วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑๑)

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑๑)

คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์

ความฝันข้อที่ ๘  ตุ่มใหญ่ไหลแฉะ ตุ่มน้อยแห้งขอด 

ฝันว่า มีตุ่มน้ำขนาดใหญ่ใบหนึ่ง มีน้ำเต็มตุ่ม ตั้งอยู่ใกล้ประตูเมือง มีตุ่มเปล่าใบเล็กๆ เป็นจำนวนมากตั้งอยู่รอบๆ ตุ่มใหญ่ใบนั้น มีคนทุกเพศทุกวัยตักน้ำมาจากทิศทางต่างๆ เอามาเทใส่ตุ่มใบใหญ่ที่มีน้ำเต็มอยู่แล้วนั้น น้ำก็ล้นแล้วล้นอีกจนนองไป ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่จะเหลียวแลตุ่มใบเล็กๆ ที่ว่างเปล่าอยู่นั้น 

คำทำนาย: 

ในอนาคต บ้านเมืองทั้งหลายจะร่วงโรย ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้ปกครองบ้านเมืองที่นับว่ามีฐานะดีที่สุดก็จะมีทรัพย์สมบัติเพียงประมาณแสนเหรียญเท่านั้น เมื่อฐานะของผู้ปกครองเป็นเช่นนี้ พวกเขาก็จะพากันบังคับกะเกณฑ์ผู้คนในท้องไร่ท้องนาให้ทำงานให้พวกเขา ผู้คนเหล่านั้นจำต้องทิ้งไร่นาที่เคยทำมาแต่ก่อน หันมาทำงานให้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง ผลประโยชน์จากการประกอบการทุกประเภทจะตกเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองเท่านั้น ไม่มีใครได้เหลียวแลยุ้งฉางที่ว่างเปล่าของชาวไร่ชาวนาเหล่านั้น เหมือนกับที่ผู้คนพากันตักน้ำใส่ตุ่มใหญ่ที่เต็มแล้วโดยไม่เหลียวแลตุ่มเล็กๆ ที่ยังว่างเปล่าฉะนั้น

สรุปคำทำนายคือ ในอนาคต คนรวยจะยิ่งรวยขึ้น คนจนจะยิ่งจนลง 

ความเห็น:

ที่ว่าในอนาคตบ้านเมืองจะร่วงโรยนั้น คัมภีร์ต้นฉบับท่านใช้คำว่า “นิโรชํ” แปลว่า “ไร้โอชะ” 

คำนี้ ถ้าจะให้เห็นภาพ ก็ขอให้นึกถึงอ้อยที่เคี้ยวน้ำหวานหมดแล้วเหลือแต่ชาน นั่นแหละครับคือสภาพของ “ไร้โอชะ” 

ชานอ้อยเป็นของไร้โอชะ ฉันใด บ้านเมืองทั้งหลายในอนาคตก็จะร่วงโรย ฉันนั้น

ข้อความในคำทำนายตรงที่ว่า “เมื่อฐานะของผู้ปกครองเป็นเช่นนี้ พวกเขาก็จะพากันบังคับกะเกณฑ์ผู้คนในท้องไร่ท้องนาให้ทำงานให้พวกเขา” นี่คงจะถูกใจนักวิพากษ์สังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแนวความคิด “ล้มเจ้า” เป็นอันมาก 

ใครที่เคยอ่านงานเขียนของแนวคิดกลุ่มนี้คงจะจำได้ถึงข้อความที่เกือบจะเป็นประโยคสำเร็จรูปที่ว่า “ชนชั้นปกครองเสวยสุขอยู่บนคราบน้ำตาของราษฎร” และคำที่ติดปากก็คือ “กดขี่ขูดรีด”

ผมเคยอ่านเอกสารตัวเขียนพบคำว่า “เข้าเดือน” เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักคำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ทั้งๆ ที่ควรจะเก็บ

“เข้าเดือน” เป็นระบบที่ผู้ปกครองบ้านเมืองสมัยโบราณเกณฑ์ราษฎรไปทำงานให้ทางราชการ ตรงกับคำข้างต้นที่ว่า “บังคับกะเกณฑ์ผู้คนในท้องไร่ท้องนาให้ทำงานให้พวกเขา” แต่งานที่ให้ทำนั้นเป็นงานส่วนรวม คือทางราชการคิดอ่านทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น แต่ไม่มีกำลังคนพอที่จะทำ จึงใช้วิธีเกณฑ์ราษฎรไปทำงานนั้นด้วยระบบ-ทำงานหลวงเดือนหนึ่ง แล้วกลับบ้านไปทำงานของตัวเดือนหนึ่ง สลับกันเรื่อยไป 

ระหว่างไปทำงานหลวง เรียกว่า “เข้าเดือน” ครบเดือนแล้วกลับบ้านเรียกว่า “ออกเดือน” 

การเกณฑ์คนหรือเกณฑ์แรงงานทำนองนี้ได้ทำสืบต่อกันมาช้านาน ต่อมาแม้จะไม่เกณฑ์แบบเข้าเดือน-ออกเดือนเป็นการประจำ แต่ก็ยังมีอยู่เป็นครั้งคราว เชื่อว่าคนเก่าๆ ยังทันรู้ทันเห็นกันเป็นส่วนมาก 

จนเมื่อทางราชการมีระบบรับคนเข้าทำงานเป็นการเฉพาะ และเกิดระบบจ่ายค่าแรง ระบบเกณฑ์แรงงานจึงเลิกไป   แต่ที่ยังเป็นพยานของระบบนี้ก็คือการเกณฑ์ทหาร 

การเกณฑ์ทหารยังเลิกไม่ได้เพราะมนุษย์ยังมีความโลภเป็นเจ้าเรือน ไม่ว่าโลกจะเจริญเพียงไร ความโลภก็ยังอยู่ ประเทศหนึ่งอาจยกพวกไปยึดอีกประเทศหนึ่งได้ตลอดเวลา ไว้ใจกันไม่ได้ แต่ละประเทศจึงต้องมีกำลังทหารไว้ป้องกันประเทศ 

ใครที่คิดว่าควรยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร จะต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ก่อน - คือถ้าไม่ใช้วิธีเกณฑ์ จะได้กำลังทหารมาด้วยวิธีไหน คำที่ยังหลงเหลือเป็นพยานในระบบเกณฑ์ทหารก็คือคำว่า “รัชชูปการ” = เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘-๖๐ ปีที่มิได้รับราชการทหารหรือได้รับการยกเว้นเป็นรายบุคคล 

สมัยเป็นเด็ก ผมยังทันได้ยินผู้ใหญ่พูดถึง “เงินค่ารัชชู” คือใครไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารก็เสียเงินให้หลวงตามระเบียบ เป็นที่รู้กัน แต่ไม่ใช่วิธี “ยัดเงิน” หรือ “เอาเงินอุด” อย่างที่ทำกันผิดๆ ในสมัยนี้

ในเมืองไทย เมื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ระบบเกณฑ์คนไปทำงานหลวงแต่พลิกแพลงหาผลประโยชน์ส่วนตัวตรงๆ ก็พลอยถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปด้วย  แต่วิธีที่คนส่วนน้อยดูดเอาผลประโยชน์ไปจากคนส่วนใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป

เรื่องนี้ ผมคิดถึงระบบธุรกิจข้ามชาติที่กำลังเป็นไปในโลกปัจจุบัน คือ การที่ชาติหนึ่งเข้าไปดำเนินธุรกิจในดินแดนของอีกชาติหนึ่ง ซึ่งมีทรัพยากรต่างๆ อุดมสมบูรณ์ แล้วก็ขนเอาผลประโยชน์กลับไปยังชาติของตน จนในที่สุด ชาติที่เป็นพื้นที่ตั้งทำธุรกิจนั้นก็จะกลายเป็นดินแดนที่ “ไร้โอชะ” เพราะถูกดูดเอาทรัพยากรและผลประโยชน์ต่างๆ ไปจนหมด เหมือนแมงมุมดูดเลือดเหยื่อจนเหลือแต่ซาก 

ประเทศไทยเราก็ดูเหมือนจะกำลังถูกต่างชาติเข้ามารุมดูดกันอยู่อย่างเพลิดเพลิน สักวันหนึ่ง แผ่นดินไทยอาจจะเป็นดินแดนที่คัมภีร์ท่านเรียกว่า “นิโรชํ” ก็เป็นได้ เคยคิดอย่างนี้กันบ้างหรือเปล่าครับ? 

ที่ท่านว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองที่นับว่ามีฐานะดีที่สุดก็จะมีทรัพย์สมบัติเพียงประมาณแสนเหรียญ (สตสหสฺสมตฺตา กหาปณา) นี่ก็น่าคิด ถ้าคิดเทียบผลประโยชน์ที่ถูก “ดูด” เอาไป กับผลประโยชน์ที่เขาทำตกๆ หล่นๆ ไว้ให้เจ้าของบ้านเมือง แม้จะมีจำนวนถึงแสนเหรียญก็ต้องถือว่ากระจอกเต็มที 

ที่คำทำนายบอกไว้ถึงสภาพการทำงานของผู้คนนั้น ผมรู้สึกว่าทำท่าจะเป็นจริงในบ้านเรานี่เข้าแล้ว เพราะทุกวันนี้ผู้คนพากันทิ้งไร่นาเข้ามาหางานทำในเมืองเป็นจำนวนมาก   แม้จะเอางานออกไปให้ทำกันในท้องถิ่น ที่เรียกว่าขยายการพัฒนาไปสู่ชนบท แต่ “ผลประโยชน์จากการประกอบการ” ที่แท้จริงนั้น ตกถึงมือเจ้าของแรงงานจริงๆ เท่าไรก็ไม่รู้ 

เพราะฉะนั้น ตุ่มใบใหญ่ๆ ในบ้านเมืองซึ่งก็มีอยู่หลายใบพอสมควร จึงเต็มจนล้นแล้วล้นอีก ในขณะที่ตุ่มใบเล็กอีกหลายสิบล้านใบ ยังคงว่างแล้วว่างอีก   ช่างเผอิญมาตรงกันได้กับคำทำนายอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ 

นี่ผมพูดถึงคำทำนายในคัมภีร์นะครับ ไม่ได้ว่าใครทั้งสิ้น

คำกลอนทำนายพระยาปัตเถวน

หนึ่งฝันว่าประชาชนนั้นขนน้ำ   ช่วยกันปล้ำเทส่งลงตุ่มใหญ่

แต่ตุ่มน้อยร้อยพันเรียงกันไป   หามีใครเทใส่แต่สักคน

พระวรญาณโปรดประทานประกาศิต   แนะนิมิตทายเข็ญให้เห็นผล

ว่าภายหน้าเสนาเป็นนายพล   ราษฎร์จะปล้นทรัพย์ใส่ในตุ่มโต

ยิ่งมีก็ยิ่งมากหลากเหลือล้น   ยิ่งยากจนก็ยับหนักลงอักโข

จะรุ่งงามตระการหน้าแต่พาโล   ที่ซื่อสัตย์ก็จะโซดังตุ่มน้อย ฯ

เอื้อเฟื้อต้นฉบับคำกลอน: อาทิตย์ รักษา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓,  ๑๗:๔๖

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑),  (ตอน ๒),  (ตอน ๓),  (ตอน ๔),  (ตอน ๕),  (ตอน ๖)(ตอน ๗),  (ตอน ๘),  (ตอน ๙),  (ตอน ๑๐),  (ตอน ๑๑),  (ตอน ๑๒),   (ตอน ๑๓),  (ตอน ๑๔),  (ตอน ๑๕),  (ตอน ๑๖),  (ตอน ๑๗),  (ตอน ๑๘),  (ตอน ๑๙),  (ตอน ๒๐),  (ตอน ๒๑),  (ตอน ๒๒),  (ตอน ๒๓)









ศิลปะความงามอลังการผสานศรัทธา อารามตาปา โชตอร์(Tapa Shotor) อารามพุทธนิกายสรวาสติวาท ศิลปะคันธาระ (Gandhara art) เพชรน้ำหนึ่ง 







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: