วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

ที่ไหนมีหน้าที่ ที่นั่นมีธรรมะ

ที่ไหนมีหน้าที่  ที่นั่นมีธรรมะ

หลักสำคัญมีอยู่ว่า "ที่ไหนมีการทำหน้าที่ ที่นั่นมีธรรมะ ที่ไหนไม่มีการทำหน้าที่ ที่นั่นไม่มีธรรมะ" ต่อให้ในโบสถ์ ที่มีอะไรๆ สำหรับจะมีในโบสถ์ เต็มไปหมด แล้วไม่มีการทำหน้าที่ของธรรมะ มีแต่สั่นเซียมซี พิธีบวงสรวง ขอร้องอ้อนวอน เจิมหรือทากันไม่มีที่สิ้นสุด ในโบสถ์นั้นไม่มีธรรมะสักนิดเดียว ขอยืนยันว่าในโบสถ์นั้นไม่มีธรรมะสักนิดเดียว

แต่ธรรมะไปมีอยู่ที่กลางนา ที่ชาวนาคนหนึ่งรู้จักหน้าที่ของตน แล้วไถนาอยู่ด้วยความพอใจ ด้วยความสุขใจ ไถนาอยู่โครมๆ ในนานั่นแหละกลับจะมีธรรมะ ในโบสถ์กับไม่มีธรรมะ เพราะไม่มีการทำหน้าที่ หรือแม้จะมีการทำหน้าที่ ก็ไม่รู้สึกว่าหน้าที่คือธรรมะ ก็มาทนทำอะไรอย่างคับอกคับใจ อยู่กลางโบสถ์นั่นเอง มันก็เลยไม่มีธรรมะ

ฉะนั้น อย่าไปเอาสถานที่เป็นหลัก แต่เอาธรรมะเป็นหลัก เอาของจริงเป็นหลัก ว่าที่ไหนมีการทำหน้าที่อันถูกต้อง ที่นั้นมีตัวธรรมดาอันแท้จริง

เอ้า, ทีนี้มันน่าหัว ในข้อที่ว่า พวกเราก็ทำหน้าที่เป็นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้จักความจริง ที่ว่า หน้าที่คือธรรมะ มันก็เลยกลายเป็นนรกในการทำหน้าที่ มันบีบบังคับความรู้สึก ให้รู้สึกเป็นการต้องทน ต้องอดกลั้น และทนทรมาน ไม่มีความชื่นอกชื่นใจในการทำหน้าที่ ทำให้เกิดการว่างงานกันเสียก็มาก

เดี๋ยวนี้มารู้กันเสียใหม่ คือรู้ความลับข้อนี้ว่า ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ปฏิบัติหน้าที่นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมะ ก็เลยเป็นการปฏิบัติธรรมะ อยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่เคยทำอยู่ จะเป็นการทำไร่ ทำนา ค้าขาย ถีบสามล้อ แจวเรือจ้าง อะไรก็ตามเถิด มันก็จะกลายเป็นธรรมะไปหมด ถ้ารู้สึกว่าการงานในหน้าที่ คือธรรมะแล้ว ก็จะพอใจอย่างยิ่ง ที่ได้ทำการงาน

เมื่อพอใจ มันก็เป็นสุข มันก็มีความสุข ในการขุดดิน ทำสวน ทำนา ค้าขาย ทำราชการ ทำกรรมกร ทำขอทาน เรียกว่ามีความพอใจ จนมีความสุข เมื่อได้ทำหน้าที่ นี่เรียกว่าหลักเกณฑ์ที่เราจะทำให้มันมีสวรรค์ อยู่ในทุกอิริยาบถ เมื่อทำหน้าที่ของตน มีความพอใจชื่นใจตัวเอง อยู่ทุกอิริยาบถ

ขอระบุไปตั้งแต่ว่า พอตื่นนอนขึ้นมา เอ้า, ตามธรรมดามันก็ต้องล้างหน้า ถ้าทำความรู้สึกเป็นธรรมมานุสสติว่า หน้าที่ล้างหน้านั้น ก็คือการปฏิบัติธรรม อย่างนี้แล้ว ก็พอใจ ก็ล้างหน้าเป็นสุข ล้างหน้าอย่างดีที่สุดก็พอใจๆ จนเป็นสวรรค์เมื่อล้างหน้า

เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนี้ มันไม่ได้ล้างหน้าด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ล้างหน้าด้วยความไม่รู้สึกอยากจะล้างหน้าด้วยซ้ำไป จิตใจไม่อยู่กับตัว ก็ล้างหน้าเหมือนกับล้างก้น แล้วก็ไม่ได้ผลในข้อที่ว่ามันจะเป็นธรรมะอยู่ที่นั่น

ดังนั้น ขอร้องว่า พอตื่นนอนขึ้นมา หน้าที่แรก จะล้างหน้า หน้าที่การล้างหน้าก็คือ หน้าที่บริหารร่างกาย บริหารชีวิต เป็นธรรมะอยู่แล้ว ก็ให้รู้สึกพอใจในการกระทำ ชื่นอกชื่นใจในการกระทำ ถ้าพอใจแล้ว มันก็ชื่นใจ มันก็ต้องเป็นความสุขเป็นแน่นอน

ขอให้มีความพอใจเถอะ ความพอใจนั่นแหละเป็นตัวสำคัญ เรียกว่า ปีติ ถ้ามีปีติอย่างชนิดที่กล่าวแล้วนี้ ก็เรียกว่า ธรรมะปีติ ปีติในธรรม มีปีติโดยความเป็นธรรม อยู่ในการล้างหน้านั้น มันก็เลยเป็นสุขอยู่ตลอดเวลาที่ล้างหน้า เป็นการปฏิบัติธรรม ตลอดเวลาที่ล้างหน้า มันจะเสียเวลาอะไรนักเล่า ที่จะมาคิดนึกอย่างนี้กันบ้าง เพราะเมื่อล้างหน้าอยู่นั่นเอง มันก็คิดนึกได้

ถ้าไม่มีการปฏิบัติอย่างนี้ ใจก็จะลอยไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ ล้างหน้าอย่างใจลอย จิตใจก็ไปอยู่ในเรื่องโมโหโทโสอะไรก็ไม่รู้ อย่างนั้นแหละมันเป็นนรกไปตลอดเวลาที่ล้างหน้า

ขอให้ทำอย่างถูกต้องและพอใจ รู้สึกว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องตามธรรมแล้ว ถูกต้องตามหน้าที่แล้ว ทั้งตามกฎของศีลธรรม และกฎของธรรมชาติ ดังนี้แล้วก็พอใจ พอใจแล้ว ก็ไม่ต้องกลัว จะเป็นสุขขึ้นมาโดยอัตโนมัติ  ความสุขทุกชนิดเกิดมาจากความพอใจ ว่าถูกต้องแล้ว ปลอดภัยแล้ว ไม่ได้เกิดมาจากสิ่งอื่น พอใจมากก็สุขมาก พอใจน้อยก็สุขน้อย พอใจแล้วมันก็เป็นสุข 

ถ้าพอใจอย่างอันธพาล มันก็เป็นสุขของอันธพาล ความพอใจของพวกอันธพาล ก็เป็นความสุขของพวกอันธพาล ข้อนี้เราไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา เพราะเราถือเอาความพอใจที่เป็นธรรม เป็นของวิญญูชนที่มีธรรม

อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ ฟ้าสางระหว่าง ๘๐ ปี,  พุทธทาส อินทปัญโญ (น.๙๐)

Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: