วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564

"เจตนา" นั่นเอง ที่เรียกว่า กรรม "มโนกรรม" สําคัญที่สุด มีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด

"เจตนา" นั่นเอง ที่เรียกว่า กรรม "มโนกรรม" สําคัญที่สุด มีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด 

ความหมายของกรรม

..“กรรม” แปลตามศัพท์ว่า การงาน หรือ การกระทํา แต่ในทางธรรมต้องจํากัดความจําเพาะลงไปว่า หมายถึง การกระทําที่ประกอบด้วย “เจตนา” หรือ การกระทําที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทําที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมในความหมายทางธรรม ตามพุทธพจน์ ที่ว่า..“ภิกษุทั้งหลาย เจตนา (นั่นเอง) เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทํากรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”  [ ที่มา : องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๓๔/๔๖๓ ]

“กรรม” จําแนกตามทวาร คือทางที่ทํากรรม หรือทางแสดงออกของกรรม จัดเป็น ๓ คือ  ๑. กายกรรม กรรมทําด้วยกาย หรือการกระทําทางกาย  ๒. วจีกรรม กรรมทําด้วยวาจา หรือการกระทําทางวาจา  ๓. มโนกรรม กรรมทําด้วยใจ หรือการกระทําทางใจ.  

ประเภทของกรรม  

กรรมนั้น เมื่อจําแนกตามคุณภาพหรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ  ๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็น อกุศล การกระทําที่ไม่ดี กรรมชั่ว หมายถึง การกระทําที่เกิดจาก อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือ โมหะ  ๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็น กุศล การกระทําที่ดี หรือ กรรมดี หมายถึง การกระทําที่เกิดจาก กุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรือ อโมหะ

..เมื่อจําแนกให้ครบตามหลักสองข้อที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีกรรมรวมทั้งหมด ๖ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม แต่ละอย่างที่เป็น อกุศล หรือ กุศล ที่เกิดทาง กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม.  อีกอย่างหนึ่ง ท่านจําแนกกรรมตามสภาพที่สัมพันธ์กับ วิบาก หรือ การให้ผล จัดเป็น ๔ อย่าง คือ 

๑. กรรมดํา  มีวิบากดํา ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และ มโนสังขาร ที่มีการเบียดเบียน ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และติดสุราเมรัยตั้งอยู่ในความประมาท 

๒. กรรมขาว  มีวิบากขาว ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และ มโนสังขาร ที่ไม่มีการเบียดเบียน ตัวอย่าง คือ การประพฤติตามกุศลกรรมบถ ๑๐

๓. กรรมทั้งดําทั้งขาว  มีวิบากทั้งดําทั้งขาว ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร ที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง เช่น การกระทําของมนุษย์ทั่วๆ ไป 

๔. กรรมไม่ดําไม่ขาว  มีวิบากไม่ดําไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ได้แก่ เจตนาเพื่อละกรรมทั้งสามอย่างข้างต้น หรือว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ หรือ มรรคมีองค์ ๘. ในชั้นอรรถกถา มีการแบ่งประเภทของกรรมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนิยมถือตามกันมา และเป็นที่รู้จักกันดีในยุคหลังๆ คือ การจัดแบ่งเป็นกรรม ๑๒ หรือ กรรมสี่ ๓ หมวด เช่นที่แสดงไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น แต่เพื่อป้องกันความฟั่นเฝือจึงจะไม่กล่าวไว้ในที่นี้ . ในบรรดากรรม ๓ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น “มโนกรรม” สําคัญที่สุด และมีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ดังบาลีว่า.. “ดูกร ตปัสสี บรรดากรรม ๓ อย่างเหล่านี้ ที่เราจําแนกไว้แล้วอย่างนี้ แสดงความแตกต่างกันแล้วอย่างนี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทําบาปกรรม ในความเป็นไปแห่งบาปกรรม หาบัญญัติกายกรรมอย่างนั้นไม่ หาบัญญัติวจีกรรมอย่างนั้นไม่” [ ม. ม. ๑๓/๖๔/๕๖ ]

..เหตุที่มโนกรรมสําคัญที่สุดก็เพราะเป็นจุดเริ่มต้น คนคิดก่อนแล้วจึงพูดจึงกระทํา คือแสดงออกทางกายและวาจา ดังนั้น วจีกรรมและกายกรรม จึงขยายออกมาจากมโนกรรมนั่นเอง และที่ว่ามีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ก็เพราะว่า มโนกรรมรวมถึงความเชื่อถือ ความเห็น ทฤษฎี แนวคิด และ ค่านิยมต่างๆ ที่เรียกว่า “ทิฏฐิ” ทิฏฐินี้เป็นตัวกําหนดพฤติกรรมทั่วๆไปของบุคคล ความเป็นไปในชีวิตของบุคคล และคติของสังคม ทั้งหมด เมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือ นิยมอย่างไร ก็คิดการพูดจา สั่งสอน ชักชวนกัน และทําการต่างๆ ไปตามที่เชื่อที่เห็นที่นิยมอย่างนั้น ถ้าเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” การดําริ พูดจา และทําการ ก็ดําเนินไปในทางผิด เป็นมิจฉาไปด้วย ถ้าเป็น “สัมมาทิฏฐิ” การดําริ พูดจา และทําการต่างๆ ก็ดําเนินไปในทางถูกต้อง เป็นสัมมาไปด้วย 

..เช่น คนและสังคมที่เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุมีค่าสูงสุด เป็นจุดหมายที่พึงใฝ่ประสงค์ ก็จะเพียรพยายามแสวงหาวัตถุให้พรั่งพร้อม และถือเอาความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุนั้นเป็นมาตรฐานวัดความเจริญรุ่งเรืองเกียรติยศและศักดิ์ศรี เป็นต้น วิถีชีวิตของคน และแนวทางของสังคมนั้นก็จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่ง ส่วนคนและสังคมที่ถือความสงบสุขทางจิตใจเป็นที่หมาย ก็จะมีวิถีชีวิตและความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

ที่มา : จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย”, ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), ตอน ๓ บทที่ ๕, ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: