วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564

เวลาที่เราสบายใจที่สุด ก็คือ เวลาที่เราลืมว่า “เรามีตัวเรา”

เวลาที่เราสบายใจที่สุด ก็คือ เวลาที่เราลืมว่า “เรามีตัวเรา”

“… เพราะฉะนั้น ประโยคที่ว่า “เรามีความสุขแท้จริงต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่ามีอะไร เป็นตัวเรา ของเรา” นี้เป็นเรื่องจริงของธรรมชาติด้วย, และเป็นพุทธศาสนาทันที. ส่วนที่ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ๆ ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ก็สังเกตดู : เวลาที่เราสบายใจที่สุด, รู้สึกสบาย พอใจตัวเองที่สุด ก็คือเวลาที่เราลืมว่า เรามีตัวเรา ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง, หรือลืมภาระของตัวเรา, ภาระของของเรา ไม่มีภาระเหล่านั้นมาผูกพัน, แม้ว่าเรากําลังทําการงานอยู่ แต่เราลืมตัวเราก็ได้ ลืมของเราก็ได้ การงานนั้นก็เลยเป็นของสนุกไป.

..พอเราพูดว่า “เมื่อจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว การงานก็สนุก” นี้คนเขาฟังไม่ถูก; คนบางคนหาว่าเป็นการแกล้งพูดเล่นลิ้นเล่นสํานวน. ต้องฟังให้ดีๆ แล้วเอาไปคิดให้ดีๆ แล้วไปสังเกตให้ดีๆ จนกระทั่งเห็นว่า เรามีความสบายอย่างบอกไม่ถูก ต่อเมื่อมี conception ว่าตัวเรา ว่าของเรานั้น ไม่เข้ามาวี่แววแก่เรา, มันเหลืออยู่แต่สติปัญญา กําลังทําการงานอยู่บ้าง กําลังศึกษาบ้าง กําลังพักผ่อนบ้าง อะไรบ้าง : อยู่ด้วยสติปัญญาที่เป็นอิสระ หรืออารมณ์ที่เป็นอิสระ ไม่เจืออยู่ด้วย “ตัวกู” หรือ “ของกู” อย่างนี้จะรู้สึกสบาย, พอตัวกู-ของกูมา ก็หมายความว่าภาระมา, ภาระคือของหนัก ของผูกพัน ของครอบงํา อะไรนั้นมา, เพราะฉะนั้น ให้ถือเสียว่า “ตัวกู” เป็นศัตรูของ “ความสงบ” และมันมี “ของกู” เนื่องกันอยู่ด้วย. ชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู นี้ เป็นชีวิตที่ทรมาน.”

พุทฺธทาสภิกฺขุ

ที่มา : ให้โอวาทแก่พระภิกษุที่จะสึกที่เรียกว่า “ธรรมปาฏิโมกข์” หัวข้อเรื่อง “อยู่ที่สวนโมกข์นี้ทำอะไร?” เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๐ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม ๑”

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: