วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564

ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม

"โย อลีเนน จิตฺเตน,  อลีนมนโส นโร;   ภาเวติ กุสลํ ธมฺมํ,  โยคกฺเขมสฺส ปตฺติยา;   ปาปุเณ อนุปุพฺเพน,  สพฺพสํโยชนกฺขยนฺติ ฯ   นรชนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ, นรชนนั้นพึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ"

ปัญจาวุธชาดกอรรถกถา 

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุมีความเพียรย่อหย่อนรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย อลีเนน จิตฺเตน ดังนี้. 

พระบรมศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่เขาว่า เธอเป็นผู้มีความเพียรย่อหย่อน“ เมื่อเธอกราบทูลว่า „จริงพระเจ้าข้า“ จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลาย กระทำความเพียรในที่ ๆ ควรประกอบความเพียรก็ได้บรรลุถึงราชสมบัติได้“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้. :-  

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในคัพโภทรพระอัครมเหสีของพระราชาพระองค์นั้น ในวันที่จะถวายพระนามพระโพธิสัตว์ราชตระกูลได้เลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ ให้อิ่มหนำด้วยของที่น่าปรารถนาทุก ๆประการแล้วสอบถามลักษณะของพระกุมารพวกพราหมณ์ผู้ฉลาดในการทำนายลักษณะ เห็นความสมบูรณ์ด้วยลักษณะแล้ว ก็พากันทำนายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระกุมารสมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วจักต้องได้ครองราชสมบัติ จักมีชื่อเสียงปรากฏด้วยการใช้อาวุธ ๕ ชนิด เป็นอรรคบุรุษในชมพูทวีปทั้งสิ้น. เพราะเหตุได้ฟังคำทำนายของพราหมณ์ทั้งหลาย เมื่อจะขนานพระนามก็เลยขนานให้ว่า ปัญจาวุธกุมาร. 

ครั้นพระกุมารนั้นถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว มีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระราชาตรัสเรียกมาแล้วรับสั่งว่า „ลูกรัก เจ้าจงเรียนศิลปศาสตร์เถิด“. พระกุมารกราบทูลถามว่า „กระหม่อมฉันจะเรียนในสำนักของใครเล่าพระเจ้าข้า?“.  พระราชารับสั่งว่า „ไปเถิดลูก จงไปเรียนในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ ตักกสิลานคร แคว้นคันธาระและพึงให้ทรัพย์นี้ เป็นค่าบูชาคุณอาจารย์แก่ท่านด้วย“ แล้วพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันส่งไปแล้ว.  พระราชกุมารเสด็จไปในสำนักทิศาปาโมกข์นั้นทรงศึกษาศิลปะ รับอาวุธ ๕ ชนิดที่อาจารย์ให้ กราบลาอาจารย์ออกจากนครตักกสิลา เหน็บอาวุธ ทั้ง ๕ กับพระกาย เสด็จดำเนินไปทางเมืองพาราณสี. 

พระองค์เสด็จมาถึงดงตำบลหนึ่ง เป็นดงที่สิเลสโลมยักษ์สิงสถิตอยู่. ครั้นนั้นพวกมนุษย์ เห็นพระกุมารที่ปากดง พากันห้ามว่า „พ่อมาณพผู้เจริญท่านอย่าเข้าไปสู่ดงนี้ ในดงนั้นมียักษ์ชื่อสิเลสโลมะสิงอยู่ มันทำให้คนที่มันพบเห็นตายมามากแล้ว".  พระโพธิสัตว์ระวังพระองค์ไม่ครั่นคร้ามเลย มุ่งเข้าดงถ่ายเดียว เหมือนไกรสรราชสีห์ ผู้ไม่ครั่นคร้ามฉะนั้น. พอไปถึงกลางดง ยักษ์ตนนั้นมันก็แปลงกาย สูงชั่วลำตาล ศีรษะเท่าเรือนยอด นัยน์ตาแต่ละข้างขนาดเท่าล้อเกวียน เขี้ยวทั้งสองแต่ละข้าง ขนาดเท่าหัวปลีตูม หน้าขาว ท้องด่าง มือเท้าเขียวแล้วสำแดงตนให้พระโพธิสัตว์เห็น ร้องว่า „เจ้าจะไปไหน ? หยุดนะ เจ้าต้องเป็นอาหารของเรา“.

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ตวาดมันว่า „ไอ้ยักษ์ เราเตรียมตัวแล้วจึงเข้ามาในดง เจ้าอย่าเผลอตัวเข้ามาใกล้เรา เพราะเราจะยิงเจ้าด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ล้มลงตรงนั้นแหละ“ แล้วใส่ลูกศรอาบยาพิษอย่างแรงยิงไป. ลูกศรไปติดอยู่ที่ขนของยักษ์ทั้งหมด. พระโพธิสัตว์ปล่อยลูกศรไปติด ๆ กัน ลูกแล้ว ลูกเล่า ทะยอยออกไปด้วยอาการอย่างนี้ สิ้นลูกศรถึง ๕๐ ลูก ทุก ๆลูกไปติดอยู่ที่ขนของมันเท่านั้น ยักษ์สลัดลูกศรทั้งหมด ให้ตกลงที่ใกล้ ๆเท้าของมันนั่นแหละแล้วรี่เข้าหาพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์กลับตวาดมันอีกแล้วชักพระขรรค์ออกฟัน. พระขรรค์ยาว ๓๓ นิ้วก็ติดขนมันอีก. ที่นั้นจึงแทงมันด้วยหอกซัด. แม้หอกซัดก็ติดอยู่ที่ขนนั่นเอง. ครั้นพระโพธิสัตว์ทราบอาการที่มันมีขนเหนียวแล้วจึงตีด้วยตระบองแม้ตระบองก็ไปติดที่ขนของมันอีกนั่นแหละ.

พระโพธิสัตว์ทราบ อาการที่มันมีตัวเหนียวเป็นตัว ก็สำแดงสีหนาทอย่างไม่ครั่นคร้ามประกาศก้องร้องว่า „เฮ้ยไอ้ยักษ์ เจ้าไม่เคยได้ยินชื่อเรา ผู้ชื่อว่าปัญจาวุธกุมารเลยหรือ ? เมื่อเราจะเข้าดงที่เจ้าสิงอยู่ ก็เตรียมอาวุธมีธนูเป็นต้นเข้ามา เราเตรียมพร้อมเข้ามาแล้วทีเดียว, วันนี้เราจักตีเจ้าให้แหลกเป็นจุณวิจุณไปเลย“ พลางโถมเข้าต่อยด้วยมือข้างขวา มือข้างขวาก็ติดขน ต่อยด้วยมือซ้าย มือซ้ายก็ติดอีก เตะด้วยเท้าขวา เท้าขวาก็ติด เตะด้วยเท้าซ้าย เท้าซ้ายก็ติด คิดว่า ต้องกระแทกให้มันแหลกด้วยศีรษะแล้วก็กระแทกด้วยศีรษะ แม้ศีรษะก็ไปติดที่ขนของมันเหมือนกัน. พระโพธิสัตว์ติดตรึงแล้วในที่ทั้ง ๕ แม้จะห้อยโตงเตงอยู่ ก็ไม่กลัว ไม่สะทกสะท้านเลย. 

ยักษ์จึงคิดว่า „บุรุษนี้เป็นเอก เป็นดุจบุรุษสีหะ เป็นบุรุษอาชาไนย ไม่ใช่บุรุษธรรมดา ถึงจะถูกยักษ์อย่างเราจับไว้ แม้มาดว่า ความสะดุ้งก็หามีไม่ ในทางนี้เราฆ่าคนมามาก, ไม่เคยเห็นบุรุษอย่างนี้สักคนหนึ่งเลย เพราะเหตุไรหนอ บุรุษนี้จึงไม่กลัว ?“ ยักษ์ไม่อาจจะกินพระโพธิสัตว์ได้ จึงถามว่า „ดูก่อนมาณพ เพราะเหตุไรหนอท่านจึงไม่กลัวตาย?“. พระโพธิสัตว์ตอบว่า „ยักษ์เอ๋ย ทำไมเราจักต้องกลัว เพราะในอัตภาพหนึ่ง ความตายนั้นเป็นของแน่นอนทีเดียวอีกประการหนึ่งในท้องของเรามีวชิราวุธ, ถ้าเจ้ากินเรา ก็จักไม่สามารถทำให้อาวุธนั้นย่อยได้อาวุธนั้น จักต้องบาดใส้พุงของเจ้าให้ขาดเป็นชิ้น ๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ทำให้เจ้าถึงสิ้นชีวิตได้ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ เราก็ต้องตายกันทั้งสองคน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่กลัวตาย“. 

นัยว่า คำว่า วชิราวุธนี้ พระโพธิสัตว์ตรัสหมายถึง อาวุธคือญาณ ในภายในของพระองค์.  ยักษ์ฟังคำนั้นแล้วคิดว่า „มาณพนี้คงพูดจริงทั้งนั้นชิ้นเนื้อเเม้ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว จากร่างกายของบุรุษสีหะผู้นี้ ถ้าเรากินเข้าไปในท้องแล้ว จักไม่อาจให้ย่อยได้ เราจักปล่อยเขาไป“ ดังนี้แล้ว เกิดกลัวตาย จึงปล่อยพระโพธิสัตว์กล่าวว่า „พ่อมาณพท่านเป็นบุรุษสีหะ, เราจักไม่กินเนื้อของท่านละ, ท่านพ้นจากเงื้อมมือของเรา เหมือนดวงจันทร์พ้นจากปากราหู เชิญท่านไปเถิด มวลญาติมิตรจะได้ดีใจ“. 

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสกะยักษ์ว่า „ดูก่อนยักษ์ เราต้องไปก่อนส่วนท่านได้กระทำอกุศลไว้ในครั้งก่อนแล้วจึงได้เกิดเป็นผู้ร้ายกาจ มืออาบด้วยเลือด มีเลือดเนื้อของคนอื่นเป็นภักษาแม้ถ้าท่านดำรงอยู่ในอัตภาพนี้ ยังจักกระทำอกุศลกรรมอยู่อีกก็จักไปสู่ความมืดมน จากความมืดมน นับแต่ท่านพบเราแล้วเราไม่อาจปล่อยให้ท่านทำอกุศลกรรมอยู่ได้“,  แล้วจึงตรัสโทษของทุศีลกรรมทั้ง ๕ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า „ขึ้นชื่อว่ากรรมคือการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ย่อมทำสัตว์ให้เกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉานในเปตวิสัยและในอสุรกาย, ครั้นมาเกิดในมนุษย์เล่า ก็ทำให้เป็นคนมีอายุสั้น“, 

แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของศีลทั้ง ๕ ขู่ยักษ์ด้วยเหตุต่าง ๆ ทรงแสดงธรรม ทรมานจนหมดพยศร้าย ชักจูงให้ดำรงอยู่ในศีล ๕ กระทำยักษ์นั้นให้เป็นเทวดารับพลีกรรมในดงนั้นแล้วตักเตือนด้วยอัปปมาทธรรม,  ออกจากดง บอกแก่มนุษย์ที่ปากดง สอดอาวุธทั้ง ๕ ประจำพระองค์ เสด็จไปสู่กรุงพาราณสี เฝ้าพระราชบิดา พระราชมารดา ภายหลังได้ครองราชย์ ก็ทรงปกครองโดยธรรมทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม. พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ครั้นตรัสรู้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ ใจ ความว่า :-  „นรชนผู้ใด มีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนผู้นั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่าง โดยลำดับ“. 

ในพระคาถานั้น ประมวลความได้ดังนี้ :- บุรุษใดมีใจไม่หดหู่ คือไม่ท้อแท้รวนเร มีใจไม่หดหู่โดยปกติ เป็นผู้มีอัธยาศัยแน่วแน่มั่นคง จำเริญเพิ่มพูนธรรม ที่ได้ชื่อว่ากุศลได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เพราะเป็นธรรมที่ปราศจากโทษบำเพ็ญวิปัสสนาด้วยจิตอันกว้างขวาง เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะทั้ง ๔ คือ พระนิพพาน บุรุษนั้นยกขึ้นซึ่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งมวลอย่างนี้แล้ว ยังโพธิปักขิยธรรมที่เกิดขึ้นจำเดิมแต่วิปัสสนายังอ่อนให้เจริญพึงบรรลุพระอรหัตผลอันถึงการนั้นว่า ความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่าง เพราะบังเกิดแล้วในที่สุดแห่งมรรคทั้ง ๔ อันเป็นเหตุสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหมด มิได้เหลือเลยแม้สักสังโยชน์เดียวโดยลำดับ.  พระบรมศาสดา ทรงถือเอายอดพระธรรมเทศนา ด้วยพระอรหัตผลด้วยประการฉะนี้ ในที่สุดทรงประกาศ จตุราริยสัจ(อริยสัจ ๔) ในเวลาจบสัจธรรม ภิกษุนั้นได้บรรลุพระอรหัตผลแม้พระบรมศาสดา ก็ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ยักษ์ในครั้งนั้นได้มาเป็นพระองคุลิมาร ส่วนปัญจาวุธกุมารได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: