วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564

การศึกษา คืออะไร? ภาษาคน-ภาษาธรรม

การศึกษา คืออะไร? ภาษาคน-ภาษาธรรม

 ..“การศึกษานี้มันคืออะไร? ถามอย่างนี้มันก็ต้องอ้างหลักเกณฑ์ว่ามันจะมองดูกันในแง่ไหน? ถ้ามองดูกันในภาษาคนธรรมดา การศึกษาคืออะไร? นี้ก็อย่างหนึ่ง, มองดูกันในภาษาธรรมะ การศึกษาคืออะไร? นี้มันก็อีกอย่างหนึ่ง

.. การศึกษาในภาษาคนธรรมดา ภาษาชาวบ้าน ก็คือเรียนหนังสือ อย่างที่เห็นๆกันอยู่ ทั้งโลกดูเหมือนจะเข้าใจกันอย่างนี้ ว่าเรียนหนังสือเพื่อให้เฉลียวฉลาด. แล้วก็เรียนอาชีพ เพื่อรู้จักประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต เรียกสั้นๆว่า เรียนหนังสือเพื่อให้ฉลาด, เรียนอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิต, การศึกษามีเท่านั้นเอง ไม่พอสําหรับที่จะเป็นมนุษย์ คือเป็นมนุษย์ไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะฉลาดมันก็ไม่ควบคุมกิเลสได้ ก็ใช้ความฉลาดให้เป็นทาสของกิเลส มันก็ทําชั่วได้มาก คดโกงได้มาก เพราะว่ามันฉลาดมีชีวิตรอดชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีธรรมะมันก็อยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน. นี่ภาษาคน การศึกษาคือเรียนหนังสือกับเรียนอาชีพ นี้เรียกว่าไม่พอ, ต้องมองดูไปถึงภาษาธรรม.

..ภาษาธรรมะ การศึกษาคือรู้จักดับทุกข์, รู้จักดับความทุกข์ทั้งทางจิตและทางวิญญาณ นี่มันต่างออกไป หรือมันไกลออกไป ฉลาดและมีชีวิตอยู่นั้นไม่พอ ต้องรู้จักดับทุกข์ในทางวิญญาณอีกส่วนหนึ่งด้วย. เราเลยต้องมีการศึกษาในภาษาธรรม ที่มีความหมายตามทางภาษาธรรม คือรู้ดับความทุกข์ ที่เกิดอยู่เป็นประจําสําหรับคนที่ไม่รู้.

..ทีนี้ จะดูถึงตัวแท้ๆ ตัวจริงของการศึกษาว่าคืออะไร? คําว่าการศึกษา ศึกษานี้ เราหมายถึงการเรียนกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งโลกก็ว่าได้. การศึกษาเป็นการเรียน แต่ถ้าสําหรับพุทธบริษัทควรจะฉลาดกว่านั้น คือรู้ว่าการศึกษานั้นคือการปฏิบัติจนรู้, หรือว่าความรู้ที่ออกมาจากการปฏิบัติ, การศึกษาคือการปฏิบัติ ปฏิบัติจนรู้ ได้ความรู้ออกมาจากการปฏิบัติ; นั่นแหละ! คือ การศึกษา ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เป็นการเรียนอย่างเรียนในโรงเรียนอย่างเดียว.

..นี้เรายังเข้าใจไม่ค่อยจะตรงกัน แม้ในหมู่พุทธบริษัทเอง ทั้งที่พูดอยู่เสมอว่าการศึกษาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา; แล้วก็ลืมไปเสียว่านั่นมันเป็น“การปฏิบัติ” ไม่ใช่การเรียน, ตัวแท้ของการศึกษา ต้องปฏิบัติจนได้ความรู้ ออกมาจากการปฏิบัตินั้น เรียกว่า การศึกษา, พูดภาษาสมัยใหม่หน่อยก็ว่า การต่อสู้ตลอดเวลาที่เรายังไม่รู้ เพื่อให้รู้: เรามีการต่อสู้อยู่ตลอดเวลาที่เรายังไม่รู้ จนเรารู้, ต่อสู้กับอะไร? ก็ต่อสู้ กับความโง่ของตัวเอง ฉะนั้น การศึกษาก็คือการที่เราพยายามต่อสู้ทําลายล้าง “อวิชชา” ความโง่ของตัวเอง.”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชา หัวข้อเรื่อง “ฟ้าสางทางการศึกษา” เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๖ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปี ที่มีสวนโมกข์ ตอน ๒” หน้า ๓๗๖-๓๗๗, ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: