วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๗ พาหุสจฺจญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเป็นผู้สดับฟังมาก เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๗ ความเป็นพหูสูตร - พาหุสัจจัญจะ  

๏ การสนใจใฝ่คว้าหาความรู้  ให้เป็นผู้แก่เรียนเพียรศึกษา  มีศีลดีสติมั่นเกิดปัญญา  ย่อมนำพาตัวรอดเป็นยอดดี ๛

พหูสูตร คือเป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะดังนี้คือ  ๑. รู้ลึก คือการรู้ในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ อย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ  ๒. รู้รอบ คือการรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์แวดล้อมเป็นต้น  ๓. รู้กว้าง คือการรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กันเป็นต้น  ๔. รู้ไกล คือการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคตเป็นต้น

ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติดังว่านี้คือ  ๑. ความตั้งใจฟัง ก็คือชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้าเป็นต้น  ๒. ความตั้งใจจำ ก็คือรู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้นๆ และจับใจความให้ได้  ๓. ความตั้งใจท่อง ก็คือท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ  ๔. ความตั้งใจพิจารณา ก็คือการรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆอย่างทะลุปรุโปร่ง  ๕. ความเข้าใจในปัญหา ก็คือการรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

พาหุสจฺจญฺจ   เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความเป็นผู้สดับฟังมาก เป็นอุดมมงคล

บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๗ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า พาหุสัจจัญจะ การที่บุคคลได้ฟังซึ่งพระพุทธวจนะ คือ พระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่าพรหมจรรย์ โดยมากได้แก่พระสูตร ๒ หมื่น ๑ พันพระธรรมขันธ์ พระวินัย ๒ หมื่น ๑ พันพระธรรมขันธ์ พระปรมัตถ์ ๔ หมื่น ๒ พันพระธรรมขันธ์ รวมเข้าด้วยกันเป็น ๘ หมื่น ๔ พันพระธรรมขันธ์ แปลว่า กอง แปลว่า หมวด ธัมมะธัมโม แปลว่า ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้ปฎิบัติไม่ให้ไปสู่อบาย พหูสูตรมีสอง คือ อาคาริยพหูสูตร ได้แก่ ฆราวาสชาวบ้านหมั่นฟังธรรมเทศนา มี สุตตัง เคยยัง เป็นต้น และทรงจำไว้ ๑ อนาคาริยพหูสูตร ได้แก่ พรรพชิตภิกษุสามเณรหมั่นฟังธรรมเทศนา เล่าเรียนศึกษาทรงไว้ซึ่งพุทธวจนะ มี สัตตัง เคยยัง เป็นต้น ๑ อธิบายความว่า ฆราวาสก็ดี บรรพชิตก็ดี ท่านที่หมั่นฟังธรรมและเล่าเรียนศึกษาซึ่งพระธรรม ความทรงจำไว้ได้เรียกว่าพหูสูตร คนที่เป็นพหูสูตรรู้ซึ่งธรรม ทรงจำไว้ซึ่งธรรมเป็นที่สรรเสริญแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเป็นต้น

จึงจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า จัตตาโร ภิกขะเว ปุคคะลา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มี ๔ จำพวก คือ บุคคลจำพวกหนึ่งได้สดับฟังธรรมน้อย แล้วก็ไม่ปฎิบัติซึ่งธรรมนั้น เรียกว่า เป็นคนทุศีล มีความฟังน้อย ๑  บุคคลฟังน้อยแต่ปฎิบัติตามธรรม เรียกว่า บุคคลฟังน้อยแต่มีธรรมเครื่องดับทุกข์ ๑  บุคคลได้ฟังมากแต่ไม่ปฎิบัติตามธรรม เรียกว่า พหูสูตรแต่ไม่มีธรรมเครื่องดับทุกข์ ๑  บุคคลฟังมากแล้วปฎิบัติตามธรรม เรียกว่า พหูสูตร มีธรรมเครื่องดับทุกข์ ๑

ภิกขะเว . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดฟังน้อยและไม่ปฎิบัติตามธรรมวินัยที่เราตถาคตบัญญัติแต่งตั้งไว้ มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายย่อมติเตียนซึ่งผู้นั้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ติเตียนด้วยการฟังน้อย ๑ ติเตียนที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรมที่ตนได้ฟัง ๑ บุคคลผู้ใดฟังน้อยแต่ปฎิบัติตามซึ่งธรรม เทพยดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญแต่อย่างเดียว ว่าตั้งอยู่ในศีลคุณเท่านั้น บุคคลผู้ใดได้ฟังมากแต่ไม่ปฎิบัติตามธรรม มนุษย์และเทพยดาย่อมติเตียนว่าเป็นพหูสูตรทุศีล บุคคลผู้ใดฟังมากแล้วปฎิบัติตามซึ่งธรรม เทพยดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เป็นผู้ฟังมาก ๑ คือ ตั้งอยู่ในคุณทั้งหลายมีศีลคุณเป็นต้น ๑ บุคคลเป็นพหูสูตรทรงไว้ซึ่งปฎิบัติธรรม และตั้งอยู่ในข้อปฎิบัติ มีศีล เป็นต้น

ปะสังสันติ ย่อมเป็นที่สรรเสริญแห่งมนุษย์และเทพยดา และนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เหมือนพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ เป็นพหูสูตรกว่าสาวกทั้งปวงในพระศาสนานี้ อนึ่ง บุคคลที่เป็นพหูสูตรทรงไว้ซึ่งธรรมนั้น ย่อมจะได้ลาภสักการะโดยง่าย ไม่ลำบากกายลำบากใจ มีผู้เลื่อมใสน้อมนำมาบูชาอยู่เสมอ ... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: