วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๑)

พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๑)

ผมเขียนเรื่อง “กลองอานกะ” เพื่อชวนให้คิดถึงความอันตรธานของพระศาสนาในอนาคต 

กลองอานกะ (๑)   กลองอานกะ (๒)

ชวนให้คิดถึงความอันตรธานของพระศาสนา เพราะได้เห็นแนวคิดแนวปฏิบัติของชาวพุทธ-โดยเฉพาะชาวพุทธที่เป็นผู้นำ 

ชาวพุทธที่เป็นผู้นำในสังคมไทยก็คือพระสงฆ์ 

ชาวบ้านประพฤติผิดศีลธรรม เช่น เสพสุรา ฆ่าสัตว์ ก็ทำให้ศาสนาเสื่อม แต่ไม่มีใครรุมประณาม เนื่องจากเห็นกันว่าเป็นวิถีชาวบ้าน  แต่ถ้าพระประพฤติผิดพระธรรมวินัย จะถูกรุมประณามว่า-ทำให้ศาสนาเสื่อม   นี่คือข้อยืนยันว่า-ชาวพุทธที่เป็นผู้นำ-ซึ่งหมายถึงผู้นำทางศาสนา-ในสังคมไทยก็คือพระสงฆ์ 

ผมเห็นว่าเวลานี้พระสงฆ์กำลังพยายามจะปรับตัว ด้วยข้ออ้างที่ฟังดูสำคัญมาก คือ-เพื่อให้พระศาสนาอยู่รอด 

คำว่า “เพื่อให้พระศาสนาอยู่รอด” นั้น ตัวชี้วัดก็อยู่ที่พระสงฆ์ คือถ้าพระสงฆ์อยู่รอดก็หมายถึงพระศาสนาอยู่รอด 

หลายๆ เรื่องที่ปรับตัวก็คือ การใดที่ห้ามทำ พระสงฆ์สมัยก่อนท่านไม่ทำ แต่พระสงฆ์สมัยนี้ทำ และการใดที่ต้องทำหรือควรทำ พระสงฆ์สมัยก่อนท่านตั้งใจทำ ไม่ละเลย แต่พระสงฆ์สมัยนี้ท่านละเลยไปเสียบ้างก็มี

ทั้งการทำและการไม่ทำนี้ ล้วนมีข้ออ้างสำคัญ คือสังคมเปลี่ยนไป พระต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 

เรื่องปรับตัวนั้นสำคัญมาก ถ้าไม่มีหลักหรือถ้าไม่ยึดหลักไว้ให้มั่นคง จะกลายเป็นตัวเร่งให้พระศาสนาดำเนินไปสู่ความอันตรธานเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นตัวจักรหรือฟันเฟืองตัวหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้พระศาสนาเริ่มอันตรธาน 

ถัดจากนั้นมา ผมก็เขียนอีกเรื่องหนึ่ง คือ “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” 

หลังจากเรื่อง “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” ซึ่งจบลงด้วยการเชิญชวนให้ช่วยกันศึกษาเรื่อง “อันตรธาน” ผมก็เอาเรื่องขนาดยาวมาคั่นไว้ นั่นคือเรื่องในชุด “ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น” 

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น  (ตอน ๑)

“ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น” เป็นเรื่องที่ว่าด้วย “อันตรธาน” ในลักษณะหนึ่ง นั่นคือความดีอันตรานไป ความชั่วร้ายเกิดขึ้นมาแทน   แบบเดียวกับ-พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องอันตรธานไป สิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา-แต่เราพากันเรียกว่า “พระพุทธศาสนา” เกิดขึ้นมาแทน

ถ้าใครเคยไปวัดบางวัดที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปกันวันละเป็นพันเป็นหมื่น จนแทบจะไม่มีที่ยืนที่นั่ง แล้วสังเกตดู ก็จะพบว่าผู้คนเหล่านั้นตั้งใจไปทำพิธีกรรมเพื่อสนองความเชื่อของตน และพิธีกรรมต่างๆ นั้นห่างไกลจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาออกไปทุกที 

วัดในพระพุทธศาสนากำลังกลายเป็นแหล่งทำพิธีกรรม มิใช่แหล่งปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม และเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนา-เข้าไปทุกที 

พร้อมกับมีคำอธิบายออกมาในเชิงสนับสนุนว่า-ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ประชาชนไปมั่วสุมอบายมุข วัดทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนา

คำอธิบายทำนองนี้มีคนเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ 

โดยเฉพาะวลีสำเร็จรูปที่นิยมพูดกัน ... จะเอาอะไรกันนักกันหนา  เท่ากับบอกว่า ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยมันไปอย่างนี้แหละดีแล้ว 

เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาเรื่องนี้ ผมขอเชิญชวนให้ชาวเราช่วยกันศึกษาพระสูตรหนึ่ง นั่นคือ สัทธัมมปฏิรูปกสูตร ดังจะขออัญเชิญมาเสนอไว้ในบทความนี้

ผมทราบดีและเข้าใจดี ว่าการอ่านพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่   ซ้ำยังมีความคิดเห็นที่คอยกระทบต่อความอุตสาหะอยู่เสมอ นั่นคือความเห็นที่ว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ไม่มีใครเขาอ่านกันแล้ว แม้ที่แปลเป็นไทยก็อ่านเข้าใจยากเป็นที่สุด ทำไมจึงไม่แปลให้เป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายๆ กันบ้างเล่า 

เมื่อมีผู้ส่งเสริมเช่นนี้ ผู้ที่จะศึกษาพระไตรปิฎกก็ดูเหมือนจะไม่ต้องทำอะไร นอกจากนั่งรอให้มีผู้แปลภาษาบาลีให้เป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายๆ มายื่นใส่มือ 

อุปมาเป็นภาพ-เสมือนคนนั่งรอกินอาหาร นั่งอ้าปากรอให้มีคนตักอาหารใส่ปาก และต้องเป็นอาหารชนิดที่ไม่ต้องเคี้ยว คนกินมีหน้าที่กลืนอย่างเดียวเท่านั้น 

ดังนั้น จึงต้องขอร้องให้อดทนอ่าน ถ้าคิดหาเหตุผลอื่นใดไม่ออก ก็ขอให้นึกว่า-อ่านเป็นพุทธบูชา หรืออ่านเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาก็ได้ หรือคิดอีกนัยหนึ่ง เวลานี้พวกเราจำนวนมากนิยมกางหนังสือสวดมนต์อ่าน แล้วเราก็บอกกันว่า-ฉันสวดมนต์ 

เวลาอ่านพระสูตรที่มีคำบาลี ก็ขอให้ทำใจว่าฉันกำลังสวดมนต์   กางหนังสือสวดมนต์อ่านยังทำได้   กางพระสูตรอ่านก็ควรทำได้เช่นกัน   คำบาลีเหมือนกัน   หนังสือสวดมนต์ก็คำบาลี  พระสูตรก็คำบาลี   ถ้ากางหนังสือสวดมนต์อ่านได้บุญ    กางพระสูตรก็อ่านได้บุญเช่นกัน   

คิดอย่างนี้ก็จะมีอุตสาหะในการศึกษาพระศาสนา

ท่านที่นิยมสวดมนต์ ถ้าจะอัญเชิญสัทธัมมปฏิรูปกสูตรไปสวดเป็นประจำอีกสักบทหนึ่งก็จะช่วยยืดอายุพระศาสนาได้อีกทางหนึ่ง เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

ตอนหน้า: สัทธัมมปฏิรูปกสูตร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๗ กันยายน ๒๕๖๔,  ๑๘:๔๒

พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๑),     พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๒),      พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๓),      พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๔)





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: