วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564

ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก, ภารนิกฺเขปนํ สุขํ - แบกภาระเป็นทุกข์ ปลงภาระเป็นสุข

ภาราทานํ  ทุกฺขํ  โลเก,  ภารนิกฺเขปนํ  สุขํ - แบกภาระเป็นทุกข์ ปลงภาระเป็นสุข

ภารา  หเว  ปญฺจกฺขนฺธา,  ภารหาโร  จ  ปุคฺคโล,  

ภาราทานํ  ทุกฺขํ  โลเก,   ภารนิกฺเขปนํ  สุขํ.

นิกฺขิปิตฺวา  ครุํ  ภารํ,   อญฺญํ  ภารํ  อนาทิย,  

สมูลํ  ตณฺหํ  อพฺพุยฺห,  นิจฺฉาโต  ปรินิพฺพุโตติ ฯ

ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น. ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข  บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อม.  ทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้. (ภารสูตร ๑๗/๕๓)

การแบกถือของหนักเป็นทุกข์ในโลก 

ประโยคที่ว่า “ภาราทานํ  ทุกขํ  โลเก” การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก หรือจะแปลว่า การแบกถือของหนักในโลกเป็นความทุกข์ ดังนี้ก็ได้

...ในโลกนี้มีของหนักก็เพราะว่า คนยังมีความยึดถือนั่นเอง คนยึดถือสิ่งต่างๆ ในโลก หรือยึดถือตัวโลกนั่นเองว่าเป็นของของตน ฉะนั้น มันจึงมีการยึดถือโลกหรือแบกโลกทั้งโลกเข้าไว้ นี้เรียกว่า แบกของหนัก คําว่า ของหนัก หมายถึง เบญจขันธ์ทั้งห้าจริง แต่เบญจขันธ์ทั้งห้านั่นแหละคือ โลก สิ่งที่เราเรียกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าขันธ์ทั้งห้าที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การแบกถือของหนักย่อมเป็นทุกข์นี้เกือบไม่ต้องอธิบาย เพราะว่าเมื่อไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมสลัดทิ้ง แบกไว้เรื่อย มันก็หนักเรื่อย

การสลัดของหนักทิ้งไปเสียเป็นความสุข

..ประโยคถัดไป มีอยู่ว่า “ภารนิกฺเขปนํ  สุขํ ” การสลัดของหนักทิ้งไปเสียเป็นความสุข บางคนอาจจะหัวเราะเยาะว่าทําไมจะต้องกลัวอย่างนี้ จะต้องพูดประโยคว่าตัวเองกําลังแบกของหนักเหล่านั้นไว้ทําไม ถ้าหากว่าตัวเองมีความรู้ในเรื่องนี้ดีจนหัวเราะเยาะผู้กล่าว ถ้าหากว่าตัวเองมีความรู้ในเรื่องนี้ดีจนหัวเราะเยาะผู้กล่าวแล้ว ตนก็ไม่ควรจะแบกของหนักเหล่านั้นไว้อย่างเต็มอัด เพราะฉะนั้น คนที่กล่าวว่าประโยคนี้เป็นประโยคที่มีความหมายตื้นๆ สั้นๆ เด็กๆ ก็พูดได้นั่นแหละ ระวังให้ดีว่ามันมีอะไรเต็มอัดอยู่บนศีรษะของตน บนบ่าบนคอของตน ลองแหงนขึ้นดูบ้าง

..“การถือ การหนัก แบกถือของหนัก เป็นความทุกข์ การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข”

แม้จะฟังดูง่าย ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ แต่ความหมายนั้นลึกซึ้ง และที่ลึกซึ้งมากที่สุดก็คือ ตัวเองไม่รู้สึกว่าตัวเองกําลังแบกของหนัก ความคิดที่จะสลัดทิ้งของหนักจึงไม่เคยมี แม้แก่บุคคลเหล่านั้น แม้ท่านทั้งหลายที่อยู่ที่นี่ทุกคน ลองนึกสอบสวนตัวเองดูด้วยความเป็นธรรมว่า ได้เคยมีความรู้สึกคิดนึกว่าหนัก และจะสละของหนักเหล่านี้กันบ้างหรือไม่ หรือว่ากําลังไม่รู้จักของหนักที่มีอยู่เดิม และพยายามที่จะแสวงหาของหนักให้เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งตายก็ไม่มีที่สิ้นสุด ยังจะเพิ่มกันไปในชาติหน้าและชาติต่อๆไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อมีความรู้สึกอย่างถูกต้องเกี่ยวกับของหนักอย่างนี้ ก็จะสนใจในคําของพระพุทธเจ้ามากขึ้น และรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จะนํามาใช้ได้เป็นประจําวันแก่เรามากขึ้น” -พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ในวัฏฏสงสารมีนิพพาน” บรรยายเมื่อ ๒ มิถุนายน ๒๕๑๑ ที่สวนโมกขพลาราม จากเอกสารชุดมองด้านใน อันดับที่ ๑๗



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: