วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู (คาถาจรเข้)


"ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา,  วานรินฺท ยถา ตว;   สจฺจํ ธมฺโม ธิติ  จาโค,  ทิฏฺฐํ โส อติวตฺตตีติ ฯ  ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมคือวิจารณปัญญา ธิติคือความเพียร จาคะ เหมือนท่าน, ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้"

วานรินทชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภความตะเกียกตะกายขวนขวายเพื่อการฆ่าของพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา ดังนี้. 

ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงสดับข่าวว่า พระเทวทัตกำลังตะเกียกตะกายเพื่อปลงพระชนม์ จึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อฆ่าเราแม้ในกาลก่อน ก็เคยตะเกียกตะกายแล้วเหมือนกัน แต่ไม่อาจกระทำเหตุเพียงความสะดุ้งแก่เราได้เลย“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-  ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกระบี่ ครั้นเจริญวัยมีร่างกายเติบโตขนาดลูกม้า สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง เที่ยวไปตามแนวฝั่งน้ำลำพังผู้เดียว. ก็กลางแม่น้ำนั้น มีเกาะแห่งหนึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้อันมีผลนานาชนิด มีมะม่วงและขนุนเป็นต้น.

พระโพธิสัตว์ มีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรงโจนจากฝั่งแม่น้ำข้างนี้แล้ว ก็ไปพักที่หินดาดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่กลางลำน้ำ ระหว่างฝั่งแห่งเกาะ โจนจากแผ่นหินนั้นแล้ว ก็ขึ้นเกาะนั้นได้ ขบเคี้ยวผลไม้ต่าง ๆบนเกาะนั้น พอเวลาเย็นก็กระโดดกลับมาด้วยอุบายนั้น กลับที่อยู่ของตน ครั้นวันรุ่งขึ้นก็กระทำเช่นนั้นอีก พำนักอยู่ในสถานที่นั้น โดยนิยามนี้แล.  ก็ในครั้งนั้น มีจระเข้ตัวหนึ่งพร้อมกับเมียอาศัยอยู่ในน่านน้ำนั้น. เมียของมันเห็นพระโพธิสัตว์โดดไปโดดมา เกิดแพ้ท้องต้องการกินเนื้อหัวใจของพระโพธิสัตว์ จึงพูดกะจระเข้ผู้ผัวว่า „ทูลหัว ฉันเกิดแพ้ท้อง ต้องการกินเนื้อหัวใจของพานรินท์นี้“. จระเข้ผู้ผัวกล่าวว่า „ได้ซี่ เธอจ๋า เธอจะต้องได้“. แล้วพูดต่อไปว่า „วันนี้พี่จะคอยจ้องจับ เมื่อมันกลับมาจากเกาะในเวลาเย็น“ แล้วไปนอนคอยเหนือแผ่นหิน. 

พระโพธิสัตว์เที่ยวไปทั้งวันครั้นเวลาเย็น ก็หยุดยืนอยู่ที่ชายเกาะ มองดูแผ่นหินแล้วดำริว่า „บัดนี้ แผ่นหินนี้สูงกว่าเก่า เป็นเพราะเหตุอะไรหนอ ?“  ได้ยินว่า ประมาณของน้ำและประมาณของแผ่นหิน พระโพธิสัตว์กำหนดไว้เป็นอย่างดีทีเดียว ด้วยเหตุนั้น จึงมีวิตกว่า „วันนี้ น้ำก็ไม่ลงและไม่ขึ้นเลย, ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ หินนี้ดูใหญ่โตขึ้น จระเข้มันนอนคอยจับเราอยู่บนแผ่นหินนั้นบ้างกระมัง?“.

พระโพธิสัตว์ คิดว่า „เราจักทดสอบดูก่อน" คงยืนอยู่ตรงนั้นแหละ. ทำเป็นพูดกะหินพลางกล่าวว่า „แผ่นหินผู้เจริญ“ ยังไม่ได้รับคำตอบ ก็กล่าวว่า „หิน ๆ ถึง ๓ ครั้ง“ หินจักให้คำตอบได้อย่างไร ? วานรคงพูดกะหินซ้ำอีกว่า „แผ่นหินผู้เจริญ เป็นอย่างไรเล่า? วันนี้จึงไม่ตอบรับข้าพเจ้า". จระเข้ฟังแล้วคิดว่า „ในวันอื่น ๆ แผ่นหินนี้ คงให้คำตอบแก่พานรินทร์แล้วเป็นแน่, บัดนี้เราจะให้คำตอบแก่เขา“, พลางกล่าวว่า „อะไรหรือ? พานรินทร์ผู้เจริญ“. พระโพธิสัตว์ถามว่า „เจ้าเป็นใคร ?“ จรเข้ตอบว่า „เราเป็นจระเข้“. พระโพธิสัตว์ถามว่า "เจ้ามานอนที่นี่เพื่อต้องการอะไร ?“ จรเข้ตอบว่า „เพื่อต้องการเนื้อหัวใจของท่าน“.

พระโพธิสัตว์ดำริว่า „เราไม่มีทางไปทางอื่น วันนี้ต้องลวงจระเข้ตัวนี้“. ครั้นคิดแล้วจึงพูดกะมันอย่างนี้ว่า „จระเข้สหายรัก เราจะตัดใจสละร่างกายให้ท่านท่านจงอ้าปากคอยงับเราในเวลาที่เราถึงตัวท่าน“. เพราะหลักธรรมดามีอยู่ว่า เมื่อจระเข้อ้าปาก นัยน์ตาทั้งสองข้างก็จะหลับ. จระเข้ไม่ทันกำหนดเหตุ(อันเป็นหลักธรรมดา)นั้น ก็อ้าปากคอย ทีนั้นนัยน์ตาของมันก็ปิด.  มันจึงนอนอ้าปากหลับตารอ.

พระโพธิสัตว์รู้สภาพเช่นนั้น ก็เผ่นไปจากเกาะ เหยียบหัวจระเข้แล้วโดดจากหัวจระเข้ไปยังฝั่งตรงข้าม เร็วเหมือนฟ้าแลบ. จระเข้เห็นเหตุอัศจรรย์นั้นคิดว่า „พานรินทร์นี้กระทำการน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก“ พลางพูดว่า "พานรินทร์ผู้เจริญ ในโลกนี้บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมครอบงำศัตรูได้ ธรรมเหล่านั้นชะรอยจะมีภายในของท่านครบทุกอย่าง“, แล้วกล่าวคาถานี้ ใจ ความว่า :- „พานรินทร์ ธรรม ๔ ประการเหล่านี้สัจจะธรรม ธิติและจาคะ มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่านบุคคลนั้นย่อมพ้นศัตรูไปได้“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ได้แก่ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง.  บทว่า เอเต ความว่า ย่อมปรากฏโดยประจักษ์ในธรรมที่เราจะกล่าวในบัดนี้.  บทว่า จตุโร ธมฺมา ได้แก่ คุณธรรม ๔ ประการ.  บทว่า สจฺจํ ได้แก่ วจีสัจ คือที่ท่านบอกว่า จักมาสู่สำนักของข้าพเจ้าท่านก็มิได้กระทำให้เป็นการกล่าวเท็จ มาจริง ๆทีเดียว ข้อนี้เป็นวจีสัจของท่าน.  บทว่า ธมฺโม ได้แก่ วิจารณปัญญา กล่าวคือ ความรู้จักพิจารณาว่า เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จักต้องมีผลเช่นนี้ ข้อนี้เป็นวิจารณปัญญาของท่าน. ความเพียรอันไม่ย่อหย่อนขาดตอนลงท่านเรียกว่า ธิติแม้คุณธรรมข้อนี้ ก็มีแก่ท่าน.  บทว่า จาโค ได้แก่ การสละตน คือการที่ท่านสละชีวิต มาถึงสำนักของเรา แต่เราไม่อาจจับท่านได้นี้เป็นโทษของเราฝ่ายเดียว.  บทว่า ทิฏฺฐํ ได้แก่ ปัจจามิตร.  บทว่า โส อติวตฺตติ ความว่า ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ดังพรรณนามานี้มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่านบุคคลผู้นั้นย่อมก้าวล่วง คือครอบงำเสียได้ ซึ่งปัจจามิตรของตน เหมือนดังท่านล่วงพ้นข้าพเจ้าไปได้ในวันนี้ ฉะนั้น. 

จระเข้สรรเสริญพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ก็ไปที่อยู่ของตน.  แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมิใช่เพื่อจะตะเกียกตะกายจะฆ่าเรา ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ตะเกียกตะกายเหมือนกัน“ ดังนี้แล้ว ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา สืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า จระเข้ ในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัตในครั้งนี้ เมียของจระเข้ได้มาเป็นนางจิญจมาณวิกา ส่วนพานรินทร์ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: