วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๒๑)

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๒๑)

คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์

เทียบท่า (๒)

นอกจากเรื่องทำนายปัตถเวนนี้แล้ว ยังมีเรื่องที่กล่าวถึงความเสื่อมของสังคมอีก ๒ เรื่อง ที่ผมออกจะอัศจรรย์ใน “อนาคตังสญาณ” ของท่านผู้รู้แต่ปางก่อน ไหนๆ ก็พูดเรื่องทำนายอนาคตกันแล้ว ก็ขอนำมาคุยรวมกันไว้เสียด้วยเลย 

เรื่องแรก คือเรื่อง จตุรยุค เรื่องนี้เป็นความเชื่อของคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์-ฮินดู เป็นเรื่องมีมาเก่าแก่นมนานแล้ว น่าจะลองฟังไว้เป็นเครื่องประกอบการพิจารณา 

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานได้เก็บเอาเรื่องจตุรยุคไว้ในเล่มที่ ๗ มีข้อความกะทัดรัดชัดเจน ซึ่งผมขอหยิบยกเอาความบางส่วนมาเสนอไว้ดังต่อไปนี้ 

จตุรยุค แปลว่า ยุคทั้งสี่ คำว่า “ยุค” ในที่นี้ หมายถึง กำหนดอายุของโลก ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ยุคด้วยกัน คือ กฤดายุค ไตรดายุค ทวาบรยุค และกลียุค ...

ชาวฮินดูถือว่า จตุรยุคหรือยุคทั้งสี่นี้ พออนุโลมเทียบได้กับยุคทองคำ ยุคเงิน ยุคทองเหลือง และยุคเหล็ก ของคนโบราณ และที่เรียกยุคทั้งสี่นี้ว่า กฤดายุค ไตรดายุค ทวาบรยุค และกลียุคนั้น ก็เรียกตามจำนวนแต้มทั้งสี่ด้านของลูกบาศก์นั่นเอง กฤดายุคซึ่งเป็นยุคที่อุดมสมบูรณ์อย่างที่สุดหายุคใดเสมอเหมือนมิได้นั้น หมายถึงด้านที่มีสี่แต้ม ไตรดายุค หมายถึงด้านที่มีสามแต้ม ทวาบรยุค หมายถึงด้านที่มีสองแต้ม และกลียุค ซึ่งเป็นยุคมหาวินาศนั้น หมายถึง ด้านที่มีแต้มเดียว ...

ในสมัยกฤดายุค มนุษย์มีความสุขที่สุด มีชีวิตยืนนานที่สุด คือถึง ๔,๐๐๐ ปี ยุคนี้เป็นยุคที่ธรรมครองโลกอยู่เป็นนิจนิรันดร์ การปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่เสื่อมถอย ประชาชนก็ไม่เสื่อมทราม มนุษย์ไม่ต้องใช้ความเพียรพยายามใดๆ ทั้งสิ้น เพียงนึกอยากได้อะไร ก็จะได้สิ่งนั้นๆ สมดังปรารถนา ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการมุ่งร้ายหมายขวัญกัน ไม่มีการสงคราม ไม่มีการร่ำไห้ ไม่มีความหยิ่งยโส ไม่มีการหลอกลวง ไม่มีความโกรธความโหดร้ายทารุณ ความกลัว ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ใดๆ ทั้งสิ้น ... ทุกคนต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ... ยุคนี้จึงเปรียบเหมือนกับมีสี่ขาบริบูรณ์ 

ในสมัยไตรดายุค ธรรมก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปประมาณหนึ่งในสี่ ซึ่งเปรียบเสมือนเหลืออยู่เพียงสามขาเท่านั้น แต่มนุษย์ก็ยังยึดมั่นในธรรมอยู่และอุทิศชีวิตจิตใจให้แก่ธรรม โดยการถือเอาพิธีรีตองเป็นหลักสำคัญ ...

ในสมัยทวาบรยุค ธรรมลดลงเหลือเพียงกึ่งเดียว ซึ่งก็เปรียบเสมือนเดิมมีสี่ขา ก็ลดลงมาเหลือเพียงสองขาเท่านั้น ... โดยเหตุที่ความดีเสื่อมลงนี่เอง มนุษย์ที่ยึดมั่นในสัจธรรมจึงมีเพียงไม่กี่คน เมื่อมนุษย์เหินห่างจากความดี โรคภัยไข้เจ็บ ความทะยานอยาก ความหายนะหลากๆ ชนิดก็เกิดขึ้น ทำให้มนุษย์ทั้งหลายได้รับทุกข์ ... การที่มนุษย์ต้องเสื่อมทรามลงนี้ ก็เพราะมนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรมนั่นเอง 

ในสมัยกลียุค ธรรมลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ หรือเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนเดิมมีอยู่สี่ขา ยุคนี้ลดลงมาเหลือเพียงขาเดียว ... ความชั่วทุกชนิดต่างก็คืบคลานเข้ามา ความหายนะ โรคภัยไข้เจ็บ ความยากลำบาก ความผิดพลาด ความโกรธ ความทุกข์ ความหิวโหย และความกลัว มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ยิ่งกาลเวลาผ่านไปมากเท่าใด ธรรมก็เสื่อมลงมากเท่านั้น อายุก็สั้นลง เมื่อแก่เฒ่าลง เหตุผลก็น้อยลง ความเสื่อมทรามทั้งหลายได้ทำลายความมุ่งหมายเดิมของเขาลงอย่างหมดสิ้น พวกป่าเถื่อนก็เข้าครอบครองที่ดิน มีการรบราฆ่าฟันกันอยู่ตลอดเวลา 

นั่นคือข้อความจากเรื่องจตุรยุค 

เรื่องปริมาณของศีลธรรมหรือคุณงามความดีที่มีอยู่ในหัวใจคนในแต่ละยุคนั้น ถ้าเขียนออกมาเป็นรูปเพื่อให้มองเห็นง่าย ก็น่าจะมีรูปอย่างนี้

(ดูภาพประกอบ)

กฤดายุค   ศีลธรรมมีอยู่เต็มเปี่ยม  ไตรดายุค  ศีลธรรมเหลือ ๓ ส่วน  ทวาบรยุค  ศีลธรรมเหลือ ๒ ส่วนกลียุค  ศีลธรรมเหลือส่วนเดียว

ว่ากันว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในสมัยกลียุค ซึ่งเป็นยุคที่ความชั่วทุกชนิดต่างก็คืบคลานเข้ามา และสภาพความเสื่อมทรามทั้งหลายคงจะเป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสมัยกลียุค ซึ่งตำราบอกว่าใช้เวลาสี่แสนสามหมื่นสองพันปี 

แต่เนื่องจากเราไม่รู้ว่ากลียุคเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร เราจึงไม่ทราบว่าอีกนานเท่าไรจึงจะสิ้นสมัยกลียุค 

ตำราเรื่องจตุรยุคบอกด้วยว่า ในตอนปลายสมัยกลียุค ความร้อนของดวงอาทิตย์ได้ทวีความแรงกล้ายิ่งขึ้น ทำให้โลกเหือดแห้งไป ทำให้ไตรโลกลุกเป็นไฟ และถูกเผาผลาญย่อยยับเป็นจุณไป 

นับว่าเป็นอวสานของโลก 

ต่อจากนั้นก็จะมีกระบวนการสร้างโลกขึ้นมาใหม่  ฟังแล้วสยดสยองใจพิลึก 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓,  ๑๙:๑๔

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑) (ตอน ๒),  (ตอน ๓) (ตอน ๔) (ตอน ๕) (ตอน ๖), (ตอน ๗) (ตอน ๘) (ตอน ๙) (ตอน ๑๐) (ตอน ๑๑) (ตอน ๑๒),   (ตอน ๑๓) (ตอน ๑๔) (ตอน ๑๕) (ตอน ๑๖) (ตอน ๑๗) (ตอน ๑๘) (ตอน ๑๙) (ตอน ๒๐) (ตอน ๒๑) (ตอน ๒๒) (ตอน ๒๓)







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: