก่อนมหาเศรษฐี แร้งทั้งหลายนำผ้าเป็นต้นมาที่เรือนของท่านจริงหรือ?“ กราบทูลว่า „จริงพระเจ้าข้า.“ ตรัสถามว่า "ผ้าเป็นต้นเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?" กราบทูลว่า „ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้าจัดผ้าเหล่านั้นไว้เป็นส่วน ๆ ข้าพระพุทธเจ้าจะให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของขอพระองค์ได้โปรดทรงปล่อยแร้งตัวนี้เถิด พระเจ้าข้า.“ มหาเศรษฐีกราบทูลให้ปล่อยพญาแร้งแล้วคืนสิ่งของให้แก่ทุกคน.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศอริยสัจทรงประชุมชาดก. เมื่อจบอริยสัจ ภิกษุผู้เลี้ยงมารดาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.

พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในบัดนี้. เศรษฐีกรุงพาราณสีได้เป็นสารีบุตร. ส่วนแร้งเลี้ยงมารดา คือเราตถาคตนี้แล.  จบอรรถกถาคิชฌชาดกที่ ๔

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: