วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

ความเข้าใจเรื่อง “ศีล” การรักษาศีล มีความมุ่งหมายอย่างไร ?

ความเข้าใจเรื่อง “ศีล” การรักษาศีล มีความมุ่งหมายอย่างไร ?

“สําหรับคําว่า “ศีลวัตร” บางคนก็เข้าใจแล้ว บางคนก็ยังไม่เข้าใจ ศีลวัตร ก็คือ สีล กับ วตฺต อย่างนี้ก็ได้, ศีลวัตร คือ ศีลกับวัตร อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ในที่นี้อยากจะเล็งถึงศีลและวัตร รวมกันเป็น ๒ อย่าง : ศีลเป็นอย่างหนึ่ง วัตร เป็นอย่างหนึ่ง

คําว่า “ วรฺต ” ในภาษาสันสฤตหรือ “ วตฺต ” ในภาษาบาลีนั้น มาแปลงเป็นไทย เรียกว่า วัตร หรือ “พรต”. “ศีล” ก็คือ “ศีล”,  “วัตร” ก็คือ “พรต”.  พรต ก็คือ การบําเพ็ญพรต, ศีลก็คือการบําเพ็ญศีล.  บําเพ็ญศีล และ บําเพ็ญพรต นี้ต่างกันอย่างไร ? 

คําว่า “ศีล” เราหมายถึง หัวข้อสําคัญๆ ที่บังคับให้ต้องปฏิบัติ คําว่า “วัตร” นั้น หมายถึง เรื่องเล็กน้อยที่เกี่ยวกับศีลนั่นเอง หากแต่ว่าไม่สําคัญเท่ากับสิ่งที่เรียกว่าศีล ก็เลยเรียกว่า “วัตร”  แล้วก็ไม่บังคับเฉียบขาดเหมือนกับสิ่งที่ เรียกว่า ศีล

เดี๋ยวนี้ การปฏิบัติในทางศาสนายังไม่ดีจนเป็นที่น่าพอใจ เพราะว่ารากฐานอันแรกคือ ศีล นี้ ยังไม่ดี ทีนี้ การที่จะมีสมาธิมีธรรมะสูงขึ้นไป จึงทําไม่ได้ เพราะรากฐานยังไม่ดี. และโดยเฉพาะคนสมัยปัจจุบันนี้ มีอยู่เป็นส่วนมากที่เป็น “วัตถุนิยมจัด” คือ บูชาวัตถุ บูชาเรื่องทางเนื้อหนังมาก พวกนี้จะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ศีล” เลย. หรือจะรู้จักก็รู้จักผิดๆ ถ้าพูดให้ดีแล้วก็ไม่รู้จักนั่นแหละมากกว่า คือ เมื่อรู้จักผิดๆก็มีผลเท่ากับไม่รู้จัก ฉะนั้น จึงถือว่าไม่รู้จัก

คนพวกนี้ได้ยินเขาพูดกันว่า ที่วัดมีการรักษาศีล หรือถ้าเดินผ่านวัดไปเขาก็มองเห็นว่า พวกโน้นเขารักษาศีลกันอยู่ แล้วก็ไม่รู้ว่ารักษาอย่างไร ?  เพื่ออะไร ? ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องมงายของคนหัวโบราณ ก็รู้เท่านี้ ว่าเขารักษาศีลกันอยู่ รักษาศีลเพราะไม่มีอะไรจะทํา คิดไปเสียอย่างนี้ก็ได้ หรือเพราะว่าคนที่รักษาศีลทําอะไรไม่น่าดู :  คนที่ไปรักษาศีลอยู่ในโบสถ์แท้ๆนี้ก็ยังพูดเรื่องที่ไม่ควรพูด, หรือ บางทีไปทําสิ่งที่ไม่ควรทํา ใช้โบสถ์นั้นเป็นตลาด สําหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายอะไรกันก็มี   ก็เป็นที่ดูถูกของคนสมัยนี้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งด้วย คนสมัยวัตถุนิยมจึงประณามว่าเรื่องของคนที่ถือศีลนี้ไม่มีอะไรที่น่าสนใจ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดอย่างที่กล่าวมานี้ ก็ล้วนแต่เป็นเครื่องแสดงว่า เราจะต้องปรับปรุงกันเสียที ให้การปฏิบัติเรื่องศีลวัตรนี้อยู่ในสภาพที่น่าพออกพอใจ คือว่า คนผู้รักษาก็ได้ประโยชน์ แล้วคนที่มองเห็นก็พากันเลื่อมใส หรือว่าอยากจะรักษาบ้าง บ้านเมืองก็จะเป็นสุขเพราะว่าคนมีศีล

ผลของการรักษาศีล

ทีนี้ อยากจะให้รู้จักศีลโดยส่วนใหญ่กว้างขวางออกไป โดยเล็งเอาผลของการรักษาศีลเป็นเครื่องแบ่งประเภท:   เพราะว่าศีลทั้งหลายที่ผู้รักษาศีลรักษากันอยู่นี่ แบ่งออกได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆ ว่า :  ศีลที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ คือศีลที่รักษาเท่าไรอย่างไรก็ยังทําให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารนี้ และ ศีลอีกประเภทหนึ่ง ที่เมื่อรักษาแล้วจะพาออกไปนอกวัฏฏสงสาร

ศีลประเภทที่ ๑ ที่ยังคงทําให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารนี้ คนชอบกันมาก, ทายกทายิกาทั้งหลายรักษาศีลประเภทนี้กันเป็นส่วนมาก. ที่เห็นง่ายๆ เช่น รักษาศีลแล้วจะได้เกิดในสวรรค์: อย่างนี้ก็เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร: วนไปสวรรค์ หมดกําลังเข้าแล้ว ก็กลับมามนุษย์, นี้ก็เรียกว่า เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ ไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ “นิพพาน”.  ศีลที่รักษากันอยู่โดยมากก็ว่าจะได้บุญ แล้วบุญจะช่วยเราให้สวย ให้รวย ให้อะไร ตามที่เราต้องการนี้ แต่ว่าความต้องการของเราเป็นเรื่องวัฏฏะทั้งนั้น : ให้สวยก็อยู่ในวัฏฏะ ให้รวยก็อยู่ในวัฏฏะ ให้ดี ให้เด่น ให้มีอํานาจวาสนา ก็อยู่ในวัฏฏะ

ศีลประเภทที่ ๒ ไม่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ แต่เป็นไปเพื่อ “วิวัฏฏะ” คือออกไปเสียจากวัฏฏะ ผู้ที่รักษาศีลประเภทนี้ไม่ได้รักษาศีลด้วยกิเลสใช้ให้รักษา. พวกแรกนั้นกิเลสมันใช้ให้รักษา  ส่วนพวกนี้สติปัญญาหรือ “โพธิ” ใช้ให้รักษา ว่าแกจงรักษาศีลเพื่อออกไปเสียจากการเวียนว่าย.  เอาผลของศีลเพื่อส่งเสริมให้เกิด สมาธิ ปัญญา ไปสู่มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่รักษาศีลเพื่อจะเอาสวรรค์วิมาน เพื่อสวย เพื่อเอร็ดอร่อย ซึ่งเป็นเหตุให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะนี้

มีคําพูดที่พูดกันอยู่เสมอว่า :  “ดอกไม้มีกลิ่นหอม แต่ไม่ทวนลมได้ ส่วนศีลทวนลมได้” นี่เขาอุปมาเป็นกลิ่นหอม. หรือสวยก็เหมือนกัน : สวยอย่างที่ว่าประดับเพชรพลอยอย่างนี้ มันก็อย่างเด็กอมมือ :  ถ้าสวยแท้จริงก็สวยอย่างความมีศีล มีความดี มีความเด่น,  อยู่สบายในโลกนี้และโลกอื่นนอกจากโลกนี้ นี่หมายความว่า เผื่อว่ามันมีโลกอื่น หรือถ้าไม่มีโลกอื่น เราก็รับประกันได้เหมือนกันว่าเราอยู่ได้สบาย,  ศีลทําให้บุคคลเป็นอย่างนี้ และทําให้สังคมนี้ จะเป็นสังคมเล็กสังคมใหญ่ก็ตามเถอะ มีสภาพน่าเลื่อมใส อยู่กันได้ด้วยความสงบสุข สามัคคี.  อานิสงส์ของการไม่เบียดเบียนกันนั่นเหละ คือ อานิสงส์ของศีล มองดูกันด้วยสายตาแห่งความรัก เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำกับนม. นี้เป็นสํานวนบาลี พรรณนาอานิสงส์ของการที่สังคมมีศีล. 

เดี๋ยวนี้เรามองตากันด้วยความระแวง ความกลัว ความเกลียด เพราะไม่มีศีลกันทั้งสองฝ่าย หรือมีศีลฝ่ายเดียวก็ยังมองตากันด้วยลักษณะนี้ :  ระแวง เกลียด กลัว อิจฉาริษยาใครก็ไม่รู้ แล้วก็เข้ากันไม่ค่อยจะได้ ขัดขวางกันเพราะความมีศีลไม่เหมือนกัน หรือไม่มีศีลเลย.

 “นอนไม่ต้องปิดประตู” นี้ก็เป็นคําโบราณมาก   มีในบาลี(พระไตรปิฎก) “นอนไม่ต้องปิดประตู ให้ลูกเต้ารําอยู่บนอก” อะไรในทํานองนี้มีมากเหลือเกิน ที่เป็นอานิสงส์ของการไม่เบียดเบียน  คนไม่ต้องกลัว ไม่ต้องระแวงใคร นอนไม่ต้องปิดประตูบ้าน หรือบ้านไม่ต้องทําประตู,  นี่ ศีลประเภทโลกียะ ที่ประกอบด้วย“อุปธิ” มันก็ให้มากได้เพียงเท่านี้ คือให้อยู่กันเป็นผาสุกทั้งโดยส่วนเอกชนและสังคม

ศีลประเภท “นิรูปธิกา” คือ “ไม่ประกอบด้วยอุปธิ” ศีลชนิดนี้ส่งไปทางสมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ดังนั้น คนบางคนเขาปฏิบัติรักษาศีลประเภท นิรูปธิกา ไม่ต้องการสวรรค์วิมาน ไม่ต้องดีเด่นในสังคม ต้องการให้หมดกิเลสเร็วๆ ฉะนั้น มีศีลเมื่อไร ก็เป็นการบังคับกิเลสจากภายนอกเข้าไปทันที. กิเลสถูกบังคับจากภายนอกแล่นเข้าไปภายใน ก็ถูกสมาธิ ถูกปัญญาตัดฟันเอาอีก มันก็เลยตายหมด. “ศีล”นี้ ล้อมหรือต้อนกิเลสเข้าไปให้จนมุม ให้สมาธิกดหัวเอาไว้ ให้ปัญญาเชือดคอให้ขาด; กิเลสมันก็ตาย. รักษาศีลในรูปนี้ โดยความมุ่งหมายอย่างนี้ เป็น  “นิรูปธิกา”  มีอานิสงส์เพื่อมรรคผลนิพพาน. นี่อานิสงส์โดยหลักใหญ่ใจความ มันก็มีอยู่อย่างนี้: โดยรายละเอียดก็ไปแจงดูก็แล้วกัน

เดี๋ยวนี้ โลกไม่มีสันติภาพ เพราะว่าโลกไม่มีศีล,  โลกปัจจุบันนี้ไม่มีศีล จึงไม่มีสันติภาพ. โลกปัจจุบันนี้ขาดศีล ไม่มีศีล ทําลายศีลทุกข้อเลย.  นี่พูดโดยส่วนใหญ่ ว่าโลกปัจจุบันนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ยกเว้นส่วนน้อย: ทีนี้ ส่วนใหญ่นั้นเป็นโลกที่ไม่มีศีล แล้วเดือดร้อนอยู่ทุกหัวระแหง อย่างที่เห็นๆกันอยู่:  ไม่ต้องเชื่อคนอื่น เห็นได้ด้วยตนเองว่าโลกกําลังไม่มีสันติภาพยิ่งขึ้น ๆ ๆ  จะร้อนระอุยิ่งขึ้น จะเอียงไปทางมิคสัญญีมากขึ้น”

พุทธทาสภิกขุ - ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ ภาควิสาขบูชา ครั้งที่ ๓ ชุดโอสาเรตัพพธรรม หัวข้อเรื่อง “หลักปฏิบัติเกี่ยวกับศีลวัตร” เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “โอสาเรตัพพธรรม” หน้า ๖๙-๗๑, ๘๓-๘๕, ๙๙-๑๐๐

"กลิ่นดอกไม้ ลอยไปทวนลมไม่ได้  กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา   หรือ กลิ่นกะลำพัก ลอยไปทวนลมไม่ได้  ส่วนกลิ่นของ“สัตบุรุษ” ลอยไปทวนลมได้  เพราะสัตบุรุษขจรไปทั่วทุกทิศ  ด้วยกลิ่นแห่งคุณ มีศีล เป็นต้น"

(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์)

คันธชาตสูตร,  พระไตรปิฎกภาษาไทย(มจร.),  พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต.  เล่ม ๒๐ ข้อ ๘๐ หน้า ๓๐๓-๓๐๕ 

หมายเหตุ :   “สัตบุรุษ” หมายถึง คนสงบ, คนดี, คนมีศีลธรรม, คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม คือธรรมของสัตบุรุษ ในที่นี้หมายถึง โลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑)






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: