วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๓)

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๓)

คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์

นำร่อง (ต่อ)

คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค ๒ หน้า ๑๖๙-๑๘๘ ซึ่งอธิบายเรื่องมหาสุบินชาดกเล่าเรื่องไว้ว่า :-

พระเจ้าปเสนทิ มหาราชาแห่งกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ทรงพระสุบินเป็นความประหลาดถึง ๑๖ เรื่อง เมื่อตื่นพระบรรทมก็ไม่ทรงสบายพระทัย รุ่งขึ้นจึงตรัสถามพราหมณ์ในที่ประชุมเสนามหาอำมาตย์ว่าความฝันของพระองค์จะมีผลดีร้ายประการใด 

คณะพราหมณ์กราบทูลว่า ความฝันครั้งนี้ร้ายแรงนัก จะมีภัยต่อราชบัลลังก์และพระชนมายุ จะต้องทำพิธีบูชายัญด้วยชีวิตคน สัตว์ และสิ่งของเป็นจำนวนมาก เคราะห์ร้ายจึงจะหายไป  พระเจ้าปเสนทิทรงตกพระทัย รับสั่งให้เตรียมการทำพิธีบูชายัญตามคำแนะนำของคณะพราหมณ์ 

ระหว่างเตรียมการวุ่นวายอยู่นั้น พระนางมัลลิกาพระมเหสีกราบทูลแนะนำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระกิตติคุณขจรไปว่าทรงเป็นพระสัพพัญญูรอบรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งขณะนี้พระพุทธองค์ก็กำลังประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถีนี่เอง น่าจะเสด็จไปกราบทูลถาม หากพระพุทธองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูจริงก็คงจะตรัสบอกเหตุดีร้ายแห่งความฝันได้ 

พระเจ้าปเสนทิทรงเห็นดีด้วย จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลถามถึงเหตุดีร้ายแห่งมหาสุบินนิมิตนั้น 

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความฝันครั้งนี้จะไม่มีผลแก่ตัวพระเจ้าปเสนทิ และจะไม่มีผลในปัจจุบันขณะนั้น แต่จะมีผลแก่มนุษยชาติในอนาคตกาล  ครั้นแล้วจึงตรัสถามถึงเรื่องราวในพระสุบิน พระเจ้าปเสนทิก็กราบทูลถวาย และพระพุทธองค์ก็ตรัสพยากรณ์ทีละข้อไปจนจบ 

ส่วนคัมภีร์สารัตถทีปนีเป็นคัมภีร์ชั้นฎีกาในสายพระวินัยปิฎก แต่งขึ้นในประเทศศรีลังกา สมัยพระเจ้าปรักกมพาหุ ผู้รจนาคัมภีร์ฉบับนี้คือพระสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรอัครสาวก เป็นความนิยมของพระเถระในศรีลังกาสมัยนั้นที่มักจะตั้งชื่อตามพระสาวก) ความมุ่งหมายก็เพื่ออธิบายอรรถกถาพระวินัยปิฎกให้เข้าใจง่ายและสมบูรณ์ 

สำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจว่าพระวินัยปิฎกคืออะไร ก็ขอพูดสั้นๆ ว่า พระวินัยปิฎกก็คือคัมภีร์ที่ว่าด้วยศีลของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา รวมทั้งแบบธรรมเนียมและวิถีชีวิตทั้งปวงของการเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาด้วย 

ในพระวินัยปิฎกตอนที่ว่าด้วยอาบัติสังฆาทิเสส พูดถึงศีลของพระสงฆ์ข้อหนึ่งว่า ห้ามพระภิกษุจงใจทำให้น้ำกามเคลื่อน (พูดภาษาสมัยนี้ก็คือ ห้ามสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองหรือให้ผู้อื่นกระทำให้) ถ้าประพฤติเช่นนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส เว้นไว้แต่ฝัน 

เมื่ออรรถกถาอธิบายเรื่องนี้ ก็พูดถึงความฝันว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งอ้างอิงถึงความฝันครั้งสำคัญของบุคคลบางคน เช่น ความฝันของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา ตอนที่พระโพธิสัตว์จะมาปฏิสนธิในพระครรภ์ ความฝันของเจ้าชายสิทธัตถะผู้บำเพ็ญเพียรในคืนก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และความฝันของพระเจ้าปเสนทิ มหาราชาแห่งแคว้นโกศล เป็นต้น 

พอถึงชั้นฎีกา คัมภีร์สารัตถทีปนีซึ่งอธิบายเรื่องมาถึงตอนนี้ก็ให้รายละเอียดของความฝันเหล่านั้นว่าฝันว่ากระไรบ้าง และเป็นสิ่งบอกเหตุถึงอะไรบ้าง   เฉพาะความฝันของพระเจ้าปเสนทินี่เองที่เป็นที่มาของ “ทำนายปัตถเวน” - คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้

คัมภีร์สารัตถทีปนีไม่ได้เล่าเรื่องความเป็นมาและความเป็นไปของเรื่องราวหลังฝัน คงเล่าเฉพาะส่วนสำคัญ คือเล่าว่า คืนวันหนึ่งตอนค่อนสว่าง พระเจ้าปเสนทิทรงพระสุบิน ๑๖ ข้อ แล้วก็บรรยายรายละเอียดของความฝันแต่ละข้อจนจบ เสร็จแล้วก็พูดถึงผลแห่งความฝันทันที โดยไม่ได้บอกว่าพระเจ้าปเสนทิไปตรัสถามใคร และคำอธิบายถึงผลแห่งความฝันแต่ละข้อนั้นเป็นคำพยากรณ์ของท่านผู้ใด

การที่คัมภีร์สารัตถทีปนีซึ่งรจนาภายหลังคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาไม่บอกรายละเอียดอื่นๆ ในขณะที่ชาตกัฏฐกถาเล่ารายละเอียดทุกอย่างไว้ชัดเจนนั้น ทำให้น่าคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมเองไม่สามารถตอบได้ นอกจากเดา คือเดาว่า -

๑. คงเป็นเพราะว่า เรื่องราวโดยละเอียดที่ว่าภายหลังทรงพระสุบินแล้ว พระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์ได้ตรัสพยากรณ์พระสุบินทั้ง ๑๖ ข้อนี้ เป็นที่รู้ เป็นที่เข้าใจ และเชื่อถือกันเป็นอันดีแล้ว แม้ไม่พูดไว้ก็เป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเล่าไว้ให้เสียเวลา หรือไม่เช่นนั้นก็ -

๒. คงเป็นเพราะว่า ท่านผู้รจนาคัมภีร์สารัต2ถทีปนีเองก็อาจจะไม่มั่นใจอะไรสักอย่าง และไม่ประสงค์จะยืนยันให้มั่นคงว่าใครเป็นผู้พยากรณ์ความฝัน จึงตัดรายละเอียดที่เป็นเรื่องเล่าทั้งหลายออกเสีย คงไว้แต่เนื้อหาของความฝันและคำพยากรณ์เท่านั้น เรื่องอื่นๆ ปล่อยให้ผู้อ่านวินิจฉัยเอาเอง

การที่มีผู้เรียกเรื่องนี้ว่า “พุทธทำนาย” และมีเรื่องมาว่าพระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธเจ้า ก็แสดงว่าเรื่องทำนายปัตถเวนนี้เป็นคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า ทั้งนี้คงจะเชื่อตามหลักฐานที่ระบุไว้ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาตามที่เล่ามาข้างต้น คงจะไม่ใช่ “จับใส่พระโอษฐ์พระพุทธเจ้า” กันส่งๆ เป็นแน่ 

แต่เรื่องที่เล่าว่าเป็นพระสุบินของพระเจ้าปเสนทินั้นนับว่าตรงกัน เพราะคำว่า  “ปัตถเวน” เป็นคำเดียวกับ  “ปเสนทิ” คือ ปัตถเวน เพี้ยนมาจาก ปเสนทิ แน่ๆ 

ปเสนทิ อ่านว่า ปะ-เส-นะ-ทิ หรืออ่านแบบไทยๆ ว่า ปัส-เสน-นะ-ทิ บางทีก็เขียนว่า ปัสเสนทิโกศล แล้วอ่านย่อๆ ว่า ปัด-เสน ก็มี จาก ปัด-เสน ก็เพี้ยนเป็นปัตถเวนต่อไป 

ปเสน - ปัสเสน - ปัตถเวน มารอยเดียวกันแน่ๆ 

ปัตถเวน อ่านแบบไทยๆ ว่า ปัด-ถะ-เหฺวน (หว ควบ คือ เวน ผันเสียงจัตวา ไม่ใช่ เห-วน)

ที่ “ปเสนทิ” เพี้ยนเป็น “ปัตถเวน” นั้น กรุณาอย่าได้สงสัย2ว่าเป็นยังงั้นได้ยังไง เพราะ “วิษณุกรรม” ยังเพี้ยนเป็น “เพชรฉลูกรรม” มาแล้ว ฝีมือคนไทยนั้นขอให้เชื่อเถอะ เราถนัดมากในเรื่องแปลง ขนาดเจ้าของภาษาเองยังตามไม่ทัน เราก็ทำมานักต่อนักแล้ว 

เป็นอันตกลงว่า เรื่องทำนายปัตถเวนที่คนไทยเรา (สมัยก่อน) ทราบๆ กันอยู่นั้น เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องความฝันของพระเจ้าปเสนทิ ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาและคัมภีร์สารัตถทีปนี เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องพุทธทำนาย และเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องที่ผมกำลังเรียกชื่ออยู่ในขณะนี้ว่า “คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์” และต้นกำเนิดของเรื่องนี้มาจากชมพูทวีป มีอายุราวๆ สองพันห้าร้อยปีมาแล้ว 

ความฝันครั้งนี้ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งผู้ฝันและผู้พยากรณ์ความฝันก็เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ และผลแห่งความฝันอันจะเกิดขึ้นตามที่มีการพยากรณ์ไว้นั้นเล่าก็เป็นเรื่องสำคัญ มีค่าควรแก่การที่จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในอนาคตอย่างแท้จริง 

ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แหละ ผมจึงเรียกเรื่องราวต่อไปนี้ว่า “คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์” 

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเนื้อหาของเรื่องความฝันทั้ง ๑๖ ข้อ และคำทำนาย ขณะที่ท่านอ่านเรื่องนี้โปรดระลึกไว้เสมอว่า นี่เป็นเรื่องที่พูดไว้เมื่อสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ในขณะที่สภาพสังคมในตอนนั้นน่าจะยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดสภาพเช่นที่กล่าวไว้ในคำทำนายแต่ประการใดเลย 

ผมจะขอถอดความในคัมภีร์มาเล่าสู่กันฟัง และจะขอแสดงความคิดเห็นแทรกไว้เป็นตอนๆ ดังต่อไปนี้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๙ เมษายน ๒๕๖๓, ๑๘:๑๔

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑),  (ตอน ๒),  (ตอน ๓),  (ตอน ๔),  (ตอน ๕),  (ตอน ๖)(ตอน ๗),  (ตอน ๘),  (ตอน ๙),  (ตอน ๑๐),  (ตอน ๑๑),  (ตอน ๑๒),   (ตอน ๑๓),  (ตอน ๑๔),  (ตอน ๑๕),  (ตอน ๑๖),  (ตอน ๑๗),  (ตอน ๑๘),  (ตอน ๑๙),  (ตอน ๒๐),  (ตอน ๒๑),  (ตอน ๒๒),  (ตอน ๒๓)



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: