วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๐)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๐)  ปัญหาที่ ๔ ปถวิจลนปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ อย่าง ปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้ ย่อมมีเพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ดังนี้, นี้ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้, นี้ เป็นคำพูดที่ไม่มีส่วนเหลือ, นี้ เป็นคำพูดโดยนิปริยาย เหตุอย่างอื่นซึ่งเป็นเหตุที่ ๙ เพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่มี พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าเหตุอย่างอื่นซึ่งเป็นเหตุที่ ๙ เพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มีอยู่ไซร้, พระผู้มีพระภาคก็จะตรัสถึงแม้ที่ ๙ นั้น พระคุณเจ้านาคเสน ก็เพราะเหตุว่าเหตุอย่างอื่นซึ่งเป็นเหตุที่ ๙ ฯลฯ ไม่มีอยู่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ตรัสบอกไว้ ก็แต่ว่า เหตุที่ ๙ เพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ก็ปรากฏอยู่ คือข้อที่เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้ทาน แผ่นดินใหญ่ก็เกิดหวั่นไหวขึ้นถึง ๗ ครั้ง พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มีความปรากฏเพราะเหตุ ๘ อย่าง เท่านั้นไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำพูดที่ว่า เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นใหญ่ดินได้ หวั่นไหวถึง ๗ ครั้ง ดังนี้ ก็ไม่จริง ถ้าหากว่า เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นดินใหญ่ได้หวั่นไหวถึง ๗ ครั้ง จริง ไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า เหตุ ๘ อย่าง ปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้ เท่านั้น ย่อมมีเพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ดังนี้ ก็ไม่จริง แม้ปัญหานี้ก็มี ๒ เงื่อน สุขุมคลี่คลายได้ยาก ทางมีแต่จะทำให้มืดมน และลึกซึ้ง ปัญหาที่ว่านั้น ตกถึงแก่ท่านแล้ว ปัญหานี้ยกเว้นผู้มีความรู้เช่นท่านแล้ว คนอื่นผู้มีปัญญาน้อย ไม่อาจแก้ได้

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายเหตุ ๘ อย่าง ปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้ ย่อมมีเพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ดังนี้ จริง ข้อที่ เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นดินใหญ่ได้หวั่นไหวถึง ๗ ครั้ง ดังนี้ใด ก็แต่ว่า ข้อนั้นมิได้มีอยู่เป็นประจำตลอดกาล เกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราว จึงพ้นไปจากเหตุ ๘ อย่าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงนับไว้รวมเข้ากับเหตุ ๘ อย่าง.  ขอถวายพระพร เหมือนอย่างในทางโลก คนทั้งหลาย ย่อมนับฝนไว้ ๓ ประเภทเท่านั้น คือฝนในฤดูฝน ฝนฤดูหนาว ฝนปาวุสกะ ถ้าหากว่ามีฝนประเภทอื่นนอกเหนือจากฝน ๓ ประเภทนั้นตกลงมา เขาก็ไม่นับฝนประเภทนั้นรวมเข้ากับฝน ๓ ประเภทที่ได้รับรู้กันแล้ว ย่อมถึงความนับว่าเป็นผลนอกฤดูกาลนั่นเทียว ฉันใด ขอถวายพระพร ข้อที่เมื่อพระราชาราษฎรทรงให้มหาทาน แผ่นดินใหญ่ได้หวั่นไหวถึง ๗ ครั้งใด ข้อนี้มิได้มีอยู่เป็นประจำตลอดกาล เกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราว จึงพ้นไปจากเหตุ ๘ อย่าง พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงนับเหตุข้อนั้นรวมเข้ากับเหตุ ๘ อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่าแม่น้ำ ๕๐๐ สาย ไหลมาแต่ภูเขาหิมพานต์ ขอถวายพระพร บรรดาแม่น้ำ ๕๐๐ สายเหล่านั้นเมื่อจะมีการนับจำนวนแม่น้ำ กับคนทั้งหลายย่อมนับแม่น้ำไว้เพียง ๑๐ เท่านั้น คือ คงคา ๑, ยมุนา ๑, อจิรวดี ๑, สรภู ๑, มหี ๑, สินธุ ๑, สรัสสดี ๑, เวตรวดี ๑, วีตังสา ๑, จันทภาคา ๑ ในการนับจำนวนแม่น้ำเขามิได้นับแม่น้ำที่เหลือด้วย เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า แม่น้ำเหล่านั้นมิได้มีน้ำอยู่เป็นประจำ ฉันใด ขอถวายพระพร ข้อที่เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นดินใหญ่ได้ไหวถึง ๗ ครั้ง ใด ข้อนี้ไม่ได้มีอยู่เป็นประจำตลอดกาล เกิดขึ้นได้เป็นบางครั้งบางคราว จึงพ้นไปจากเหตุ ๘ อย่าง พระผู้มีพระภาค จึงไม่ทรงนับเหตุ ข้อนั้นรวมเข้ากับเหตุ ๘ อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า พระราชา จะทรงมีอำมาตย์อยู่ ๑๐๐ คนก็ตาม ๒๐๐ คนก็ตาม เมื่อจะมีการนับจำนวนอำมาตย์เหล่านั้นกัน ย่อมนับเอาชนเพียง ๖ คนเท่านั้น คือเสนาบดี ๑, ปุโรหิต ๑, ผู้พิพากษา ๑, ขุนคลัง ๑, คนถือฉัตร ๑, คนถือพระขรรค์ ๑ ชน ๖ คนนี้เท่านั้น ที่เขานับไว้ในการนับจำนวนอำมาตย์ เพราะเหตุไร เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยพระราชคุณ ไม่นับชนที่เหลือด้วย ชนที่เหลือทุกคนย่อมถึงความนับว่าเป็นอามาตย์เท่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพร ข้อที่เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นดินใหญ่ได้หวั่นไหวถึง ๗ ครั้ง ใด ข้อนี้ไม่ได้มีอยู่เป็นประจำตลอดกาลเกิดขึ้นได้เป็นบางครั้งบางคราว จึงพ้นไปกับเหตุ ๘ อย่าง พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงนับเหตุข้อนั้นรวมเข้ากับเหตุ ๘ อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร พระองค์ก็ได้ทรงสดับมามิใช่หรือ ว่าในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าปัจจุบันนี้ มีบุคคลผู้สร้างบุญญาธิการไว้ แล้วได้ทำกรรมที่อาจเสวยผลเป็นสุขในอัตภาพนี้ไว้แล้ว ก็เป็นผู้มีกิตติศักดิ์ฟุ้งขจรไปในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ฟัง มา ว่าในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าปัจจุบันนี้ มีชน ๗ คน ผู้สร้างบุญญาธิการไว้แล้ว ได้ทำกรรมที่เสวยผลเป็นสุขในอัตภาพนี้ไว้แล้ว ก็เป็นผู้มีกิตติศักดิ์ฟุ้งขจรไปหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ชนเหล่านั้นมีใครบ้าง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็มีนายสมน ช่างจัดระเบียบดอกไม้ ๑, เอกสาฏกพราหมณ์ ๑, นายปุณณะ ลูกจ้าง ๑, พระนางมัลลิกาเทวี ๑, พระนางโคปาลมาตาเทวี ๑, นางสุปิยาอุบาสิกา ๑, นางปุณณทาสี ๑ ชน ๗ คนดังกล่าวมากระนี้ นี้ เป็นสัตว์ผู้ได้เสวยสุขในอัตภาพนี้ และชนเหล่านี้ มีกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไปในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.  พระนาคเสน, พระองค์ได้ทรงสดับแม้เรื่องของชนผู้ไปภพดาวดึงส์ด้วยสรีระร่างกายที่ยังเป็นมนุษย์นั่นเทียว ในครั้งอดีตกาลหรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้าข้าพเจ้าก็ได้สดับมา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ชนเหล่านั้นคือใครบ้าง ?พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ชน ๔ คนเหล่านี้คือ พระเจ้าคุตติลคันธัพพราชา ๑, พระเจ้าสาธีนราชา ๑, พระเจ้านิมิราชา ๑, พระเจ้ามันธาตุ ๑ ได้เสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ด้วยพระสรีระร่างกายที่ยังเป็นมนุษย์อยู่นั่นเทียว ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ชนเหล่านั้นทำแต่กรรมดีไม่ทำกรรมชั่วติดต่อกันมานานนักหนา.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าพระองค์เคยทรงสดับมาบ้างหรือไม่ว่า ในกาลอดีตก็ดี ในกาลปัจจุบันก็ดี เมื่อบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ให้ทานอยู่ แผ่นดินใหญ่ก็ได้หวั่นไหวแล้วครั้งหนึ่ง หรือ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ?

พระเจ้ามิลินท์, ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อาตมาภาพมีอาคม อธิคม ปริยัติ สวนะ (การสดับ) สิกขาพละ (กำลังแห่งสิกขา ๓) สุสสูสา (การสดับมาแล้วเป็นอย่างดี) ปริปุจฉา (การสอบถาม) การนั่งใกล้อาจารย์ แม้ตัวอาตมภาพเอง ก็ไม่เคยได้ยินมาอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ให้ทานอยู่ แผ่นดินใหญ่ก็ได้หวั่นไหวแล้วครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ดังนี้เลย ยกเว้นเมื่อคราวที่พระราชาเวสสันดรผู้องอาจทรงให้ทานประเสริฐ ขอถวายพระพร กาลเวลาในระหว่างพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระผู้มีพระภาคกัสสปะ และพระผู้มีพระภาคสักยมุณี ได้ล่วงไปแล้วหลายโกฏิปี จนพ้นหนทางจะนับได้ แม้ในกาลเวลาระหว่างนั้น อาตมาภาพก็ไม่เคยได้ยินว่า เมื่อบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ให้ทานอยู่ แผ่นดินใหญ่ก็ได้หวั่นไหวแล้วครั้งหนึ่ง หรือ ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่จะได้หวั่นไหวไป เพราะความเพียรเพียงเท่านั้น เพราะความพยายามเพียงเท่านั้น ก็หาไม่ ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่เพียบหนักด้วยคุณธรรม เพียบหนักด้วยคุณที่พึงกระทำด้วยจิตที่สะอาดโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทรงตัวอยู่ได้ย่อมสั่น ย่อมหวั่นไหว ย่อมคลอนแคลนไป

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อเกวียนบรรทุกของหนักเกินไป ดุมก็ดี ซี่กำก็ดี ย่อมฉีกอ้าออก เพลาก็ย่อมหักไป ฉันใด ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่ที่เพียบหนักด้วยคุณธรรมที่พึงกระทำด้วยจิตสะอาดโดยประการทั้งปวง แล้วก็ย่อมไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ย่อมสั่น ย่อมหวั่นไหว ย่อมคลอนแคลนไป ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ท้องฟ้าที่ถูกกระแสลมแรงจะบดบังเพียบหนักด้วยกระแสลมที่หนาแน่น เพราะถูกลมแรงจัดตีกระหน่ำ ก็ย่อมบรรลือเสียง ย่อมเปล่งเสียงดังครืนๆ สนั่นไป ฉันใด ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่เพียบหนักด้วยคุณธรรมที่ไพบูลย์หนาแน่น คือกำลังทานของพระราชาเวสสันดรแล้ว ก็ย่อมไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ย่อมสั่น ย่อมหวั่นไหว ย่อมคลอนแคลนไป ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร พระทัยของพระราชาเวสสันดรมิได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งราคะ มิได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งโทสะ มิได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งโมหะ ไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งกิเลส ไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งวิตก (มิจฉาวิตก คือความดำริผิดๆ) มิได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งอรติ (ความไม่ยินดีในอธิกุศล) ทว่า ย่อมเป็นไปมากด้วยอำนาจแห่งทาน ทรงตั้งพระทัยเฉพาะจะให้ทานเป็นประจำสม่ำเสมอ ว่า คนผู้จะขอ ซึ่งยังไม่มา ไฉนจะพึงมาในสำนักของเราได้หนอ ทั้งคนผู้จะขอซึ่งมาถึงแล้ว ไฉนจะได้ตามที่ต้องการจนพอใจเล่า ดังนี้ ขอถวายพระพร พระหฤทัยของพระราชาเวสสันดรเป็นธรรมชาติที่ตั้งอยู่เป็นประจำ สม่ำเสมอ ในฐานะ ๑๐ คือในความฝึก ๑, ในความสม่ำเสมอ ๑, ในความอดกลั้น ๑, ในความสำรวม ๑, ในความยับยั้งชั่งใจ ๑, ในความกำหนดแน่นอน ๑, ในความไม่โกรธ ๑, ในความไม่เบียดเบียน ๑, ในสัจจะ ๑, ในความเป็นธรรมชาติสะอาด ๑, ขอถวายพระพร พระราชาเวสสันดรทรงเลิกละการแสวงหากาม ทรงระงับการแสวงหาภพ ทรงถึงความขนขวายในการแสวงหาพรหมจรรย์เท่านั้น ขอถวายพระพร พระราชาเวสสันดรทรงเลิกละการรักษาตนเอง ทรงถึงความขนขวายในการรักษาสัตว์ทั้งปวง พระหฤทัยเป็นไปมากอย่างนี้ ว่า สัตว์เหล่านี้จะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้ไม่มีโรค เป็นผู้มีทรัพย์ มีอายุยืนได้ไฉนหนอ ดังนี้ แต่อย่างเดียว ขอถวายพระพร พระราชาเวสสันดร เมื่อจะทรงให้ทาน ก็มิได้ทรงให้ทานนั้นเพราะทรงเห็นแก่ภพสมบัติ ไม่ได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่ทรัพย์ มิได้ส่งให้เพราะทรงเห็นแก่การให้ตอบแทน มิได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่การทูต ไม่ได้ส่งให้เพราะทรงเห็นแก่อายุ มิได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่วรรณะ มิได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่ความสุข ไม่ได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่กำลัง มิได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่ยศ ไม่ได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่บุตร ไม่ได้ทรงให้เพราะทรงเห็นแก่ธิดา แต่ทว่า ทรงให้ทานที่ประเสริฐ ไพบูลย์ ยอดเยี่ยม เห็นปานฉะนี้ เพราะทรงเห็นแก่พระสัพพัญญุตญาณ เพราะเหตุแห่งรัตนะคือพระสัพพัญญุตญาณ แล และพระองค์ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

“ชาลึ กณฺหาชินํ ธีตํ,  มทฺทิเทวึ ปติพฺพตํ;   จชมาโน น จินฺเตสึ, โพธิยา เยว การณา” (ขุ.จ. ๒๕/๖๒๔)  “เมื่อเราให้บุตรคือชาลี ธิดาคือกัณหาชินา ผู้ภริยาคือพระเทวีมัทรี เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเทียว อยู่ เราหาได้คิดถึงอะไรไม่”

ดังนี้ ขอถวายพระพร พระราชาเวสสันดรทรงใช้ความไม่โกรธ เอาชนะความโกรธ ทรงใช้ความดี เอาชนะความไม่ดี ทรงใช้ทานเอาชนะความตระหนี่ ทรงใช้คำสัตย์เอาชนะคนพูดเหลาะแหละ ทรงใช้กุศลเอาชนะอกุศลทั้งปวง เมื่อพระราชาเวสสันดรผู้ทรงประพฤติคล้อยตามธรรม ผู้ทรงมีธรรมเป็นพระเศียรนั้น ทรงให้อยู่อย่างนี้ พายุใหญ่ใต้แผ่นดินก็เคลื่อนไหว เพราะวิริยะอันมีกำลังอันเป็นผลหลั่งไหลแห่งทานแผ่ไปกว้างไกล ยอมค่อยๆหมุนตัวเป็น เกลียวๆ เคลื่อนไปทีละหน่อย พัดลงเบื้องต่ำ พัดขึ้นเบื้องบน ต้นไม้ทั้งหลายมีใบขาดล้มครืนไป ก้อนเมฆหนาๆ แล่นไปในท้องฟ้า ลมหอบฝุ่นพัดไปรุนแรง ลมพัดบดขยี้ท้องฟ้า เกิดเป็นควันฟุ้งไปทันที เปล่งเสียงดังน่ากลัว เมื่อลมเหล่านั้นกำเริบขึ้น น้ำก็ย่อมค่อยๆ สั่นไหว เมื่อน้ำสั่นไหว พวกปลาและเต่าทั้งหลายก็พล่านไป เกิดลูกคลื่นซ้อนกันเป็นชั้นๆ พวกสัตว์น้ำทั้งหลายพากันสะดุ้งกลัว กระแสคลื่นถาโถมติดเนื่องกันเป็นคู่ๆ เสียงคลื่นคำรามไป ปล่อยฟองฟอดมีเสียงน่ากลัว เกิดเป็นฟ้าฟองน้ำขึ้น มหาสมุทรมีระดับน้ำสูงยิ่ง น้ำไหลบ่าไปทางทิศใหญ่ทิศน้อย สายน้ำไหลบ่ายหน้าไปเบื้องบน และทวนกระแส พวกอสูร ครุฑ นาค ยักษ์ทั้งหลาย พากันสะดุ้งกลัว เที่ยวถามกันว่า เกิดอะไรขึ้นหนอ ทะเลเกิดเป็นไปวิปริตขึ้นได้อย่างไรหนอ ดังนี้ มีจิตขลาดกลัว เที่ยวแสวงหาหนทางจะหนีไป เมื่อสายชลเกิดกำเริบปั่นป่วนขึ้นแล้ว แผ่นดินใหญ่พร้อมทั้งท้องฟ้าพร้อมทั้งทะเลก็หวั่นไหว ภูเขาสิเนรุก็หมุนตัว หินยอดเขาก็บิดงอชี้ไปผิดทาง สัตว์ทั้งหลาย คือ งู พังพอน แมว สุกร เนื้อ นก ทั้งหลาย พากันมีจิตวิปริต พวกยักษ์ที่มีศักดิ์น้อยพากันร้องไห้ พวกยักษ์ที่มีศักดิ์ใหญ่กลับพากันหัวเราะ บนแผ่นดินใหญ่ที่กำลังหวั่นไหว

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าเมื่อยกกระทะใหญ่ที่มีข้าวสารแช่น้ำเต็มขึ้นวางบนเตาไฟ ไฟที่ลุกโพลงอยู่เบื้องล่าง ย่อมทำกระทะให้ร้อนขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก กระทะที่ร้อนย่อมทำน้ำให้ร้อน น้ำที่ร้อนย่อมทำข้าวสารให้ร้อน ข้าวสารที่ร้อนย่อมนูนขึ้นย่อมบุ๋มลง เกิดเป็นฟองขึ้นมาเป็นแผ่นฟองน้ำฉันใด ขอถวายพระพร พระราชาเวสสันดรทรงบริจาคทานที่บริจาคกันได้ยากในโลก เมื่อพระราชาเวสสันดรนั้น ทรงบริจาคทานที่บริจาคกันได้ยากนั้นอยู่ พายุใหญ่ใต้แผ่นดินไม่อาจจะทรงตัวอยู่ได้ จึงได้เคลื่อนไหว เพราะผลที่หลั่งไหลจากสภาวะแห่งทาน เมื่อพายุใหญ่เกิดกำเริบขึ้น น้ำก็หวั่นไหว เมื่อน้ำหวั่นไหว แผ่นดินก็หวั่นไหว ฉันนั้นเหมือนกัน ในเวลานั้น ของ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ พายุใหญ่ ๑, น้ำ ๑, แผ่นดินใหญ่ ๑, เป็นราวกับว่ามีใจเดียวกัน ด้วยวิริยะอันไพบูลย์มีกำลังซึ่งเป็นผลที่หลั่งไหลแต่มหาทาน ตามประการดังกล่าวมานี้ ขอถวายพระพร อานุภาพแห่งทานของบุคคลอื่นเหมือนอย่างอานุภาพแห่งมหาทานของพระราชาเวทย์สันดอนเช่นนี้ หามีไม่

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บนแผ่นดินมีแก้วมณีอยู่มากมายหลายอย่าง คือ แก้วอินทนิล แก้วมหานิล แก้วโชติรส แก้วเวฬุริยะ (แก้วไพบูลย์) แก้วแดง (ทับทิม) ฯลฯ แก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ กล่าวได้ว่าเป็นเลิศเกินล้ำแก้วมณีทั้งหมดเหล่านั้น ขอถวายพระพร แก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ ส่องสว่างไปตลอดระยะทาง ๑ โยชน์โดยรอบฉันใด ขอถวายพระพร บนแผ่นดินมีฐานอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ ซึ่งแม้ว่าเป็นอสทิสทานอันยอดเยี่ยม มหาทานของพระราชาเวสสันดรย่อมกล่าวได้ว่าเป็นเลิศเกินลำธารทั้งหมดนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้ทานอยู่ แผ่นดินใหญ่ก็ได้ไหวแล้ว ถึง ๗ ครั้ง แล

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่พระตถาคตซึ่งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ หาชาวโลกเสมอไม่ได้ ทรงมีพระขันติอย่างนี้ ทรงมีพระทัยคิดอย่างนี้ ทรงมีพระทัยน้อมไปอย่างนี้ ทรงมีพระประสงค์อย่างนี้ ใด นั้นจัดว่าเป็นข้อที่น่าอัศจรรย์สำหรับบุคคลผู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จัดว่าเป็นข้อที่น่าพิศวงสำหรับบุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้ชี้ให้เห็นความบากบั่นของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทั้งได้ส่องให้เห็นพระบารมีของพระชินวรพุทธเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้นอีก ทั้งท่านได้แสดงความเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุดในโลกพร้อมทั้งเทวดา แห่งพระตถาคตผู้ทรงประพฤติแต่ข้อที่ควรประพฤติเท่านั้น ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ที่ท่านได้ยกย่องพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าที่ท่านได้ส่องสว่างพระบารมีของพระชินวรพุทธเจ้า เงื่อนปมคือวาทะของพวกเดียรถีย์ ถูกท่านทำลายได้แล้ว พงรกคือปรปวาทะ ถูกท่านทำลายเสียได้แล้ว ท่านได้ทำปัญหาที่ลึกซึ้ง ให้ตื้นเขินได้แล้ว ท่านได้ทำข้อที่ยุ่งเหยิง ให้หมดยุ่งเหยิง ท่านเป็นเครื่องขจัดปัดเป่าลัทธิของพวกชินบุตรทั้งหลาย โดยชอบ ท่านผู้เป็นเจ้าคณะประเสริฐยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดตามที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.  จบปถวิจลนปัญหาที่ ๔.  

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหว ชื่อว่า ปถวิจลนปัญหา.  พระพุทธเจ้าตรัสเหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏแผ่นดินไหว ไว้ ๘ อย่าง อย่างนี้ว่า :- 

"อฏฺฐ   โข  อิเม  อานนฺท  เหตู  อฏฺฐ  ปจฺจยา  มหโต   ภูมิจาลสฺส  ปาตุภาวาย ฯ  กตเม อฏฺฐ ฯ   อยํ อานนฺท มหาปฐวี อุทเก ปติฏฺฐิตา ฯเปฯ” แปลว่า  ดูก่อนอานนท์ เหตุ ๘ อย่าง ปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้ ย่อมมีเพื่อทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เหตุปัจจัย ๘ อย่างอะไรบ้าง ? ดูก่อนอานนท์ แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ ดังนี้เป็นต้น ปัจจัย ๘ อย่างที่ตรัสไว้นั้น มีอย่างนี้คือ

๑.) แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่ในอากาศ บางสมัยลมใหญ่เคลื่อนตัวพัดไป พอลมใหญ่เคลื่อนตัวพัดไป น้ำก็เกิดไหวตัว น้ำที่ไหวตัว ย่อมทำให้แผ่นดินไหวไปตาม นี้คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๑.  ๒.) สมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ บรรลุเจโตวสี หรือเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก็สามารถทำแผ่นดินนี้ให้ไหวได้ นี้คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๒.   ๓.) ในคราวที่พระโพธิสัตว์เคลื่อนจากภพดุสิต ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ เสด็จก้าวลงสู่พระครรภ์พระชนนี ในคราวนั้นแผ่นดินนี้ก็เกิดการหวั่นไหวขึ้น นี่คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๓.  ๔.) ในคราวที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ในคราวนั้นแผ่นดินก็ย่อมเกิดการหวั่นไหวขึ้น นี่คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๔.  

๕.) ในคราวที่พระตถาคตตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ในคราวนั้นแผ่นดินนี้ก็เกิดหวั่นไหวขึ้น นี้คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๕.  ๖.) ในคราวที่พระตถาคตทรงประกาศพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ในคราวนั้นแผ่นดินนี้ก็เกิดหวั่นไหวขึ้น นี่คือปัจจัยอย่างที่ ๖.   ๗.) ในคราวที่พระตถาคตทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงพระชนมายุสังขาร ในคราวนั้นแผ่นดินนี้ก็เกิดหวั่นไหวขึ้น นี่คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๗.   ๘.) ในคราวที่พระตถาคตเสด็จดับขันปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในคราวนั้นแผ่นดินก็เกิดหวั่นไหวขึ้น นี่คือเหตุปัจจัยอย่างที่ ๘

เหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ตรัสไว้ในพระสูตร มี ๘ อย่างดังกล่าวมานี้

ปัญหาของพระราชามีอยู่ว่า ถ้าหากคำที่ตรัสไว้ว่า เหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวมี ๘ อย่าง เป็นความจริงไซร้ คำที่ว่า เมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นดินได้หวั่นไหวถึง ๗ ครั้ง ดังนี้ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่เนื่องอยู่ในเหตุ ๘ อย่างเหล่านั้น หรือว่า ถ้าหากคําที่ว่า เมื่อพระราชาเวสสันดรถึง ๗ ครั้ง ดังนี้ เป็นความจริงไซร้ คำที่ตรัสไว้ว่า เหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวมี ๘ อย่าง ดังนี้ ก็ไม่เป็นความจริงเพราะความจริงมีถึง ๙ อย่าง. ชื่อว่า ฝนปาวุสกะ ได้แก่ฝนที่ตรัสเรียกว่า จาตุททีปิกะ (ฝนตกพร้อมกันตลอด ๔ ทวีป ).  คำว่า บุคคลผู้สร้างบุญญาธิการไว้แล้วได้ทำกรรมดีที่เสวยผลเป็นสุขในอัตภาพนี้ คือบุคคลผู้ได้สั่งสมบุญญาธิการไว้ดีแล้วในภพก่อน ในภพนี้ได้ทำกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ ซึ่งเป็นกรรมที่ใครๆ ทำได้ยาก กรรมนั้นเป็นกรรมที่อาจเผยผลคืออาจให้ผลเป็นความสุขในอัตภาพนี้ คือในปัจจุบันนี้นั่นแหละ ในชน ๗ คนผู้ทำกรรมอย่างนี้ จะขอเล่าเรื่องของนายสุมน ช่างจัดระเบียบดอกไม้ ให้ฟังโดยย่อ พอเป็นนิทัสสนะ

มีเรื่องว่า สมัยหนึ่ง ในเวลาเช้าตรู่ ช่างจัดระเบียบดอกไม้ของพระเจ้าพิมพิสารผู้หนึ่ง ชื่อว่า นายสุมน ได้พบเห็นพระพุทธเจ้าผู้กำลังเสด็จเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ในระหว่างทาง มีจิตเลื่อมใส คิดจะทำการสักการะบูชา เมื่อไม่มีอะไรอย่างอื่นที่จะใช้เป็นเครื่องสักการะบูชา นอกจากกำดอกไม้หลายพรรณที่เตรียมไว้สำหรับพระราชา คิดว่าจะทำการสักการะบูชาพระตถาคตด้วยกำดอกไม้เหล่านี้ คิดอีกทีว่า นี้ คือดอกไม้สำหรับบำรุงพระราชาเป็นประจำ พระราชาเมื่อไม่ทรงได้ดอกไม้เหมือนอย่างเคย ก็อาจกริ้ว อาจรับสั่งขังเราก็ได้ ให้ฆ่าเราก็ได้ หรือว่าให้ขับไล่เราออกไปจากแว่นแคว้นก็ได้ เอาเถอะ เราจะยอมรับราชทัณฑ์ทุกอย่าง ถึงอย่างไร การบำรุงพระราชาก็เป็นเหตุเพียงให้เราได้รับทรัพย์เป็นเครื่องตอบแทนเลี้ยงชีพให้เป็นสุขอยู่ได้เพียงในอัตภาพนี้เท่านั้น แต่ว่าการบูชาพระศาสดาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เราหลายโกฏิกัป เอาล่ะ เราขอสละชีวิตของตนนำดอกไม้นี้ บูชาพระศาสดา ดังนี้ คิดอย่างนี้แล้ว ก็นำดอกไม้เหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา โปรยปรายดอกไม้เหล่านั้นในหนทางที่จะเสด็จดำเนินบ้าง ขว้างขึ้นไปในอากาศอาศัยพระพุทธานุภาพให้ดอกไม้เหล่านั้นประดิษฐานดุจเป็นเพดานกั้นอยู่เหนือพระองค์บ้าง เป็นต้น นายสุมนเมื่อไม่มีดอกไม้ไว้สำหรับจัดระเบียบเครื่องประดับสำหรับพระราชาแล้ว ในวันนั้นก็ไม่มีกิจต้องทำเกี่ยวกับดอกไม้จึงกลับมาสู่ที่อาศัยของตน ภรรยาของนายสุมนทราบเรื่องทั้งหมดแล้วก็หวาดหวั่นต่อราชภัย รีบไปเข้าเฝ้าพระราชาทูลให้ทรงทราบว่าตนเองไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของสามี เพื่อประสงค์เอาตัวรอด พระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงเป็นพระโสดาบัน ครั้นทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ก็ทรงนึกสรรเสริญการกระทำของนายสุมนเป็นอย่างยิ่ง ทรงชมเชยนายสุมนว่าเป็นมหาบุรุษ แล้วพระราชทานทรัพย์ สินเงินทอง ช้างม้า ทาสหญิง ทาสชาย เป็นต้นให้มากมาย

คำว่า ชนผู้ไปพบดาวดึงส์ด้วยสรีระร่างกายที่เป็นของมนุษย์ คือชนผู้เป็นมนุษย์ ยังไม่เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์เข้าถึงภพใหม่เลย ก็ไปสู่ภพดาวดึงส์ทั้งๆ ที่ยังมีร่างกายเป็นมนุษย์อยู่นั่นแหละ ในชน ๔ คนนั้น จะขอเล่าเรื่องของพระเจ้ามันธาตุให้ฟังพอเป็นนิทัสสนะ อย่างย่อๆ.  เรื่องมีอยู่ว่า พระเจ้ามันธาตุ ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงมีพระชนมายุยืนนานยิ่งถึงอสงไขยปี เมื่อทรงเบื่อหน่ายราชสมบัติและกามคุณทั้งหลายที่เป็นของมนุษย์ ก็ทรงปล่อยจักรแก้วนำพระองค์เสด็จไปสู่เทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวจตุมหาราชทั้งหลายทรงโปรดปรานยินดี ทูลถวายเทวราชสมบัติในภพนั้นให้ทรงครอบครอง พระเจ้ามันธาตุทรงเสวยสุขในเทวราชสมบัตินั้นนานเข้า ก็ทรงเกิดความเบื่อหน่าย จึงทรงปล่อยจักรแก้วนำพระองค์ไปสู่ภพดาวดึงส์ แม้ที่พบดาวดึงส์นั้นท้าวสักกะจอมเทพ ก็ทรงโปรดปราน ทรงแบ่งเทวราชสมบัติครึ่งหนึ่งทูลถวายให้ทรงครอบครอง พระเจ้ามันธาตุทรงมีพระชนมายุยืนนานยิ่ง ท่านท้าวสักกะพระองค์นั้นทรงจุติแล้ว มีท่านท้าวสักกะพระองค์ใหม่ทรงอุบัติ ติดต่อกันหลายพระองค์ พระเจ้ามันธาตุก็ยังทรงพระชนม์อยู่ ท่านท้าวสักกะแต่ละพระองค์ที่ทรงอุบัติล้วนทรงยินดีให้พระเจ้ามันธาตุได้ทรงครอบครอง เทวดาสมบัติครึ่งหนึ่ง ต่อมาถ้าเจ้ามันธาตุทรงปรารถนาจะได้สมบัติทั้งสิ้น จึงทรงทำการปลงพระชนม์ท่านท้าวสักกะพระองค์นั้นเสีย แต่เป็นธรรมดาว่าใครๆ ไม่อาจฆ่าผู้เป็นเทวดาได้ พระเจ้ามันธาตุนั่นเทียว ในคราวนั้น เพราะทรงถูกความมักมาก ครอบงำเกินประมาณ พระวรกายของพระองค์ก็ถึงความชราคร่ำคร่าไปฉับพลัน จวนเจียนจะทรงทำกาลกริยา แต่เป็นธรรมดาว่าผู้เป็นมนุษย์ไม่อาจทิ้งร่างภายในเทวโลกนั้นได้ พระองค์จึงทรงเคลื่อนจากภพดาวดึงส์นั้น กลับมาสู่โลกมนุษย์ ประทับในพระราชเวสน์นั้นตามเดิม ก่อนจะทรงถึงกาลกริยา ทรงสอนพวกอำมาตย์ทั้งหลายว่า ชนทั้งหลายไม่อาจทำตัณหาของตนให้อิ่ม ให้เต็มได้ แม้นตราบถึงวันตาย ทรงทำกาลกริยาแล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม

คำว่า มหาทาน แปลว่าทานที่ยิ่งใหญ่ หรือทานที่น่าบูชา อรรถกถาอังคุตตรนิกายกล่าวไว้ว่า ได้แก่ การบริจาค ๕ อย่างคือ บริจาคอวัยวะ ๑, บริจาคทรัพย์ ๑, บริจาคบุตร ๑, บริจาคภรรยา ๑, บริจาคชีวิต ๑.  ส่วนฎีกาว่า ได้แก่การบริจาค ๕ อย่าง คือบริจาคอวัยวะ (อื่นๆที่ไม่ใช่นัยน์ตา) ๑, บริจาคนัยน์ตา ๑, บริจาคทรัพย์ ๑, บริจาคราชสมบัติ ๑, บริจาคบุตรและภรรยา ๑, พระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน ๕ อย่าง เหล่านี้ ครบทุกอย่าง

คำว่า อสทิสทาน แปลว่าทานที่หาทานของผู้อื่นเสมอเหมือนไม่ได้ ได้แก่ทานที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำถวายพระตถาคต ซึ่งมากมายและมีค่ายิ่งกว่าทานที่พวกชาวนครพร้อมใจกันสละทรัพย์สมทบทำถวาย ตามที่พระนางมัลลิกาเทวีทรงทูลแนะนำ เพื่อเอาชนะทานของพวกชาวนคร เป็นทานยอดเยี่ยมที่ผู้เป็นพระราชาเท่านั้นทรงจัดแจงได้ เพราะมีการประดับประดาด้วยเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย อันชาวนครไม่อาจจัดหาได้. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๐

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: