วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564

โลกธรรม ๘ ประการ

โลกธรรม ๘ ประการ

..“โลกธรรม” คือเรื่อง ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ มันมีอยู่ตามธรรมดาของโลก เป็นไปตามกฏธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน มองไม่เป็น ก็เกิดทุกข์ทันที

..“คนเราอยู่ในโลก แต่มักปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายในโลก จึงดำเนินชีวิตไม่ถูกต้อง สิ่งที่เราเกี่ยวข้องต่างๆ นี่ มันก็อยู่ของมันไปตามปกติ ตามธรรมชาติ แต่เราปฏิบัติต่อมันไม่ถูก วางใจไม่ถูก แม้แต่มองก็ไม่ถูก เราจึงเกิดทุกข์

..สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ตามธรรมดามันก็เป็นไป ถ้าเรารู้ทัน ก็เห็นมันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เรามองไม่เป็น ก็เกิดทุกข์ทันที แม้แต่เหตุการณ์ความผันผวนปรวนแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ที่เรียกกันว่า โชคบ้าง เคราะห์บ้าง ศัพท์พระเรียกว่า “โลกธรรม” ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้คนดีใจเสียใจ เป็นสุข และเป็นทุกข์ เวลามันเกิดขึ้น ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง ที่สุขเราก็แปลงให้เป็นทุกข์ ที่มันเป็นทุกข์อยู่แล้ว เราก็เพิ่มทุกข์แก่ตัวเราให้มากขึ้น แต่ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ที่ทุกข์เราก็ผันแปลงให้เป็นสุข ที่มันเป็นสุขอยู่แล้ว เราก็เพิ่มให้เป็นสุขมากยิ่งขึ้น

 “โลกธรรม” คืออะไร?

..โลกธรรม แปลว่า ธรรมประจำโลก ได้แก่สิ่งที่เกิดแก่มนุษย์ทั้งหลายตามธรรมดาของความเป็นอนิจจัง ก็คือเรื่อง ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มันมีอยู่เป็นธรรมดา เมื่อเราอยู่ในโลก เราไม่พ้นมันหรอก เราต้องเจอมัน ทีนี้ถ้าเราเจอมันแล้ว เราวางใจไม่ถูก และปฏิบัติไม่ถูก เราจะเอาทุกข์มาใส่ตัวทันที พอเรามีลาภ เราก็ดีใจ อันนี้เป็นธรรมดา เพราะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา แต่พอเสื่อมลาภเราก็เศร้าโศก เพราะเราสูญเสีย ทีนี้ ถ้าเราวางใจไม่ถูก ไประทมตรมใจ แล้วไปทำอะไรประชดประชันตัวเอง หรือประท้วงชีวิต เป็นต้น เราก็ซ้ำเติมตัวเอง ทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น อย่างง่ายๆ กว่านั้น เช่น เสียงนินทา และสรรเสริญ คำสรรเสริญนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบใจ พอได้ยินเราก็มีความสุข ใจก็ฟูขึ้นมา แต่พอได้ยินคำนินทาเราก็เกิดความทุกข์ ทุกข์นี้เกิด เพราะอะไร เพราะเรารับเอาเข้ามา คือรับกระทบมันนั่นเอง คือเอาเข้ามาบีบใจของเรา

..ทีนี้ ถ้าเราวางใจถูกต้อง อย่างน้อยเราก็รู้ว่า อ้อ..นี่คือธรรมดาของโลก เราได้เห็นแล้วไง พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า เราอยู่ในโลก เราต้องเจอโลกธรรมนะ เราก็เจอจริงๆ แล้ว เราก็รู้ว่า อ้อ นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้เอง เราได้เห็น ได้รู้แล้ว เราจะได้เรียนรู้ไว้ พอบอกว่าเรียนรู้เท่านั้นแหละ มันก็กลายเป็นประสบการณ์สำหรับศึกษา เราก็เริ่มวางใจต่อมันได้ถูกต้อง ต่อจากนั้น ก็นึกสนุกกับมันว่า อ้อ ก็อย่างนี้แหละ อยู่ในโลกก็ได้เห็นความจริงแล้วว่ามันเป็นอย่างไร ทีนี้ก็ลองกับมันดู แล้วเราก็ตั้งหลักได้ สบายใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เอาทุกข์มาทับถมใจตัวเอง อะไรต่างๆ นี่ โดยมากมันจะเกิดเป็นปัญหาเพราะเราไปรับกระทบ ถ้าเราไม่รับกระทบ มันก็เป็นเพียงการเรียนรู้

..บางทีเราทำใจให้ถูกต้องกว่านั้น ก็คือ คิดจะฝึกตนเอง พอเราทำใจว่าจะฝึกตนเอง เราจะมองทุกอย่างในแง่มุมใหม่ แม้แต่สิ่งที่ไม่ดีไม่น่าชอบใจ เราก็จะมองเป็นบททดสอบ พอมองเป็นบททดสอบทีไร เราก็ได้ทุกที ไม่ว่าดีหรือร้ายเข้ามา ก็เป็นบททดสอบใจและทดสอบสติปัญญาความสามารถทั้งนั้น ก็ทำให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะเราได้ฝึกฝน เราได้พัฒนาตัวเรา เลยกลายเป็นดีไปหมด

..ถ้า “โชค” หรือ โลกธรรมที่ดี มีมา เราก็สบาย เป็นสุข แล้วเราก็ใช้โชคนั้น เช่น ลาภ ยศ เป็นเครื่องมือเพิ่มความสุขให้แผ่ขยายออกไป คือใช้มันทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ทำให้ความสุขขยายจากตัวเรา แผ่กว้างออกไป สู่ผู้คนมากมายในโลก

..ถ้า “เคราะห์” หรือ โลกธรรมที่ร้าย ผ่านเข้ามา ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ตัวเราจะได้ฝึกฝนพัฒนา มันก็กลายเป็นบททดสอบ เป็นบทเรียน และเป็นเครื่องมือฝึกสติ ฝึกปัญญา ฝึกการแก้ปัญหา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เราพัฒนายิ่งขึ้นไป

..เพราะฉะนั้น ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าจึงถือคติว่า ให้มนสิการให้ถูกต้อง ถ้ามองสิ่งทั้งหลายให้เป็นแล้ว ก็จะเกิดเป็นประโยชน์แก่เราหมด ไม่ว่าดีหรือร้าย นี้เป็นตัวอย่างวิธีการเบื้องต้น แต่รวมความง่ายๆ ก็คือ เราไม่เอาทุกข์มาทับถมตนเอง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ), ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความสุขที่สมบูรณ์”

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า..“ ภิกษุทั้งหลาย ! โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกก็หมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้.   ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และ ทุกข์ ธรรมเหล่านี้ในหมู่มนุษย์ ล้วนไม่เที่ยง ไม่มั่นคง มีความแปรผันเป็นธรรมดา ..แต่ท่านผู้มีปัญญาดี มีสติ รู้ธรรมเหล่านี้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นว่า มีความแปรผันเป็นธรรมดา ..อิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) จึงย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา)

ความยินดี หรือ ความยินร้าย ท่านขจัดปัดเป่า จนไม่มีอยู่ ท่านรู้ทางที่ปราศจากธุลี(นิพพาน) ไม่มีความเศร้า โศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมรู้แจ้งชัดโดยถูกต้อง.”

ปฐมโลกธัมมสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๒๓ ข้อ ๕ หน้า ๒๐๓, ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: