วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

“ธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ

“ธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ จะต้องศึกษาให้รู้ชัดและปฏิบัติให้ถูก ไม่ใช่..แค่ฟังตามๆกันมา อย่าง“ปรัมปรา”

..“การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว “พระธรรมวินัย” ที่พระองค์ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้จะเป็นศาสดาของพุทธบริษัททั้งหลาย พุทธพจน์นี้เป็นการประทานหลักการสำคัญของสถาบันพระศาสนา และตัดความเป็นห่วงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วใครจะมาทำหน้าที่แทนพระองค์ เป็นผู้นำของพุทธบริษัทต่อไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงตั้งบุคคลใด แต่ได้ทรงประกาศว่า “ธรรมวินัย” คือคำสั่งสอนของพระองค์นี่แหละจะเป็นศาสดาของชาวพุทธ

..เพราะฉะนั้น ชาวพุทธก็จะต้องนับถือ“ธรรมวินัย” มั่นในธรรมวินัยอยู่เสมอ จะต้องมีสติรำลึกเตือนตัวเอง ให้ศึกษาว่าธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติกันให้ถูก ไม่ใช่เพียงแค่ว่า คอยเชื่อคอยฟังตามกันไป อย่างที่เรียกว่า “ปรัมปรา” ต่อไปนานๆเข้าก็จะคลาดเคลื่อน แต่จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ ให้รู้ชัดว่า พระธรรมวินัยนั้นคืออย่างไร ว่าอย่างไรกันแน่”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ), ที่มา : ธรรมบรรยาย ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย จากหนังสือ “จารึกบุญ จารึกธรรม”

ถ้าหาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมาตรฐานไม่ได้  ก็ต้องยอมรับความจริงว่าพระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว

..“ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า และพุทธศาสนิกชนทุกคนก็นับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอน และเป็นศูนย์รวมของพุทธบริษัท จะเป็นครูอาจารย์หรือพระเถระพระมหาเถระองค์ใดก็ตาม ถ้าใครมาอ้างว่ารู้อย่างนั้น เห็นอย่างนั้น ตามทัศนะหรือจากผลการปฏิบัติ เราก็ฟังไว้ ถ้าเห็นว่าเข้าหลักดีก็เอามาใช้ช่วยการศึกษาของเรา แต่จะเอามาตัดสินพระพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะ“จะต้องอัญเชิญหลักของพระพุทธเจ้ามาวินิจฉัย”

..ขอให้สังเกตธรรมเนียมแต่เดิมครั้งพุทธกาล เมื่อใครพบนักบวชที่น่าเลื่อมใสแล้วอยากรู้ธรรมและเข้าไปหา เขาไม่ถามว่าท่านสอนว่าอย่างไร แต่เขาถามว่า “ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่านมีหลักการหรือสอนว่าอย่างไร”

..ขอให้ดูเรื่องพระสารีบุตรกับพระอัสสชิเป็นตัวอย่าง พระสารีบุตรเมื่อครั้งยังเป็นปริพาชก เห็นพระอัสสชิแล้วเลื่อมใส เข้าไปหาและได้ถามอย่างข้างต้น พระอัสสชิทั้งที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่อ้างหรือเอาตัวท่านเองเป็นหลัก แต่ท่านตอบแก่พระสารีบุตรซึ่งยังเป็นปริพาชกอยู่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าดังนี้ๆ

..แม้แต่พระภิกษุผู้มีความรู้น้อย เมื่อถูกถามในหลักธรรมสำคัญๆ อย่างเรื่องนิพพาน แม้ตนเองจะยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ยังไม่บรรลุ ก็ตอบได้ตามวิธีปฏิบัติเดียวกันนี้ คือ ตอบว่า ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจเพียงพอ แต่...:- ๑. มีหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดังนี้ๆ หรือพระไตรปิฎกและคัมภีร์นั้นๆ แสดงไว้ดังนี้ๆ และ... ๒.ตามที่ข้าพเจ้ารู้เข้าใจ ข้าพเจ้ามีทัศนะหรือความคิดเห็นว่าดังนี้

..แม้บรรลุธรรมสูงสุด เป็นพระอรหันต์แล้ว หมดกิจที่ต้องทำ(ในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน)แล้ว พระสาวกยุคเดิมก็ยังหันมาใช้เวลาเล่าเรียนปริยัติ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยดำรงพระศาสนา และทำประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป ดังที่ท่านเรียกว่า “ภัณฑาคาริกปริยัติ”

แม้เพียงในการปฏิบัติขั้นต้นๆ เมื่อปฏิบัติไปได้พบประสบการณ์บางอย่างทางจิต แล้วเอาถ้อยคำศัพท์ธรรมที่ตนไม่ได้ศึกษาความหมายตามบัญญัติให้ชัด หยิบผิดศัพท์ผิดคำมาเรียกประสบการณ์ของตน ก็อาจทำให้เกิดความสับสน เป็นโทษแก่ผู้อื่นที่กำลังศึกษา ฉะนั้น ท่านจึงให้ไม่ประมาทในการศึกษา เริ่มตั้งแต่ความมั่นคงถ่องแท้ในปริยัติ.  เพราะฉะนั้น จึงควรสังคายนาแม้แต่แนวปฏิบัติทั่วไปในด้านหลักธรรมว่า เมื่อพุทธศาสนิกชนสนทนากับพระภิกษุ พึงถามเกี่ยวกับสิ่งที่ตนสงสัยว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร?” และพระภิกษุเมื่อจะตอบคำถาม ก็ควรยกคำตรัสของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแสดงก่อน แล้วจึงกล่าวคำอธิบาย และแสดงทัศนะของตน โดยแยกให้ชัดว่า ส่วนใดเป็นหลักคำสอน ส่วนใดเป็นความคิดเห็นหรือทัศนะหรือประสบการณ์ของตน

..ชาวพุทธจะต้องย้ำกับตัวเองว่า พระพุทธศาสนาคือศาสนาของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ศาสนาของพระเถระ มหาเถระ หรือบุคคลผู้ใด ..เราจะฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ..เราจะแสดงหลักที่พระพุทธเจ้าสอน ..และเราจะเอาหลักที่ทรงสั่งสอนนั้นเป็นมาตรฐาน หรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัย  ..ถ้าหาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมาตรฐานไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ), ที่มา : จากหนังสือ “กรณีธรรมกาย” พิมพ์ครั้งที่ ๒๔ หน้า ๑๕๗ ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: