วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๑ ต่อ)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๑ ต่อ) 

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาเกี่ยวกับการก้าวลงสู่ครรภ์ ชื่อว่า คัพภาวักกันติปัญหา คำว่า ก้าวลงสู่ครรภ์ คือความอุบัติ ความบังเกิดแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์มารดา คำว่า เพราะการประชุมกัน คือเพราะความหยั่งลงพร้อมกัน เพราะความพร้อมเพียงกัน คำว่า มารดาและบิดาร่วมกัน คือมารดาและบิดามีจิตกำหนัด สัมผัสกายกัน โดยการร่วมประกอบในเมถุนธรรมเป็นต้น คำว่า มารดามีระดู ชื่อว่า ระดู ในที่นี้ได้แก่สมัยที่สัตว์อาจบังเกิดในครรภ์ได้เพราะการร่วมกันนั้น นั่นแหละ ความว่า ได้แก่สมัยก่อนหน้าที่ไข่จะ แก่สุกไปจนถึงคราวเกิดโลหิตหลั่งไหลออกทางช่องกำเนิด เป็นสมัยที่เมื่อมารดาและบิดาร่วมกัน แม้เพียงครั้งเดียวแล้วก็จะเป็นเขต เป็นโอกาสที่สัตว์ถือปฏิสนธิในครรภ์นั้นได้ ตลอดถึง ๗ วัน นับแต่วันที่ได้ร่วมกันนั้น 

คำว่า มีสัตว์ปรากฏ คือมีสัตว์ผู้หนึ่งซึ่งได้ทำกรรมอันจะเป็นเหตุให้เกิด เป็นสัตว์ในครรภ์สิ้นอายุขัยเคลื่อนจากภพนั้นๆแล้วถือปฏิสนธิในท้องมารดาผู้นั้น โดยเกี่ยวกับ เป็นผู้เหมาะสมต่อการที่ผู้นั้นจะใช้เป็นที่อาศัยเสวยผลของกรรม ราวกับว่ายืนอยู่ในที่ใกล้ มองดูการร่วมกันแห่งมารดาบิดา รอโอกาสของตนอยู่ ฉะนั้น.  คำว่า เพราะความประชุมแห่งเหตุ ๒ อย่าง คือเพราะความประชุมแห่งเหตุ ๒ อย่างคือมารดามีระดู ๑ มีสัตว์ปรากฏ ๑, เว้นเหตุคือการร่วมกันแห่งมารดากับบิดา เรื่องของทุกูลดาบส และนางปาลิกาดาบสหญิง ผู้เป็นบิดาและมารดาของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสุวรรณสามกุมาร บัณฑิตพึงค้นหาความพิสดารได้ในสุวรรณสามชาดกนั้นเทียว แม้เรื่องเกี่ยวกับ มัณฑพยมานพ ก็เช่นกัน.  คำว่า มีจิตกำหนัดเพ่งจ้ององค์ชาตของนางภิกษุณีรูปหนึ่งอยู่ คือพระอุทายีมีจิตกำหนัดเพ่งจ้ององค์ชาตของนางภิกษุณีรูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นภรรยาของตนสมัยครองเรือน. เกี่ยวกับความเกิดขึ้นแห่งพระกุมารกัสสปเถระนั้นในอรรถกถาธรรมบท กล่าวไว้แตกต่างจากที่ปรากฏในปัญหานี้ อย่างนี้ว่า 

มีเรื่องว่า ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง เมื่อถึงวัยสาวก็รบเร้ามารดาบิดาขอบวชเป็นภิกษุณี มารดาบิดาไม่อนุญาต ทั้งยังผูกไว้กับการครองเรือนด้วยการให้ทำการวิวาห์กับบุตรของเศรษฐีผู้หนึ่ง หญิงนี้อยู่ในสกุลสามีได้ไม่นานนักก็ตั้งครรภ์ แต่หล่อนก็ไม่ทราบว่าเวลานี้ตอนตั้งครรภ์ ตั้งแต่แรกเข้ามาอยู่ในสกุลนี้ก็รบเร้าสามีขอบวชอยู่เรื่อยมา ในที่สุดมาถึงเวลานี้ สามีก็เกิดยินยอมพาไปบวชที่สำนักของภิกษุณีซึ่งเป็นพวกของพระเทวทัต บวชอยู่ในสำนักนี้ได้ไม่นาน พอคันแก่ท้องใหญ่ขึ้นภิกษุณีทั้งหลายในสำนักนั้นก็ทราบความ จึงนำตัวไปแจ้งให้พระเทวทัตทราบ พระเทวทัตกลัวเสียชื่อเสียงจึงให้ขับไล่ออกไปเสียจากสำนัก พระภิกษุณีรูปนี้จึงบ่ายหน้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องของตนให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณา จึงรับสั่งขอร้องให้ชนผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย คือพระเจ้าปเสนทิโกศลอนาถปิณฑิกคฤหบดี และนางวิสาขา ได้ช่วยกันตรวจสอบคันของภิกษุณีรูปนี้ แล้วให้แจ้งผลการตรวจสอบแก่ท่านพระอุบาลีเถระ ชนเหล่านั้นได้ตรวจสอบโดยวิธีการทั้งหลายแล้ว ครั้นพบว่าตั้งครรภ์มาก่อนบวช ก็ได้แจ้งให้ท่านพระอุบาลีเถระทราบ พระเถระจึงประกาศยืนยันความบริสุทธิ์ของภิกษุณีรูปนี้ท่ามกลางบริษัท ๔ ภิกษุณีรูปนี้ก็สามารถครองเพศบรรพชิตได้ต่อไป อยู่ในสำนักพระภิกษุณีได้ไม่นานถึงกำหนดก็คลอดบุตรชาย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็รับสั่งให้พนักงานนำไปเลี้ยงดูที่พระราชนิเวศน์ ทารกน้อยได้การตั้งชื่อว่า “กุมารกัสสปะ” ต่อมาก็ได้บวชในพระพุทธศาสนา เป็นพระเถระที่มีอานุภาพมาก พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศทางแสดงธรรมได้วิจิตร เรื่องของพระกุมารกัสสปเถระที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถาธรรมบทเป็นอย่างนี้

คำว่า ขอจงทรงยอมรับเถิดว่า แม้มีการประชุมกันแห่งเหตุ ๒ อย่าง ฯลฯ ก็มีการก้าวลงสู่ครรภ์ได้ ความว่า แม้มีการประชุม การพร้อมเพรียงกันเหตุ ๒ อย่างเท่านั้น ก็ยังมีการก้าวลงสู่ครรภ์ได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงการประชุมกันแห่งเหตุถึง ๓ อย่างเล่า อธิบายว่า การแสดงเหตุไว้ ๓ อย่าง เป็นการแสดงอย่างอุกฤษฏ์ หรือเกี่ยวกับว่าโดยมาก แม้เหตุ ๒ อย่างนั้น ก็เป็นเหตุที่เนื่องอยู่ในเหตุ ๓ อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่เหตุ ๒ อย่าง อย่างอื่น อันนอกไปจากเหตุ ๓ อย่างเหล่านั้น

คำว่า แม้สุวรรณสามกุมาร แม้มัณฑพยมานพ ก็เนื่องอยู่ในเหตุ ๓ อย่างประชุมกัน ความว่า แม้ความบังเกิดแห่งสุวรรณสามกุมารและมัณฑพยมานพ ก็เนื่องอยู่ในเหตุ ๓ อย่างเหล่านั้น ประชุมกันนั่นแหละ คือมารดากับบิดาร่วมกันโดยการลูบไล้สะดือแล้วเกิดจิตกำหนัดขึ้น ๑, เวลานั้นมารดามีระดู ๑, มีสัตว์คือเทพบุตรผู้จะจุติจากเทวโลกมาถือปฏิสนธิในมนุษย์โลกนี้ ๑.  คำว่า ขอพระองค์อย่าทรงสำคัญการร่วมกันนั้นว่าเป็น อัชฌาจาร ความว่า ขอพระองค์อย่าทรงสำคัญ อย่าหลงเห็นการร่วมกัน เพื่อการประชุมกันแห่งมารดากับบิดาโดยวิธีลูบไล้สะดือนั้น ว่าเป็นอัชฌาจาร คือเป็นความประพฤติละเมิดพรหมจรรย์ เพราะไม่ใช่การเสพเมถุนธรรม.  คำว่า ในอัณฑชกำเนิดก็ได้ เป็นต้น ความว่า โยนิ (กำเนิดคืออาการที่เกิด) มี ๔ อย่างคือ

อัณฑชโยนิ - กำเนิดแห่งสัตว์ผู้เกิดในไข่ อย่างนกทั้งหลายเป็นต้น ๑ ชลาพุชโยนิ - กำเนิดแห่งสัตว์ผู้เกิดในมดลูก อย่างมนุษย์ส่วนมากเป็นต้น ๑ สังเสทชโยนิ - กำเนิดแห่งสัตว์ผู้เกิดในที่แฉะชื้น อย่างเช่น หนอนหรือแมลงบางชนิด ๑ โอปปาติกโยนิ - กำเนิดแห่งสัตว์ผู้ผุดเกิดทันที คือเคลื่อนจากภพก่อนแล้วก็บังเกิดได้เอง ฉับพลันทันที อย่างเช่นเทวดาทั้งหลายเป็นต้น ๑  ก็โยนิ คือ กำเนิด ๔ เหล่านี้ ในที่นี้ ต่อไปท่านจะเรียกเสียว่า “ตระกูล”

คำว่า สัตว์ผู้มีกุศลมูลหนาแน่น คือสัตว์ผู้ทำกรรมที่มีธรรม ๓ อย่าง คือ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ เป็นมูลคือเป็นรากเหง้า ไว้อย่างหนาแน่น หนักแน่น มีกำลัง ความว่าทำกุศลกรรมทั้งหลาย มีทานเป็นต้น ที่เป็นอย่างอุกฤษฏ์ไว้แล้ว สั่งสมไว้ดีแล้ว นั่นเอง. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖. จบมิลินทปัญหา ตอนที่ ๒๑ ต่อ

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: