วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

“กายนี้เป็นเหมือนถุงยาวๆ ที่มีปาก ๒ ข้างที่เขาบรรจุธัญญชาติชนิดต่างๆ ไว้”

“กายนี้เป็นเหมือนถุงยาวๆ ที่มีปาก ๒ ข้างที่เขาบรรจุธัญญชาติชนิดต่างๆ ไว้”

ในถุงยาวๆ ที่มีปาก ๒ สองข้าง ที่เขาบรรจุธัญญชาติชนิดต่างๆ ไว้จนเต็ม คือใส่ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสารเป็นต้นไว้,  ถ้าเราแก้ถุงนั้นออกแล้วพิจารณาดูก็จะรู้ว่า “เหล่านี้เป็นข้าวสาลี เหล่านี้เป็นข้าวเปลือก เหล่านี้เป็นถั่วเขียว เหล่านี้เป็นถั่วเหลือง เหล่านี้เป็นงา เหล่านี้เป็นข้าวสาร” ฉันใด,  

ในกายของเรานี้ก็ฉันนั้น ถ้าเราพิจารณากายนี้นี่แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า  “มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม–ขน–เล็บ–ฟัน–หนัง–เนื้อ–เอ็น–กระดูก–เยื่อในกระดูก–ม้าม–หัวใจ–ตับ–พังผืด–ไต–ปอด–ไส้ใหญ่–ไส้น้อย–อาหารใหม่–อาหารเก่า–น้ำดี–น้ำเสลด–น้ำเหลือง–น้ำเลือด–น้ำเหงื่อ–มันข้น–น้ำตา–มันเหลว–น้ำลาย–น้ำมูก–ไขข้อ–น้ำมูตร” ดังนี้ ทั้งในกายภายใน (ในกายของตน) บ้าง ทั้งในกายภายนอก (ในกายของผู้อื่น) บ้าง  เราย่อมเห็นความเป็นธรรมดาของร่างกายนี้ คือ เห็นความเกิดขึ้นในกายบ้าง เห็นความเสื่อมไปในกายบ้าง เห็นทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง ดังนี้

เมื่อสติของเราตั้งมั่น กายนี้ก็เพียงสักว่าเป็นที่รู้ (คือรู้ว่ามีเพียงผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นต้นเท่านั้น) และกายนี้ก็เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก (เป็นที่ตั้งสติ) เราจะไม่ถูกตัณหา (ตัณหาคือความทะยานอยาก) และทิฏฐิ (ทิฏฐิคือความเห็นผิด) เข้าครอบง่ำ และเราก็จะละความยึดถืออะไรๆ ในโลกว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” ได้  ดังนี้  ฯ

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ), 28/4/64



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: